คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2529

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2973

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ADMIN 2972 - 2973/2529

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 326, 328, 332, 393, 50 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 220 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ม. 48

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่2และที่3โดยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าจำเลยที่2และที่3ได้กระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่1และที่4จึงลงโทษจำเลยที่2และที่3ไม่ได้โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา220ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่2เป็นผู้จัดการหนังสือพิมพ์อ.โดยจำเลยที่ 3เป็นที่ปรึกษาจึงเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่าจำเลยที่2มีหน้าที่เป็นผู้จัดการเกี่ยวกับการจัดพิมพ์และจำหน่ายเพื่อโฆษณาเผยแพร่หนังสือพิมพ์นั้นซึ่งต้องได้อ่านข้อความในหนังสือพิมพ์ด้วยหากไม่เหมาะสมจำเลยที่2ก็ไม่ต้องเผยแพร่สำหรับจำเลยที่3เป็นที่ปรึกษาย่อมมีหน้าที่กลั่นกรองข้อความที่ออกพิมพ์โฆษณาให้ข้อเสนอและข้อคิดเห็นจึงเป็นที่แน่นอนว่าจำเลยที่3ต้องได้อ่านและรู้ข้อความก่อนพิมพ์ออกจำหน่ายโจทก์ไม่ต้องนำสืบก็รับฟังได้หากจำเลยที่2และที่3ไม่ร่วมมือกับจำเลยที่1และที่4แล้วข้อความในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวก็ไม่มีทางโฆษณาแพร่หลายจึงเป็นผู้กระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่1และที่4โดยแบ่งหน้าที่กันทำเช่นนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ขอให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ของโจทก์เท่านั้นจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3184

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3184/2529

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 438, 867 ประมวลรัษฎากร ม. 118 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 94

การที่โจทก์นำกรมธรรม์ประกันภัยมาสืบประกอบพยานอื่นในข้อรับช่วงสิทธิโดยมิได้นำสืบบังคับตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยตรงแม้กรมธรรม์ประกันภัยจะมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังได้. จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อมแม้รถยนต์ของโจทก์จะเป็นรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายมิให้ใช้รับจ้างบรรทุกสินค้าของผู้อื่นก็ไม่ทำให้จำเลยพ้นจากความรับผิดที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้เพราะการที่โจทก์นำรถยนต์ไปรับจ้างโดยผิดกฎหมายหรือไม่เป็นคนละเรื่องกับการกระทำละเมิด.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3166

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3166/2529

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 69, 70, 75, 801, 1718, 1733 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 47

การที่สภากาชาดไทยมอบอำนาจให้เลขาธิการยื่นคำร้องคดีนี้โดยอาศัยใบมอบอำนาจทั่วไปไม่ได้มอบอำนาจให้ฟ้องคดีได้ด้วยเป็นเพียงเรื่องการมอบอำนาจบกพร่องเท่านั้นไม่เป็นผลถึงกับทำให้คำร้องของผู้ร้องเสียไปก่อนสืบพยานผู้ร้องก็ได้ส่งใบมอบอำนาจให้เลขาธิการฟ้องคดีได้ซึ่งถือว่าเป็นการให้สัตยาบันการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีที่ได้กระทำไปแล้วการมอบอำนาจให้เลขาธิการยื่นคำร้องคดีนี้จึงสมบูรณ์ผู้ร้องมีอำนาจร้องคดีนี้ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการจัดการมรดกยังไม่สิ้นสุดลงแม้การจัดการมรดกจะล่วงเลยมาเกินกว่าห้าปีแล้วคดีของผู้ร้องก็ยังไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1733 สิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดกโดยสภาพไม่ใช่จะพึงมีพึงเป็นได้เฉพาะบุคคลธรรมดาเมื่อการจัดการมรดกไม่ขัดกับวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งของผู้ร้องซึ่งเป็นนิติบุคคลผู้ร้องก็ไม่อยู่ในฐานะต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1718.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3165

