กฎหมายฎีกา ปี 2543
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6436/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 152, 438 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 142 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 44, 68
บริษัทโจทก์ที่ 1 ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศสเป็นเจ้าของเครื่องหมาย การค้าคำว่า REYNOLDS ซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทยเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2520 สำหรับสินค้าจำพวกที่ 39 รายการสินค้า เครื่องเขียน เครื่องมือวาดเขียน ปากกาลูกลื่น ปากกาปากอ่อน ปากกาหมึกซึม ไส้ปากกา หมึกบรรจุ ในหลอด ยาลบหมึก น้ำหมึก และที่เสียบปากกา โจทก์ที่ 1 ตกลงให้บริษัทโจทก์ที่ 2 ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ตามกฎหมายไทยเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายปากกาลูกลื่นโดยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยโดยไม่มีค่าตอบแทนแต่มีเงื่อนไขว่า โจทก์ที่ 2 จะต้องซื้อปลายปากกาลูกลื่นและหมึกปากกาลูกลื่นจากโจทก์ที่ 1 ตามจำนวนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ การอนุญาตให้โจทก์ที่ 2 ใช้เครื่องหมายการค้าตามสัญญาผู้ใช้ (User Agreement) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2539 ไม่ได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 68 วรรคสอง จึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 152 โจทก์ที่ 2 จึงมิใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้อง เรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองในข้อหาละเมิดเพราะจำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายสินค้าปากกาลูกลื่นที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนคำว่า REYNOLDS ดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 ได้ คงมีเฉพาะโจทก์ที่ 1 เท่านั้นที่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าว
ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ที่ 1 มีหน้าที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือโจทก์ที่ 2 ในเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานด้านการตลาดของโจทก์ที่ 2 ในประเทศไทย ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขายก็ปรากฏว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์ที่ 2 เป็นผู้จ่ายทั้งสิ้น ซึ่งไม่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 ตามคำฟ้องก็ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้บรรยายฟ้องอย่างชัดเจนว่าค่าโฆษณานั้น โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย แต่เพียงผู้เดียว ดังนี้ โจทก์ที่ 1 จึงไม่ได้รับความเสียหายในการที่ต้องจ่ายค่าโฆษณาและส่งเสริมการขายอันเนื่องมาจากยอดขายสินค้าปากกา REYNOLDS ลดลงเพราะการละเมิดของจำเลยทั้งสอง
แม้โจทก์ที่ 1 มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า REYNOLDS สำหรับสินค้าปากกาลูกลื่นที่ได้จดทะเบียนไว้และการที่จำเลยทั้งสองร่วมกันเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายปากกาลูกลื่น REYNOLDS อันเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 จะเป็นการละเมิดต่อสิทธิ แต่ผู้เดียวของโจทก์ที่ 1 ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 44 ก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับความเสียหายว่า โจทก์ต้องจัดการทำการโฆษณาเพื่อแก้ไขภาพพจน์ต่อผู้เคยใช้ปากกาลูกลื่นยี่ห้อ REYNOLDS ปลอมที่มีคุณภาพต่ำ ซึ่งโจทก์ที่ 2 ต้องเสียค่าโฆษณาไปในช่วงเดือนกรกฎาคม 2540 ถึงปลายปี 2541 เป็นเงินจำนวน 3,916,881.92 บาท รวมความเสียหายที่โจทก์ประเมินไว้เนื่องจากการที่จำเลยทั้งสองนำ ปากกาลูกลื่นที่มีเครื่องหมายการค้า "REYNOLDS" ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของ โจทก์ที่ 1 ออกจำหน่ายในช่วงเวลาดังกล่าวมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 9,000,000 บาท ทั้งนี้ ยังมิได้รวมถึงค่านิยมที่ผู้เคยใช้ปากกาลูกลื่น REYNOLDS ของโจทก์ที่เสื่อมไปเพราะการใช้ของปลอมที่มีคุณภาพต่ำ แต่โจทก์ทั้งสองขอเรียก ค่าเสียหายสำหรับการจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 เป็นเงินจำนวน 3,300,000 บาท ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่หาได้เรียกค่าเสียหายสำหรับค่านิยมหรือความมีชื่อเสียง ของสินค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ไม่ แสดงว่าโจทก์ที่ 1 มิได้ประสงค์จะเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้ จากจำเลยทั้งสอง จึงไม่มีค่าเสียหายในส่วนนี้ที่ศาลจะพิพากษาให้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6435/2543
