กฎหมายฎีกา ปี 2542

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9319

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9319/2542

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 227, 863, 868 พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ม. 58, 60

โจทก์รับประกันภัยสินค้านำเข้าทุกชนิดของบริษัท อ. โดยออกกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลแบบเปิดให้ผู้เอาประกันภัยไว้เป็นหลักฐาน และมีหลักปฏิบัติว่าเมื่อมีสินค้าเข้าผู้เอาประกันภัยจะแจ้งให้โจทก์ทราบหรืออาจแจ้งภายหลังสินค้าถูกขนส่งมาแล้วก็ได้ โจทก์จะออกใบรับรองการประกันภัยสำหรับสินค้างวดนั้นให้แก่ผู้เอาประกันภัยโจทก์ได้ออกใบรับรองการประกันภัยสินค้าของบริษัท อ. ซึ่งขนส่งโดยเรือเดินทะเลของจำเลยที่ 3 จากต่างประเทศมายังประเทศไทยโดยที่จำเลยที่ 3 ได้ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ส่ง และได้มีการโอนใบตราส่งให้แก่บริษัท อ. แล้ว เมื่อเรือเดินทะเลของจำเลยที่ 3 มาถึงประเทศไทยได้มีการส่งมอบสินค้าแก่บริษัท อ.ผู้เอาประกันภัยในสภาพที่เสียหายบริษัทอ. จึงเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ตามสัญญาประกันภัยโจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยไป ดังนี้เมื่อบริษัท อ. ได้รับโอนใบตราส่งมาจากผู้ขายสินค้าบริษัท อ.จึงเป็นผู้ทรงใบตราส่งซึ่งมีสิทธิรับสินค้านั้นและเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเลแบบเปิดที่โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยในขณะที่เกิดวินาศภัยนั้น แม้การซื้อขายสินค้าที่ขนส่งเป็นการซื้อขายระบบ CIF ซึ่งผู้ขายเป็นผู้เอาประกันภัยก็เป็นการเอาประกันภัยของผู้ขายกับผู้รับประกันภัยอื่น โจทก์จึงรับช่วงสิทธิตามสัญญาประกันภัยมาฟ้องจำเลยได้

กรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเลแบบเปิดที่ทำกันระหว่างโจทก์กับบริษัท ไอ.ได้มีการระบุรายละเอียดเงื่อนไขทั่วไปว่าผู้ถือกรมธรรม์คือบริษัทไอ.และผู้เอาประกันภัยคือบริษัททุกบริษัทที่ผู้ถือกรมธรรม์ถือหุ้นอยู่กว่าร้อยละ 50หรือบริษัทที่ผู้ถือกรมธรรม์มีความรับผิดชอบทางด้านจัดการ ดังนี้ นอกจากบริษัท ไอ.จะเป็นคู่สัญญาประกันภัยกับโจทก์ในฐานะเป็นผู้ถือกรมธรรม์แล้ว ยังมีบริษัทอื่นที่บริษัท ไอ.เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในอัตราเกินกว่าร้อยละ50หรือบริษัทอื่นที่บริษัทไอ. เป็นผู้รับผิดชอบทางด้านจัดการเป็นคู่สัญญาประกันภัยกับโจทก์ในฐานะที่เป็นผู้เอาประกันภัยอีกด้วย เมื่อบริษัท ไอ.ถือหุ้นอยู่ในบริษัทอ. ร้อยละ 50 จึงถือว่าบริษัท อ.เป็นผู้เอาประกันภัยไว้แก่โจทก์ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเลเปิด โจทก์ย่อมต้องผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว และหาได้มีกฎหมายบังคับว่าสัญญาประกันภัยทางทะเลต้องลงลายมือชื่อคู่สัญญาจึงจะผูกพันโจทก์ผู้รับประกันภัยไม่ เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่สินค้าที่เอาประกันภัยโจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท อ. ผู้เอาประกันภัย เมื่อโจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัท อ.แล้วย่อมมีสิทธิที่จะรับช่วงสิทธิของบริษัทอ.มาฟ้องได้