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3165/2529

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 369, 392, 587

การชำระหนี้ของคู่สัญญาอันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา392บัญญัติให้เป็นไปตามมาตรา369ซึ่งบัญญัติว่า'ในสัญญาต่างตอบแทนนั้นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับถ้าหนี้ของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ถึงกำหนด'เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ทำสัญญารับเหมาก่อสร้างทางกับจำเลยโดยจำเลยต้องจ่ายเงินล่วงหน้าร้อยละ10ของค่าจ้างและเงินจำนวนนี้ยอมให้หักคืนร้อยละ15จากงวดที่4ถึงงวดสุดท้ายซึ่งจำเลยได้หักไปแล้วจำนวนหนึ่งเมื่อสัญญาเลิกกันแล้วโอกาสที่จำเลยจะหักเงินคืนจึงไม่มีโจทก์จะต้องคืนเงินที่รับล่วงหน้าไปจากจำเลยที่ยังเหลืออยู่นั้นให้แก่จำเลยส่วนจำเลยก็จะต้องชำระส่วนที่เป็นการงานอันโจทก์ได้กระทำให้แก่จำเลยเมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังมิได้คืนเงินจำนวนที่มากกว่าเงินที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินที่ค้างชำระโจทก์อยู่ก่อนเลิกสัญญาได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3162

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3162/2529

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 438, 583

จำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยและเป็นส่วนราชการจำเลยต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตไม่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้ผู้อื่นได้ประโยชน์ที่ไม่ควรจำเลยเป็นผู้จัดการโรงพิมพ์ของโจทก์และจำเลยเป็นผู้เสนอให้โจทก์จัดซื่อเครื่องไสสันทากาวเพื่อใช้ในโรงพิมพ์ส.ประธานกรรมการบริหารโรงพิมพ์เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยก็ได้มีคำสั่งให้จำเลยเป็นผู้แนะนำและให้คำปรึกษาในการจัดซื้อเครื่องไสสันทากาวจำเลยย่อมต้องให้คำแนะนำและความเห็นโดยสุจริตในทางที่เป็นประโยชน์แก่โรงพิมพ์ที่จำเลยเป็นผู้จัดการอยู่และเป็นผลดีแก่โจทก์ด้วยการที่จำเลยไม่บอกให้คณะกรรมการเปิดซองประกวดราคาของโจทก์ทราบว่าเครื่องไสสันทากาวที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดบ.เสนอในการประกวดราคาเป็นราคาถึง490,000บาทความจริงห้างหุ้นส่วนจำกัดช.เป็นผู้แทนจำหน่ายและขายในราคาเพียง180,000บาทเศษเท่านั้นและจำเลยยังบอกแก่ฆ.ประธานกรรมการเปิดซองประกวดราคาว่าราคาที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดบ.เสอนเป็นราคาเหมาะสมอีกดังนี้นอกจากจะไม่ช่วยให้คณะกรรมการเปิดซองประกวดราคาได้พิจารณาจัดซื้อเครื่องไสสันทากาวในทางที่เป็นผลดีแก่โจทก์อันส่อไปในทางไม่สุจริตของจำเลยแล้วยังเป็นการช่วยให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดบ.ได้รับประโยชน์ที่ไม่ควรอีกด้วยนับว่าจำเลยกระทำผิดหน้าที่ซึ่งมีต่อโจทก์หากจำเลยบอกความจริงแก่คณะกรรมการเปิดซองประกวดราคาโจทก์ก็คงไม่ทำสัญญาซื้อเครื่องไสสันทากาวกับห้างหุ้นส่วนจำกัดบ.เพราะราคาที่ห้างหุ้นส่วนดังกล่าวเสนอสูงกว่าราคาท้องตลาดมากและเป็นการขัดกับมติคณะรัฐมนตรีที่ห้ามมิให้หน่วยราชการซื้อสินค้าผ่านคนกลางและโจทก์ก็จะไม่ต้องถูกห้างหุ้นส่วนดังกล่าวฟ้องร้องเอาจนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแม้จะไม่มีพยานหลักฐานพอฟังว่าจำเลยร่วมทุจริตกับห้างหุ้นส่วนจำกัดบ.แต่การกระทำดังกล่าวเป็นผลให้โจทก์เสียหายแล้วการกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์และค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์คือค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ต้องเสียไปในการต่อสู้คดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัดบ.ส่วนดอกเบี้ยจากต้นเงินค่าเครื่องไสสันทากาวที่โจทก์ได้จ่ายให้บริษัทบ.ตามคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นดอกเบี้ยที่ต้องชำระดังกล่าวก็เฉพาะในระยะเวลาที่โจทก์ยังไม่ได้ชำระต้นเงินซึ่งโจทก์ก็ได้รับประโยชน์จากเงินดังกล่าวอยู่โจทก์จึงไม่มีค่าเสียหายในส่วนนี้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3183