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ม. 11, 15, 21, 25, 31 ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคีณอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530
ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ มีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มีนาคม 2534 ได้แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 9 วรรคสี่ คือแก้ไขหลักเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดิน จากเดิมที่ให้กำหนดโดยถือราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ หรือราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่าเป็นเกณฑ์ มาเป็นกำหนดโดยคำนึงถึงมาตรา 21 ทั้งมาตรา คือต้องกำหนดโดยเอาราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา ฯ สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 21 (1) (4) และ (5) มาพิจารณาประกอบกับหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 (2) และ (3) ด้วย และบทบัญญัติมาตรา 9 ที่แก้ไขนี้ ข้อ 5 ของประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับแก่การเวนคืนซึ่งการกำหนดราคาเบื้องต้น การจัดซื้อ การจ่ายหรือการวางเงินค่าทดแทน การอุทธรณ์หรือการฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ใช้บังคับด้วย ซึ่งเป็นวันเวลาก่อนที่โจทก์อุทธรณ์ราคาของอสังหาริมทรัพย์และเงินค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ต้องเวนคืนในโครงการนี้ไว้เป็นพิเศษใน พ.ร.บ. เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะ ดังนั้น การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 642 จึงต้องกำหนดโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ในมาตรา 21 (1) ถึง (5) ประกอบกัน ซึ่งตามมาตรา 21 (1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดนั้นต้องเป็นวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา ฯ หาใช่เป็นวันภายหลังใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา ฯ ก็ได้ไม่
จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือถึง น. มารดาโจทก์แจ้งให้ไปรับเงินค่าทดแทนแล้วก็ได้ส่งหนังสือดังกล่าวไป แต่ส่งให้ไม่ได้เพราะ น. ได้ถึงแก่กรรมไปนานแล้ว และในขณะนั้นยังไม่มีผู้ใดได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก น. จำเลยที่ 1 จึงนำเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 642 ไปฝากไว้ในชื่อของ น. ดังนั้นดอกเบี้ยหรือดอกผลที่เกิดขึ้นจากการฝากเงินนี้จึงตกเป็นสิทธิแก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 642 ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 31
พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ได้กำหนดขั้นตอนการดำเนินการกำหนดเงินค่าทดแทน การจ่ายหรือการวางเงินค่าทดแทนการอุทธรณ์และการฟ้องคดีของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนไว้ โดยให้คณะกรรมการตามมาตรา 9 เป็นผู้กำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนก่อน เมื่อคณะกรรมการตามมาตรา 9 กำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนแล้ว ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนไม่พอใจในราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการตามมาตรา 9 กำหนด ก็ต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง เป็นลำดับต่อมา เพื่อให้รัฐมนตรีพิจารณาวินิจฉัย แล้วจึงจะถึงขั้นตอนการฟ้องคดีตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง คือ ในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง ก็มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แล้วแต่กรณี เงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเป็นคนละส่วนคนละกรณีกันกับเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลง สิทธิที่จะฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนไม่ว่าเป็นกรณีที่ดินที่ถูกเวนคืนหรือกรณีที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลง ก็ต้องดำเนินการผ่านขั้นตอนดังกล่าวมาแล้วจึงจะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4937/2543
