กฎหมายฎีกา ปี 2539
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2165/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 38 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 79
แม้ภูมิลำเนาของจำเลยตามที่โจทก์ระบุในฟ้องจะมิใช่ภูมิลำเนาของจำเลยตามที่ปรากฎในสำเนาทะเบียนบ้านแต่เมื่อเจ้าหน้าที่ศาลนำหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องและสำเนาคำฟ้องไปส่งให้จำเลยโดยวิธีปิดหมายตามที่อยู่ที่โจทก์ระบุในคำฟ้องจำเลยก็แต่งทนายความให้ไปศาลแทนหลังจากนั้นจำเลยไม่เคยโต้แย้งว่าที่อยู่ตามฟ้องไม่ใช่ภูมิลำเนาของจำเลยเพิ่งจะโต้แย้งในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาถือได้ว่าภูมิลำเนาตามฟ้องเป็นภูมิลำเนาอีกแห่งหนึ่งของจำเลยการส่งหมายที่ภูมิลำเนาตามฟ้องจึงเป็นการส่งโดยชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9502/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 67 วรรคสอง
แบบพิมพ์อุทธรณ์ที่จำเลยใช้มีสาระสำคัญเหมือนกับกระดาษแบบพิมพ์ที่ศาลจัดไว้จะต่างกันบ้างก็เพียงเล็กน้อยและมิใช่สาระสำคัญทั้งศาลชั้นต้นก็สั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยโดยมิได้สั่งให้ทำใหม่เสียให้ถูกต้องดังนี้อุทธรณ์ของจำเลยชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 445/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 164 เดิม, 193/30 ที่
โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดโดยอาศัยมูลหนี้จากการกระทำละเมิดและการผิดสัญญาฝากทรัพย์เพราะจ่ายเงินของโจทก์ให้ผู้อื่นไปโดยความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวังและฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการธนาคารอันเป็นอาชีวะของจำเลยจึงมีอายุความ10ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา164เดิมที่ใช้ขณะเกิดเหตุ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 453/2539
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 36
แม้ในขณะที่มีการใช้รถจักรยานยนต์ของกลางในการกระทำความผิดผู้ร้องจะเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางก็ตามแต่ในระหว่างพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นผู้ร้องได้ขายรถจักรยานยนต์ของกลางให้บุคคลภายนอกบุคคลภายนอกจึงเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางนับแต่ที่ผู้ร้องได้ขายให้เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางรถจักรยานยนต์ของกลางย่อมตกเป็นของแผ่นดินบุคคลภายนอกผู้ซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางก็ไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์คันนั้นอีกต่อไปแม้ผู้ร้องจะซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางคืนมาและเปลี่ยนหมายเลขทะเบียนใหม่ผู้ร้องก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์ของกลางและไม่มีสิทธิร้องขอรถจักรยานยนต์ของกลางคืนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา36
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 443/2539
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 36
แม้ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางในขณะที่มีการใช้รถดังกล่าวกระทำความผิดแต่เมื่อระหว่างพิจารณาคดีผู้ร้องขายให้บุคคลภายนอกไปบุคคลภายนอกจึงเป็นเจ้าของนับแต่นั้นเมื่อศาลพิพากษาให้ริบรถย่อมตกเป็นของแผ่นดินแม้ต่อมาผู้ร้องจะซื้อรถนั้นคืนมาจากบุคคลภายนอกก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์และไม่มีสิทธิร้องขอคืนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา36
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1445/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 288
โจทก์ใช้สิทธิบังคับคดีขับไล่จำเลยให้รื้อถอนตึกแถวพิพาทออกไปจากที่ดินของโจทก์ผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองตึกแถวดังกล่าวไว้จากจำเลยชอบเพียงที่จะใช้สิทธิเพื่อให้ตนได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินนั้นก่อนเจ้าหนี้สามัญตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา289วรรคแรกเท่านั้นผู้ร้องจึงไม่ถูกโต้แย้งสิทธิหรือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในวิธีการบังคับคดีเกี่ยวกับตึกแถวพิพาทอันเป็นทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีให้จำเลยรื้อถอนออกไปจากที่ดินของโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 865/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172 วรรคสอง
เมื่อโจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองด้วยการนำข้อความเท็จมาฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นคดีอาญาในข้อหาว่าร่วมกันนำสืบหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีและร่วมกันเบิกความเท็จจนศาลชั้นต้นหลงเชื่อลงโทษจำคุกโจทก์ทั้งสองแต่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหายหากข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างจำเลยก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นฟ้องที่ศาลชั้นต้นชอบที่จะรับไว้พิจารณา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6591/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 143, 271