แม้เรือที่ใช้ในการขนส่งเป็นของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ออกใบตราส่งแต่บริษัท อ.มิได้ว่าจ้างให้จำเลยที่3ขนสินค้าดังกล่าวบริษัทอ. มอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการให้ทั้งหมดเพื่อส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัท อ. โดยสัญญาขนส่งระบุว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะเลือกจ้างผู้รับขนส่งช่วงชั้นดีในการขนส่งได้แต่จำเลยที่ 1 ยังคงต้องรับผิดเต็มที่ต่อบริษัท อ. ในการปฏิบัติตามสัญญา และผู้ขนส่งช่วงอื่นที่จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างให้ถือว่าเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องรับผิดโดยตรงต่อบริษัท อ.ดังนี้บริษัทอ. จึงเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าและจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับจ้างขนสินค้าโดยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมดในการนำสินค้ามายังประเทศไทยตามสัญญาขนส่งการที่จำเลยที่ 3 ทำการขนส่งสินค้าดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินการแทนจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้า จำเลยที่ 1ก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการขนส่งของจำเลยที่ 3 ด้วย

ความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งเป็นผลมาจากการที่จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่งยกหีบไม้โดยไม่เอาใจใส่และไม่ระมัดระวังในระหว่างการขนส่ง ถือว่าเป็นกระทำการโดยไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าความเสียหายนั้นอาจเกิดขึ้นได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าเต็มจำนวนไม่อาจอ้างเอาข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง มาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติ การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534มาเป็นประโยชน์แก่ตนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8405

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8405/2542

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15, 158 (7), 198, 208 (2), 225 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 27

คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยมี ว. ทนายความเป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์และผู้เรียง/พิมพ์ โดย ว. มิได้ยื่นใบแต่งทนายความไว้ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(7) บัญญัติให้ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมีลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง แต่ศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยโดยมิได้มีคำสั่งให้จำเลยยื่นใบแต่งทนายความเข้ามาในคดีให้ถูกต้องเสียก่อน ทั้งที่เป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะต้องตรวจอุทธรณ์ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 198 วรรคสอง กรณีเช่นนี้ต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา ศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตามที่กล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208(2) ประกอบด้วยมาตรา 225 โดยให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้จำเลยยื่นใบแต่งทนายความเข้ามาในคดีให้ถูกต้องเสียก่อนแล้วส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8391

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8391/2542

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 174, 246

การที่ศาลชั้นต้นมีหมายนัดถึงจำเลยให้นำค่าธรรมเนียมที่จะชดใช้ให้แก่โจทก์มาวางต่อศาลภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหมาย หากไม่ยื่นภายในกำหนดให้ถือว่าไม่ติดใจที่จะวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมให้กับทางฝ่ายโจทก์ และมิได้ระบุว่าหากไม่นำเงินมาวางถือว่าทิ้งอุทธรณ์ก็ตาม แต่ผลตามกฎหมายของการที่จำเลยไม่นำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลถือว่าเป็นการเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2)ประกอบด้วยมาตรา 246 จึงมีผลให้ถือว่าจำเลยทิ้งอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8139

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8136 - 8139/2542

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 686, 687, 688, 689 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31

ป.พ.พ. มาตรา 686 บัญญัติให้เจ้าหนี้เรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้นับแต่เวลาที่ลูกหนี้ผิดนัด เมื่อบริษัทนายจ้างผู้เป็นลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยผู้ค้ำประกันให้รับผิดตามมาตรา 686 ได้ แม้มาตรา 688 และมาตรา 689 จะให้สิทธิแก่ผู้ค้ำประกันยกข้อต่อสู้ให้โจทก์ทั้งสี่ไปเรียกร้องให้ลูกหนี้ชั้นต้นชำระหนี้ก่อนที่จะเรียกร้องเอาจากผู้ค้ำประกัน ก็มิได้หมายความว่า ถ้าโจทก์ทั้งสี่ไม่ฟ้องเรียกร้องเอาจากบริษัทนายจ้างลูกหนี้แล้ว โจทก์ทั้งสี่จะไม่มีอำนาจฟ้องบังคับเอาจากจำเลย ประกอบกับหากจำเลยประสงค์จะให้บริษัทนายจ้างลูกหนี้ชั้นต้นรับผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จำเลยก็ชอบที่จะขอให้ศาลแรงงานกลางเรียกบริษัทนายจ้างเข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ แต่จำเลยก็หาได้กระทำไม่ จำเลยจึงหามีสิทธิยกมาตรา 688 และมาตรา 689 ขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ทั้งสี่ได้ไม่

การจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชย บริษัทนายจ้างได้ตกลงแบ่งจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสี่เป็นงวด จำนวน 10 งวด งวดละเท่า ๆ กัน แต่บริษัทนายจ้างชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสี่เพียงงวดแรกงวดเดียว จนถึงวันฟ้องก็ไม่ได้ชำระหนี้ให้โจทก์ทั้งสี่อีก แม้โจทก์ทั้งสี่จะฟ้องคดีนี้ก่อนถึงกำหนดเวลาชำระหนี้งวดสุดท้าย ก็ถือได้ว่าบริษัทนายจ้างผิดสัญญาและผิดนัดชำระหนี้ที่เหลือทั้งหมดแก่โจทก์ทั้งสี่แล้ว โจทก์ทั้งสี่ย่อมถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 มีอำนาจฟ้องจำเลยผู้ค้ำประกันให้รับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 ได้ ผู้ค้ำประกันจะยกมาตรา 687 ขึ้นต่อสู้เพื่อโต้แย้งว่าตนไม่จำต้องชำระหนี้ก่อนถึงกำหนดเวลาที่จะต้องชำระหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4525

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4525/2542

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 538 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 172

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทโดยซื้อที่ดินมาจาก ว. จำเลยได้เช่าจาก ว. ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 100,000 บาท นับแต่โจทก์ได้ซื้อที่ดินมา จำเลยไม่เคยชำระค่าเช่าส่วนของโจทก์ให้แก่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยนำค่าเช่าที่ดินไปชำระให้แก่โจทก์ เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเช่าตามสัญญาเช่า แม้โจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าเช่า แต่เป็นการฟ้องเรียกค่าตอบแทนจากการใช้ที่ดินที่กำหนดจำนวนแน่นอนเป็นรายเดือน แม้จะเรียกชื่ออย่างอื่นที่แท้ก็คือค่าเช่า เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยเป็นผู้รับผิดแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3382

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3382/2542

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 291

การที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291จะต้องมีการกระทำโดยประมาณและการกระทำโดยประมาทนั้นต้องเป็นผลโดยตรงให้เกิดความตาย การที่จำเลยร้องบอกให้เด็กหญิง จ. ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำไปโดยบอกว่าจะลงมาช่วยเป็นแต่เพียงคำชี้แนะนำของจำเลย จำเลยหาได้บังคับเด็กหญิง จ. ให้ต้องว่ายน้ำข้ามแม่น้ำไปไม่เด็กหญิง จ. มีอายุ 14 ปีเศษ มีวุฒิภาวะพอที่จะรู้ว่าตนเองมีความสามารถพอที่จะว่ายน้ำข้ามไปได้หรือไม่ เมื่อ เด็กหญิง จ. ตัดสินใจสมัครใจเข้าเสี่ยงภัยเอง และเด็กหญิงจ. จมน้ำและถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากกระแสน้ำไหลเชี่ยว เช่นนี้ความตายของเด็กหญิง จ. หาได้เกิดจากการกระทำของจำเลยไม่ ทั้งไม่ใช่เป็นผลโดยตรงอันเนื่องมาจากการชี้แนะ ของจำเลย จำเลยจึงมิได้กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ เด็กหญิง จ. ถึงแก่ความตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3321