nan
++ เรื่อง ล้มละลาย ++
++ ทดสอบทำงานในระบบ CW เพื่อค้นหาข้อมูลทาง online ++
++
++
++ โจทก์ฎีกา
++
++ ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 208/2525 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดโดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่7 กรกฎาคม 2529 ซึ่งพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 3,353,698.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 75,067.68 บาท และตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน1,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 73,605.47 บาทกับดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบ โจทก์ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์จำเลยออกขายทอดตลาด จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการคำนวณดอกเบี้ยว่าไม่ถูกต้องและขอให้ศาลชั้นต้นงดการบังคับคดีไว้ก่อน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีจนกว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2532
++ ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 1มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นบังคับคดีต่อไปโดยอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2534 โจทก์บังคับคดีได้เงินชำระหนี้บางส่วนยังค้างชำระอยู่ 2,843,377.25 บาท รวมกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ19 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2539 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน378,909.15 บาท รวมเป็นเงิน 3,222,286.40 บาท
++
++ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสามให้ล้มละลายได้หรือไม่
++ โจทก์ฎีกาว่า มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้ โจทก์มีสิทธิบังคับคดีจำเลยทั้งสามได้ภายในสิบปีซึ่งจะครบในเดือนเมษายน 2542เนื่องจากจำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีเมื่อวันที่ 16 มกราคม2532 แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นบังคับคดีต่อไปซึ่งได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2534จะเห็นได้ว่าโจทก์ไม่สามารถใช้สิทธิบังคับคดีนับแต่วันที่ 16 มกราคม2532 จนถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2534 เป็นเวลา 2 ปี 9 เดือนเศษซึ่งเป็นพฤติการณ์นอกเหนือโดยไม่ใช่ความผิดของโจทก์ จึงไม่ควรนำระยะเวลาดังกล่าวมานับรวมในระยะเวลาบังคับคดีของโจทก์ดังนั้น โจทก์มีสิทธิบังคับคดีได้ถึงเดือนเมษายน 2542
++
++ศาลฎีกาเห็นว่าหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยทั้งสามให้ล้มละลาย เป็นมูลหนี้ที่ถึงที่สุดโดยคำพิพากษาศาลฎีกามีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2529 โจทก์จึงชอบที่จะนำหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งสามภายในสิบปีนับแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2529กล่าวคือ จะต้องฟ้องภายในวันที่ 7 กรกฎาคม 2539 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2532 เป็นต้นไปจนกว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงและต่อมาวันที่ 18 ตุลาคม2534 ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งพิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินการบังคับคดีต่อไปนั้น ถึงแม้จะมีช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2532 ถึงวันที่ 18 ตุลาคม2534 เป็นเวลานาน 2 ปี 9 เดือนเศษ ที่โจทก์ไม่สามารถใช้สิทธิบังคับคดีได้เพราะเหตุจากคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนของศาลชั้นต้นก็ตาม กรณีดังกล่าวก็หาเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตาม 193/14 ไม่
++
++ อนึ่ง คดีนี้โจทก์ได้ใช้สิทธิในการบังคับคดีแล้ว เมื่อโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2539 ซึ่งปรากฏว่าจำเลยทั้งสามยังค้างชำระหนี้โจทก์ตามฟ้อง โจทก์จึงทราบแล้วว่าโจทก์สามารถฟ้องคดีล้มละลายแก่จำเลยทั้งสามนับแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2539 จนถึงวันที่ 7 กรกฎาคม2539 ซึ่งเป็นเวลานานหลายเดือนเพียงพอที่โจทก์ฟ้องคดีล้มละลายได้แต่โจทก์กลับไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2539 จึงพ้นกำหนด 10 ปี หนี้ตามคำพิพากษาอันเป็นมูลที่จะนำมาฟ้องคดีล้มละลายขาดอายุความแล้ว จึงเป็นเหตุที่ไม่สมควรให้จำเลยทั้งสามล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 14 ++
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2564/2543
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 80, 83, 86 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 ม. 5, 8 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2465 ม. 4, 15, 66
"การมีไว้ในครอบครอง" ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 4 มิได้บัญญัติให้มีความหมายพิเศษ จึงต้องถือว่ามีความหมายทั่วไปดังนี้ การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษ จึงมีความหมายเพียงว่ายาเสพติดให้โทษนั้นอยู่ในความยึดถือหรือปกครองดูแลของจำเลยทั้งสองโดยรู้ว่าเป็นยาเสพติดให้โทษ เมื่อปรากฏว่าเฮโรอีนของกลางจำนวน 60 ห่อ อยู่ในความยึดถือหรือปกครองดูแลของม. ที่ประเทศอินโดนีเซีย และโจทก์ไม่ได้นำสืบว่ามีความเกี่ยวพันกับจำเลยทั้งสองอย่างไร ส่วนจำเลยทั้งสองอยู่ในราชอาณาจักรไทยซึ่งห่างไกลกันโดยระยะทางย่อมไม่อาจที่จะยึดถือหรือปกครองดูแลเฮโรอีนดังกล่าวได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองรู้ที่เก็บเฮโรอีนและการนำเฮโรอีนออกมายังต้องจ่ายเงินให้ผู้เก็บรักษาก่อนจึงจะนำออกมาได้ บ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองน่าจะไม่ใช่เจ้าของหรือมีสิทธิยึดถือปกครองดูแลเฮโรอีนอีกด้วยเช่นนี้ ข้อเท็จจริงย่อมฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้สมคบโดยร่วมกันครอบครองเฮโรอีนของกลางการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
โจทก์มี ส. และ พ. ซึ่งได้ติดตามเฝ้าดูพฤติการณ์การเจรจาซื้อขายเฮโรอีนระหว่างจำเลยทั้งสองกับพวกและสายลับจนมีการตกลงในเงื่อนไขต่าง ๆ สำเร็จมาเบิกความ โดย ส. ได้บันทึกภาพและเสียงขณะมีการเจรจาไว้ด้วย คำเบิกความของ ส. และ พ. ที่ระบุถึงพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองที่จะมีการซื้อขายเฮโรอีนและส่งมอบจึงมีเหตุผลน่าเชื่อถือ รับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองติดต่อเจรจาเพื่อซื้อขายเฮโรอีนกับสายลับจริงและนัดให้มีการส่งมอบเฮโรอีนจำนวน 6 ห่อที่ประเทศอินโดนีเซีย แต่เมื่อพฤติการณ์ในการจับกุมปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจของประเทศอินโดนีเซีย เข้าจับกุมขณะที่ผู้ซื้อเฮโรอีนกำลังตรวจสอบเฮโรอีนห่อหนึ่งอยู่ ดังนี้ เมื่อมีการตรวจสอบเฮโรอีนแล้ว ยังมิได้มีการส่งมอบเฮโรอีนจำนวน 5 ห่อซึ่งอยู่ในกระเป๋าส่วนสายลับก็ยังมิได้นำเงินตามจำนวนที่ตกลงกันมอบให้ฝ่ายผู้ขายแต่อย่างใด การซื้อขายเฮโรอีนจึงยังไม่สำเร็จบริบูรณ์ เมื่อผู้ขายถูกจับเสียก่อนที่จะส่งมอบเฮโรอีน การกระทำในส่วนนี้จึงเป็นความผิดเพียงฐานพยายามจำหน่ายเฮโรอีนจำนวน 6 ห่อ
จำเลยที่ 1 ร่วมเจรจากับสายลับมาแต่ต้น โดยแสดงพฤติการณ์ว่าเป็นเจ้าของเฮโรอีน ทั้งตกลงให้โอนเงินที่จำหน่ายเฮโรอีนเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำกับพวก มีความผิดฐานร่วมกับพวกพยายามจำหน่ายเฮโรอีน