โจทก์จำเลยพิพาทกันโดยตรงว่าโจทก์หรือจำเลยจะต้องชำระค่าธรรมเนียมการโอนค่าอากรแสตมป์และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการที่จำเลยจะจดทะเบียนโอนขายในราคาตามสัญญาจะซื้อขายให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาในส่วนที่เกินจากราคาประเมินที่ออกกันฝ่ายละครึ่งโดยโจทก์จำเลยตกลงไปจดทะเบียนโอนขายกันที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการสาขาบางพลี ในวันที่26ตุลาคม2532เมื่อถึงวันนัดไม่อาจจดทะเบียนโอนขายกันได้เนื่องจากโจทก์จำเลยต่างโต้แย้งการชำระค่าธรรมเนียมในส่วนที่ราคาเกินจากราคาประเมินจึงเกิดข้อพิพาทกันดังกล่าวดังนี้ราคาประเมินตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองนั้นย่อมมีความหมายถึงราคาประเมินที่ใช้อยู่ในขณะเกิดข้อพิพาทเมื่อวันที่36ตุลาคม2532หาใช่มีความหมายถึงราคาประเมินในขณะทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทเมื่อวันที่28กันยายน2537ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6524/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 222, 369, 420, 448 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 172, 225, 281, 292
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 281 และมาตรา 292 แสดงว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิที่จะให้งดการบังคับคดีไว้ชั่วคราวได้โดยจะต้องแจ้งแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้งดการบังคับคดีไว้ชั่วคราว แต่โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาแม้จะอยู่ด้วยในเวลาบังคับคดี โจทก์ก็ไม่มีสิทธิป้องกันหรือขัดขวางแก่การบังคับคดีได้ การบังคับคดีจะต้องดำเนินการต่อไป ดังนั้นแม้โจทก์จะไม่ได้ไปอยู่ด้วยในเวลาบังคับคดีก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นความผิดของโจทก์หรือโจทก์มีส่วนผิดด้วยในการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์ของโจทก์ไป
ราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดแก่ผู้ซื้อไปเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าใกล้เคียงกับราคาประเมินของทางราชการจึงเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานบังคับคดี แต่คดีนี้เป็นเรื่องความเสียหายที่ทรัพย์ของโจทก์ถูกขายทอดตลาดไปโดยจำเลยไม่ไปแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการขายทอดตลาดไว้ชั่วคราวตามที่ตกลงไว้กับโจทก์จึงเป็นคนละเรื่องกัน ไม่อาจพิจารณาเป็นเรื่องเดียวกันได้
การที่จะวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เป็นเรื่องละเมิดหรือผิดสัญญานั้น ต้องพิเคราะห์รายละเอียดคำฟ้องทั้งฉบับ มิใช่พิเคราะห์เฉพาะถ้อยคำบางคำในฟ้องเท่านั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์โจทก์เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา ก่อนถึงกำหนดวันขายทอดตลาดโจทก์ตกลงกับจำเลยว่าโจทก์ยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษาโดยชำระให้แก่โจทก์ในวันที่ตกลงกันบางส่วน ที่เหลือผ่อนชำระเป็นงวดโดยโจทก์สั่งจ่ายเช็คเป็นงวด ๆให้แก่จำเลยไว้ จำเลยตกลงว่าจะไปดำเนินการแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการขายทอดตลาดไว้ ครั้นถึงกำหนดวันนัดขายทอดตลาด จำเลยไม่ดำเนินการตามที่ตกลง เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ไป การกระทำของจำเลยเป็นการผิดข้อตกลงและเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายดังนี้ ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องกล่าวหาว่าจำเลยผิดสัญญา แม้ในข้อหาหรือฐานความผิดจะระบุว่าละเมิดและในคำฟ้องจะมีคำว่าเป็นละเมิดต่อโจทก์นั้นก็เป็นการกล่าวเกินเลยไปเท่านั้น หาทำให้ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องละเมิดไปด้วยไม่ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความโดยเห็นว่าเป็นเรื่องละเมิดนั้น ก็เป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้น แต่เมื่อโจทก์เห็นว่าไม่ขาดอายุความเพราะเป็นเรื่องผิดสัญญาย่อมมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ จึงเป็นเรื่องที่ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์รับอุทธรณ์โจทก์ไว้พิจารณาและพิพากษาจึงชอบแล้ว
แม้ไม่มีข้อตกลงเรื่องค่าเสียหายไว้ แต่การที่มีข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยว่าจำเลยต้องไปแจ้งของดการบังคับคดีต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องกระทำการคือไปแจ้งของดการบังคับคดีอันถือว่าจำเลยมีหนี้ที่จะต้องชำระแก่โจทก์ เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงซึ่งเป็นการผิดสัญญาเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายทอดตลาดทรัพย์ของโจทก์แก่ผู้ซื้อไปโจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย และมีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์แทนการที่จำเลยไม่ชำระหนี้ได้ตามหลักกฎหมายเรื่องค่าเสียหายตาม ป.พ.พ.มาตรา 222 อันเป็นคนละเรื่องกับค่าเสียหายที่กำหนดไว้ในข้อสัญญา
การที่จำเลยไม่ยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้งดการบังคับคดีไว้ชั่วคราวไม่ทันตามที่ตกลงไว้กับโจทก์ มิใช่กรณีกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายตามมาตรา 420 แต่เป็นการผิดสัญญาจึงไม่อาจใช้อายุความ 1 ปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6520/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 88
คำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลยอ้างว่าจำเลยมีการศึกษาน้อยจึงไม่ทราบวิธีดำเนินกระบวนพิจารณาคดีและมิได้โต้แย้งทักท้วงการยื่นบัญชีระบุพยานของทนายจำเลยนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างจำเลยกับทนายของจำเลยเองส่วนข้อที่อ้างว่าจำเลยไม่สามารถทราบได้ว่าจะต้องนำพยานหลักฐานบางอย่างมาสืบเพื่อประโยชน์ของจำเลยว่าพยานหลักฐานได้มีอยู่นั้นจำเลยมิได้แสดงถึงเหตุอันสมควรให้ฟังได้ว่าจำเลยไม่สามารถทราบได้ว่าต้องนำพยานหลักฐานบางอย่างมาสืบเพื่อประโยชน์ของตนอย่างไรและมิได้แสดงถึงเหตุที่จำเลยไม่ทราบว่าพยานหลักฐานได้มีอยู่ไว้ในคำร้องตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา88วรรคสามกรณีจึงไม่มีเหตุที่จะให้รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลยไว้