กฎหมายฎีกา ปี 2542
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2592/2542
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 วรรคสอง พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ม. 4
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้สั่งซื้อเสาเข็มของโจทก์ แต่ทางพิจารณาได้ความว่าอ. เป็นผู้สั่งซื้อ แต่การที่จำเลยจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 หรือไม่ อยู่ที่ว่าจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระราคาเสาเข็มแก่โจทก์หรือไม่ มิได้อยู่ที่ว่าจำเลยเป็นผู้สั่งซื้อเสาเข็มหรือไม่ ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องเช่นนี้จึงมิใช่ข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยให้การปฏิเสธลอยและมิได้นำสืบต่อสู้เฉพาะในข้อเท็จจริงนี้เท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยหลงต่อสู้ข้อเท็จจริงที่แตกต่างดังกล่าวมิได้เป็นเหตุถึงกับจะต้องยกฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1422/2542
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 224
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสามกำหนดวิธีการที่ผู้อุทธรณ์ในคดีที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จะขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีใน ศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ โดยให้ผู้อุทธรณ์ ต้องยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษานั้น พร้อมฟ้องอุทธรณ์เพื่อให้ศาล ส่งคำร้องพร้อมสำนวนความไปให้ผู้พิพากษาดังกล่าวพิจารณาต่อไปจำเลยเพียงแต่ยื่นอุทธรณ์ โดยหาได้ยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นเพื่อให้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์หรือไม่ ทั้งผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น สั่งในอุทธรณ์ของจำเลยเพียงว่า "รับเป็นอุทธรณ์ของจำเลย สำเนาให้โจทก์" หาได้มีข้อความใดแสดงว่าได้รับรองว่าอุทธรณ์ ข้อเท็จจริงของจำเลยมีเหตุอันควรอุทธรณ์ไม่ กรณีถือไม่ได้ว่า ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้รับรองอุทธรณ์ของ จำเลยว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่งศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9335/2542
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/30, 193/34 (6), 563
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดจากการผิดสัญญาเช่าโดยเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินเท่ากับค่าเช่าที่จำเลยค้างชำระอยู่ก่อนเลิกสัญญาจำนวน 24 เดือน แม้โจทก์จะฟ้องเรียกเงินจำนวนนี้โดยเรียกว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหาย แต่ต้องถือว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเช่าที่จำเลยค้างชำระอยู่ก่อนเลิกสัญญาจำนวน 24 เดือน เพราะมิฉะนั้นแล้วจะเป็นการยอมให้โจทก์หลีกเลี่ยงการที่จะฟ้องเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระมาเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหาย เมื่อถือว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระและโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์สิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมมีกำหนดอายุความสองปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(6) จำเลยค้างชำระค่าเช่า 24 เดือน เดือนสุดท้ายที่ค้างชำระคือวันที่ 1 พฤษภาคม 2538แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2540 จึงพ้นกำหนดเวลาสองปีแล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7988/2542
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 904, 967
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อแลกเงินสดจากโจทก์แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงแลกเช็คกันเพื่อให้แต่ละฝ่ายนำไปแลกเงินสดจากบุคคลภายนอกและเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายก็เรียกเก็บเงินไม่ได้โดยโจทก์มิได้ชำระเงินตามเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายแต่อย่างใด ดังนั้นการที่จำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์จึงไม่ใช่การออกเช็คเพื่อแลกเงินสดจากโจทก์ตามที่ฟ้อง โจทก์จึงมิใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้เช็คพิพาทจะเป็นเช็คผู้ถือและอยู่ในความครอบครองของโจทก์ก็ตาม แต่ฐานะผู้ทรงโดยการถือเช็คผู้ถือย่อมต้องเป็นการได้เช็คมาไว้ในความยึดถือที่เป็นไปโดยชอบด้วย เมื่อโจทก์มิใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามเช็คพิพาทต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9332/2542
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 175 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31, 54
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 วรรคสอง ต้องนำมาใช้ในการพิจารณาคดีแรงงาน โดยนัยแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 การที่ศาลแรงงานจะอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องหรือไม่ จึงเป็นดุลพินิจของศาลแรงงาน จำเลยอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจของศาลแรงงานในการอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9331/2542
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1246, 1251
บริษัท น. ถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทฯ ขีดชื่อออกจากทะเบียนบริษัทและประกาศการขีดชื่อบริษัทในราชกิจจานุเบกษา บริษัท น. จึงเป็นอันเลิกกันโดยผลของกฎหมาย อันเป็นการเลิกกันเพราะเหตุอย่างอื่นนอกจากเหตุล้มละลายซึ่งต้องมีการชำระบัญชีของบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1251 ผู้ร้องในฐานะกรรมการของบริษัท น. จึงมีอำนาจขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9330/2542
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84, 138 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 116, 117 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31
ลูกจ้างฟ้องว่า นายจ้างสั่งพักงานลูกจ้างเป็นเวลา 5 วัน โดยลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิด ขอให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงาน ในชั้นพิจารณาลูกจ้างรับข้อเท็จจริงว่าได้กระทำความผิดจริงตามคำให้การต่อสู้คดีของนายจ้าง ดังนี้ นายจ้างย่อมมีอำนาจลงโทษลูกจ้างด้วยการพักงานได้ เมื่อการพักงานตามฟ้องเป็นการพักงานเนื่องจากการลงโทษทางวินัยแก่ลูกจ้างเพราะลูกจ้างกระทำความผิด มิใช่กรณีที่นายจ้างสั่งพักงานระหว่างทำการสอบสวนลูกจ้างซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 116 และ 117 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541ศาลแรงงานจึงพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานแก่ลูกจ้างตามบทกฎหมายข้างต้นไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9329/2542
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 196
คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เพิกถอนการไต่สวนมูลฟ้อง และยกคำร้องของจำเลย เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวน ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9321/2542
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 280, 293
ผู้ที่มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งงดการบังคับคดีได้ จะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 280
ขณะผู้ร้องยื่นคำร้อง ผู้ร้องเป็นเพียงคู่ความที่ฟ้องร้องกันอยู่กับโจทก์และจำเลยในคดีนี้เป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก ผู้ร้องจึงมิใช่บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9320/2542
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 293
คดีที่จำเลยหยิบยกมาเป็นเหตุในคำร้องให้ศาลมีคำสั่งงดการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293 วรรคหนึ่ง โจทก์คือบริษัท ท. จำเลยคือบริษัท อ. ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย แม้โจทก์คดีนี้จะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท อ. และจำเลยจะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ท. ก็ตาม จะถือว่าคู่ความในคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกันกับคู่ความในคดีดังกล่าวหาได้ไม่ เพราะเป็นบุคคลต่างรายกันชอบที่ศาลจะยกคำร้องของจำเลยโดยเหตุดังกล่าวเสีย