ส่วนจำเลยที่ 2 เข้าร่วมเจรจากับจำเลยที่ 1 และสายลับในระยะหลังตอนที่พวกของจำเลยที่ 1 นำเฮโรอีนจากผู้เก็บรักษามาไม่ได้ โดยผู้เก็บรักษาต้องการเงินก่อน แม้จำเลยที่ 2 จะไปช่วยเจรจากับสายลับ จนสายลับตกลงที่จะจ่ายเงินให้แก่ผู้เก็บรักษาแลกกับเฮโรอีนจำนวนหนึ่งก็ตาม พฤติการณ์ไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 สมคบโดยเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 พยายามจำหน่ายเฮโรอีน คงฟังได้แต่เพียงว่าสมคบกับจำเลยที่ 1 เพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดโดยเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการจำหน่ายเฮโรอีนให้แก่สายลับ แต่เมื่อมีการกระทำผิดฐานพยายามจำหน่ายเฮโรอีนตามที่สมคบกัน จำเลยที่ 2 ต้องรับโทษฐานพยายามจำหน่ายเฮโรอีนตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯมาตรา 8 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 752/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 5, 222, 386, 420, 421, 438
++ เรื่อง เครื่องหมายการค้า ละเมิด ++
++ ทดสอบทำงานใด้วยระบบ CW เพื่อค้นหาจข้อมูลทาง online เท่านั้น ++
++ ต้นฉบับต้องแปะภาพ ++
++
++ การที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ย่อมต้องพิจารณาให้ได้ความว่าจำเลยได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์เสียหายแก่ทรัพย์สินหรือชื่อเสียงตามที่โจทก์ฟ้อง
++ขณะที่จำเลยที่ 1 ลงชื่อและประทับตราบริษัทจำเลยที่ 2ลงในหนังสือสัญญา จำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าบริษัทจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้ารูปมดอีกต่อไปแล้ว เพราะเป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทโสภณพัฒนา จำกัด ที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว การนำเครื่องหมายการค้ารูปมดดังกล่าวไปใช้กับสินค้าใด ๆ ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของบริษัทโสภณพัฒนา จำกัด ได้ การที่จำเลยทั้งสองทำหนังสือสัญญาให้โจทก์ที่ 2 ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 2 จึงเป็นกรณีที่อาจเล็งเห็นได้ว่าหากโจทก์ทั้งสองนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปใช้กับสินค้าใดและนำสินค้านั้นออกจำหน่าย ย่อมอาจถูกจับในข้อหาเลียนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรและจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนดังกล่าวได้ การออกหนังสือให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยจงใจต่อโจทก์ทั้งสองโดยผิดกฎหมายแล้ว แต่การที่จะวินิจฉัยว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองก็ต้องได้ความว่าโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสองด้วย
++การที่บริษัทจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าสินค้าที่ค้างชำระจากโจทก์ทั้งสองนั้นโดยทั่วไปถือว่าเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย แต่ก็อาจจะเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองได้หากจำเลยทั้งสองใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต โดยมุ่งประสงค์ให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองแต่เพียงอย่างเดียว
++ คดีดังกล่าวศาลฎีกาพิพากษายืนให้ยกฟ้องตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 108/2542 โดยวินิจฉัยว่า "เมื่อพิจารณาข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าว (โจทก์ทั้งสอง)ประกอบกับกรณีที่โจทก์ในคดีดังกล่าว (จำเลยที่ 2) ไม่มีหลักฐานใดมาแสดงว่าจำเลยทั้งสองรับสินค้าไปจากโจทก์และไม่ส่งมอบเงินค่าสินค้าแก่โจทก์ ข้อนำสืบของจำเลยทั้งสองมีน้ำหนักดีกว่าของโจทก์ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ดังฟ้อง" ดังนี้ คำวินิจฉัยของศาลฎีกาในคดีดังกล่าวเป็นการใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของคู่ความ การที่ศาลฎีกาเชื่อพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยก็มิได้หมายความว่าพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์เป็นพยานหลักฐานเท็จหรือเป็นการนำความเท็จมาฟ้อง แต่เป็นเรื่องโจทก์ในคดีดังกล่าวนำสืบไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองรับสินค้าไปแล้วไม่ชำระค่าสินค้าดังที่บรรยายไว้ในคำฟ้อง ทั้งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในระยะแรก ๆ ที่โจทก์ทั้งสองรับสินค้าจากจำเลยทั้งสองมาจำหน่าย จำเลยที่ 1 ก็ได้ส่งนายนิรันดร์ ทศพรทรงไชย ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มาช่วยโจทก์ทั้งสองขายด้วย โจทก์ที่ 1 เบิกความยอมรับว่าจำเลยที่ 1มาติดพันโจทก์ที่ 1 