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3321/2542

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 36

การเล่นสนุกเกอร์มีลักษณะเป็นการแข่งขันกันระหว่างผู้เล่น การเก็บเงินจากผู้เล่นจึงมีส่วนทำให้ผู้เล่นพนันเอาทรัพย์สินกันเพื่อนำเอาเงินส่วนหนึ่งมาชำระค่าเล่นเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสามในวันเวลาเดียวกันแสดงว่ามีการเล่นการพนันสนุกเกอร์ถึง 3 โต๊ะเป็นลักษณะเล่นกันโดยเปิดเผย มิใช่ลักษณะลักลอบเล่น จำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างผู้ร้อง เป็นผู้ดูแลอยู่ที่สมาคมของผู้ร้อง หากผู้ร้องห้ามเล่นสนุกเกอร์จริงแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่น่าจะกล้าจัดให้มี การเล่นโดยเปิดเผยเช่นนี้ การที่ผู้ร้องปิดป้ายห้ามเล่นการพนัน ไว้ที่ทางเข้าสมาคมน่าจะเพียงเพื่อนำไว้ใช้เป็นหลักฐาน ที่จะอ้างว่าผู้ร้องมิได้ร่วมกระทำผิดด้วยเท่านั้น เชื่อได้ว่า ผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4481

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4481/2542

พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 22 (3), 25

กฎหมายล้มละลายเพียงบัญญัติมิให้บุคคลที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์ ดำเนินคดีในทางแพ่งด้วยตนเอง แต่ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติว่าบุคคลที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เข้ามาดำเนินคดีในทางอาญาแทนบุคคลที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์ โดยเฉพาะกฎหมายล้มละลายมิได้คุ้มครองให้ผู้กระทำผิดอาญา นั้นพ้นผิดไปด้วย จำเลยได้ร่วมสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คโดยการกระทำผิดของจำเลยเกิดขึ้นก่อนจะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ไม่เกี่ยวข้องกับ การถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในภายหลัง ดังนี้ แม้ในการ ต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์จำเลยไม่มีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เข้ามาดำเนินคดีแทน การดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นอุทธรณ์ ก็ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 495

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 495/2542

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 224 วรรคหนึ่ง

จำเลยอุทธรณ์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยซื้อจากโจทก์และจำเลยครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์แล้ว สัญญาเช่าที่ทำไว้กับโจทก์จึงระงับไป เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์มิได้ขายที่ดินพิพาทให้จำเลย ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์และจำเลยครอบครองแทนโจทก์ในฐานะผู้เช่าอุทธรณ์ของจำเลยเช่นนี้มิใช่อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย จำนวนค่าเสียหายที่จะนำมาคำนวณเป็นทุนทรัพย์นั้นต้องเป็นค่าเสียหายก่อนยื่นคำฟ้อง โจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายก่อนยื่นคำฟ้อง จึงไม่มีจำนวนค่าเสียหายที่จะนำมาคำนวณเป็นทุนทรัพย์ เมื่อคดีนี้ที่ดินพิพาทมีราคา 40,500 บาทและทุนทรัพย์ชั้นอุทธรณ์เพียงจำนวนดังกล่าว จำเลยย่อมต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 490

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 490/2542

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 80, 334

จำเลยได้เข้าไปในที่เก็บรักษาทรัพย์เพื่อสำรวจทรัพย์ ที่จะลักเอาไปและกำลังนำรถยนต์บรรทุกมาขนทรัพย์ ที่จะลักโดยเฉพาะลวดทองแดงที่จำเลยจะลักเอาไป นั้นวางกองไว้บริเวณที่สามารถเข้าไปยกเอาไปได้ แม้จำเลยกับพวกจะยังไม่ได้แตะต้องตัวทรัพย์แต่นับว่าใกล้ชิดพร้อมที่จะเอาไปได้ในทันทีทันใด การกระทำ ของจำเลยอยู่ในขั้นลงมือกระทำความผิดแล้ว เพียงแต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะมีเจ้าพนักงานตำรวจมาพบ จำเลยก่อนที่จำเลยจะลักทรัพย์ดังกล่าวไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามลักทรัพย์

« »