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3183/2529

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 341 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 35, 39 (2), 40, 202, 225 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 175

โจทก์ฟ้องจำเลยว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา341ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้กับขอให้จำเลยชำระเงินคืนเมื่อโจทก์ขอถอนฟ้องและจำเลยไม่คัดค้านสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา39(2)สำหรับคดีส่วนแพ่งศาลฎีกาไม่อาจอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องในชั้นฎีกาได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3172

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3172/2529

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 537, 552, 820, 821 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2519 ม. 4, 7, 10 (2)

โจทก์มีหน้าที่เกี่ยวกับการบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศและบริการพูดโทรศัพท์ระหว่างประเทศได้มีระเบียบระบุไว้ในสมุดรายชื่อผู้ใช้โทรศัพท์และสมุดรายชื่อผู้ใช้โทรศัพท์นั้นจำเลยได้รับแจกจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยทุกปีจึงถือได้ว่าจำเลยได้ทราบระเบียบหรือแจ้งความในสมุดรายชื่อผู้ใช้โทรศัพท์ว่าเครื่องโทรศัพท์ที่ติดตั้งที่บ้านจำเลยสามารถใช้พูดไปต่างประเทศได้โดยโจทก์เป็นผู้เรียกเก็บเงินโดยตรงจำเลยอนุญาตให้ผู้เช่าบ้านใช้โทรศัพท์ที่ติดตั้งที่บ้านจำเลยโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยหรือของโจทก์ทราบว่าให้ใช้เฉพาะภายในประเทศไม่ให้ใช้พูดไปต่างประเทศถือได้ว่าจำเลยยินยอมให้ผู้เช่าบ้านใช้เครื่องโทรศัพท์พูดไปต่างประเทศได้ด้วยเมื่อมีการใช้โทรศัพท์จากเครื่องโทรศัพท์ที่จำเลยเป็นผู้เช่าพูดไปต่างประเทศจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามระเบียบที่โจทก์กำหนดไว้และจำเลยได้ทราบแล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยชำระค่าใช้บริการพูดโทรศัพท์ไปต่างประเทศที่ผู้เช่าบ้านของจำเลยใช้พูดจากเครื่องโทรศัพท์ที่จำเลยเช่าจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3160

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ADMIN 3160/2529

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 56, 90, 91 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5), 176, 185 พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 ม. 18, 20, 36

พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมพ.ศ.2511มาตรา18วางหลักเกณฑ์ไว้ว่าก่อนที่จะมีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสายไฟฟ้า อะลูมิเนียมหุ้มด้วยฉนวนโพลิไวนิลคลอไรด์ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน (ฉบับที่3)พ.ศ.2526ทางราชการจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้างเงื่อนไขดังกล่าวไม่ใช่ข้อความที่ต้องกล่าวในฟ้องดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา158ดังนั้นแม้โจทก์จะไม่ได้กล่าวในฟ้องว่าเงื่อนไขในการตราพระราชกฤษฎีกาได้ปฏิบัติครบถ้วนแล้วหรือไม่ย่อมไม่ทำให้เป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ความผิดฐานทำสายไฟฟ้าและความผิดฐานมีสายไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายนั้นพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมพ.ศ.2511ได้กำหนดองค์ประกอบความผิดและกำหนดโทษผู้ทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและผู้มีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต่างมาตรากันและฟ้องโจทก์ได้แยกการกระทำความผิดของจำเลยเป็นข้อๆขอให้ลงโทษจำเลยแต่ละข้อเป็นกระทงความผิดไปกรณีจึงฟังได้ว่าความผิดฐานทำสายไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตกับความผิดฐานมีสายไฟฟ้าไว้เพื่อจำหน่ายเป็นความผิดหลายกรรมเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพจึงลงโทษจำเลยตามฟ้องได้ คดีที่คู่ความฎีกาได้แต่เฉพาะข้อกฎหมายศาลฎีกาก็มีอำนาจที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยให้เหมาะสมแก่ความผิดได้และรอการลงโทษให้แก่จำเลยได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3156

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3156/2529

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 220, 227

พยานหลักฐานใดควรจะนำมาวินิจฉัยรับฟังได้หรือไม่นั้นย่อมเป็นดุลพินิจของศาลซึ่งต้องไม่ขัดต่อกฎหมายหากเป็นพยานแวดล้อมกรณีก็ต้องพิจารณาว่าเป็นพยานที่รู้เห็นใกล้ชิดเหตุการณ์สถานที่อันจะบ่งชี้ได้โดยแน่นอนเมื่อปรากฏว่าก.พยานโจทก์ที่ศาลไม่นำมารับฟังไม่ใช่พยานแวดล้อมกรณีที่ใกล้ชิดต่อเหตุการณ์ประกอบกับพยานแวดล้อมกรณีที่ใกล้ชิดเหตุการณ์ปากอื่นๆของโจทก์ก็ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้แล้วการที่ศาลไม่นำคำเบิกความของก.มารับฟังเป็นพยานประกอบพยานอื่นจึงไม่เป็นการขัดต่อกฎหมาย. ฎีกาข้อที่ว่าคำพยานที่เบิกความมีน้ำหนักรับฟังได้หรือไม่นั้นเป็นการคัดค้านดุลพินิจการรับฟังพยานจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3153

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3153/2529

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 341, 350 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158

มารดาจำเลยที่1เคยกู้ยืมเงินโจทก์และมอบโฉนดที่ดินให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันหลังจากมารดาจำเลยถึงแก่กรรมแล้วจำเลยที่1ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมชำระหนี้แทนมารดาโดยจะโอนที่ดินให้โจทก์ทั้งแปลงต่อมาจำเลยที่1ได้ขอยืมโฉนดดังกล่าวจากโจทก์อ้างว่าจะนำไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอรับมรดกและเจ้าพนักงานที่ดินได้ขอโฉนดดังกล่าวไว้เพื่อประกาศรับมรดกให้ครบ60วันเสียก่อนซึ่งความจริงได้มีการประกาศเพื่อรับมรดกมาก่อนและครบกำหนดแล้วจำเลยที่1ที่2ได้จดทะเบียนถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินดังกล่าวและเจ้าพนักงานที่ดินก็คืนโฉนดให้ในวันนั้นเองแล้วจำเลยที่1ได้นำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองเฉพาะส่วนของตนกับบุคคลอื่นดังนี้แม้จำเลยที่1จะไม่ได้เอาโฉนดที่ดินมาเพื่อใช้รับมรดกอย่างเดียวตามที่บอกกล่าวไว้ในตอนขอรับเอาโฉนดที่ดินจากโจทก์แต่โจทก์ก็มอบให้ด้วยความสมัครใจของตนเองเพราะประสงค์จะให้จำเลยที่1รับมรดกที่ดินนั้นแล้วโอนให้โจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้หากจำเลยทั้งสองจะได้หลอกลวงโจทก์ในเรื่องเจ้าพนักงานที่ดินยึดโฉนดที่ดินไว้เพื่อประกาศรับมรดก60วันจริงก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองมีเจตนาจะไม่ส่งโฉนดที่ดินคืนโจทก์เท่านั้นหาใช่เป็นการหลอกลวงเพื่อเอาโฉนดที่ดินจากโจทก์ไม่การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา341. ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยได้กระทำการโดยรู้อยู่ว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่1ชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามมาตรา350.

« »
ติดต่อเราทาง LINE