ซึ่งหมายความว่าจำเลยที่ 1 รักใคร่ชอบพอโจทก์ที่ 1ฉันชู้สาว ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 จึงมิใช่ลูกค้ากับผู้ค้าตามปกติ โจทก์ที่ 1 เองก็มาเบิกความแต่เพียงว่าโจทก์ที่ 1ซื้อกาวลาเท็กซ์จากจำเลยที่ 2 มาขาย แต่ไม่เคยเป็นตัวแทน และไม่เคยค้างชำระค่าสินค้าแก่จำเลยที่ 2 แต่โจทก์ทั้งสองก็ไม่มีหลักฐานการชำระเงินค่าสินค้ามาแสดงเช่นกัน พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองที่นำสืบมาจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาไม่สุจริตโดยนำเอาความเท็จไปฟ้องโจทก์ทั้งสองเพื่อให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย การที่บริษัทจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นคดีแพ่งจึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 84/2543
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 3, 4, 13 พระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ม. 4 พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 ม. 4 ประกาศของคณะปฏิวัติ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ม. ,
เดิมจำเลยเป็นสถาบันการเงินและเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ต่อมาวันที่ 14 สิงหาคม 2541 กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าแทรกแซงกิจการของจำเลยโดยถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ฐานะของจำเลยจึงเปลี่ยนเป็นรัฐวิสาหกิจตั้งแต่วันดังกล่าวตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 4และพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 4(2)โจทก์ย่อมเปลี่ยนจากการเป็นลูกจ้างจำเลยในฐานะบริษัทมหาชนจำกัดมาเป็นพนักงานของจำเลยในฐานะรัฐวิสาหกิจตั้งแต่วันดังกล่าวเช่นเดียวกัน สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับค่าชดเชยกรณีถูกเลิกจ้างหรือไม่เพียงใดต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ ไม่บังคับ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ซึ่งกำหนดว่าให้รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เป็นกิจการที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ไม่ใช้บังคับ อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่จำเลยมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ แม้ต่อมาเมื่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับและเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้มีการยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ไปแล้วตามมาตรา 3(1) ก็ตาม แต่มาตรา 4(2) ได้บัญญัติมิให้นำพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาใช้บังคับแก่รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กรณีจึงไม่อาจนำมาตรา 13 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาใช้บังคับแก่กรณีของโจทก์ได้
ตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 และระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 45(3) กำหนดว่าพนักงานซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี ขึ้นไปโดยรวมวันหยุด วันลา และวันที่รัฐวิสาหกิจสั่งให้หยุดงานเพื่อประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจ ให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าชดเชยแก่พนักงานไม่น้อยกว่าเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วันแม้ข้อ 48 วรรคสอง ในหมวด 7 บทเฉพาะกาล ของระเบียบดังกล่าวจะกำหนดว่ารัฐวิสาหกิจใดจัดสิทธิประโยชน์ให้แก่พนักงานสูงกว่าสิทธิประโยชน์ตามระเบียบนี้แล้วให้รัฐวิสาหกิจนั้นถือปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับหรือข้อกำหนดเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์เดิมต่อไปได้ และคณะรัฐมนตรีมีมติให้สถาบันการเงินที่เป็นรัฐวิสาหกิจเพราะกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าแทรกแซงได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการในเรื่องเงินเดือน สวัสดิการ และผลประโยชน์ตอบแทนของพนักงานโดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และหรือเงื่อนไขในการจ้างเดิมของสถาบันการเงินนั้นซึ่งเป็นระเบียบและมติที่มีเจตนาให้ลูกจ้างที่เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจโดยผลของการเปลี่ยนฐานะของจำเลยไม่ต้องเสียสิทธิประโยชน์ที่เคยได้รับอยู่ก่อนก็ตามแต่ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในขณะที่มีฐานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่เป็นหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ้างเดิมก็กำหนดว่าพนักงานซึ่งทำงานกับจำเลยติดต่อกันครบ 3 ปี ขึ้นไปโดยรวมวันหยุด วันลา และวันที่จำเลยสั่งให้หยุดงานเพื่อประโยชน์ของจำเลย จำเลยจะจ่ายค่าชดเชยให้ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน ซึ่งค่าชดเชยที่โจทก์สิทธิได้รับตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวก็เท่ากับค่าชดเชยที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ ข้อ 45(3) โจทก์จึงไม่เสียสิทธิประโยชน์ที่จะพึงได้รับค่าชดเชยแต่อย่างใด ดังนั้นโจทก์ซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี ขึ้นไปย่อมมีสิทธิได้ค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ และระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ ข้อ 45(3) เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน หาใช่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6909/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 175, 176, 177 วรรคสาม
เมื่อจำเลยฟ้องแย้งเข้ามาในคำให้การ โจทก์ก็คือจำเลยในฟ้องแย้ง คดีตามฟ้องแย้งจึงมีคู่ความครบถ้วนที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องเดิม ก็คงมีผลเฉพาะคดีโจทก์ว่าไม่มีฟ้องเดิมที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปเท่านั้น หามีผลให้ฟ้องแย้งของจำเลยตกไปด้วยไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4439/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5) พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 ม. 4, 30, 82
ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528มาตรา 4 ได้นิยามคำว่า "จัดหางาน" หมายความว่า "ประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางาน" เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกได้บังอาจร่วมกันจัดหางาน โดยใช้คำที่กฎหมายให้ความหมายไว้โดยเฉพาะก็เท่ากับบรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกได้ประกอบธุรกิจจัดหางานอันถือได้ว่าจำเลยกับพวกมีเจตนาจัดหางาน ครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528มาตรา 30 วรรคหนึ่ง,82 แล้ว โดยมิต้องบรรยายว่าจำเลยเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพโดยทำธุรกิจด้วยการจัดหางานอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1394/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 138
โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลด้วยความสมัครใจโดยมีทนายความ ทั้งสองฝ่ายลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความ เป็นการยอมรับข้อตกลงนั้น การที่โจทก์ปกปิดไม่แจ้งข้อเท็จจริงที่โจทก์ฟ้อง พ. ซึ่งเป็นมูลหนี้เดียวกันกับจำเลย เมื่อโจทก์ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องแจ้งข้อเท็จจริงนั้นแก่จำเลยจึงหาใช่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉลดังที่ ป.วิ.พ. มาตรา 138 (1) บัญญัติไว้ไม่
ฎีกาที่กล่าวอ้างว่าเป็นการฉ้อฉลในมูลคดีเดิม ไม่ถือเป็นการฉ้อฉลตาม ป. วิ.พ. มาตรา 138 (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 83/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 247
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปหรือพิพากษาให้นำที่ดินตามฟ้องขายทอดตลาดมาแบ่งตามคำขอบังคับของโจทก์ท้ายคำฟ้อง เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี เท่ากับให้ดำเนินการสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป อันเป็น การสมประโยชน์ตามคำขอของโจทก์ในชั้นอุทธรณ์แล้ว โจทก์จะฎีกาขอให้พิพากษานำที่ดินตามฟ้องออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งตามคำขอบังคับของโจทก์ โดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีอีก ไม่ได้ เพราะเป็นคำขอที่ขัดกับคำขอในชั้นอุทธรณ์