กฎหมายฎีกา ปี 2557
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14704/2557
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 362, 365
โจทก์และจำเลยยังนำสืบโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในการครอบครองที่ดินพิพาทกันอยู่ แม้โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 6869 แต่ก็รับว่าไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยได้สิทธิในที่ดินพิพาทมาจากเจ้าของที่ดินเดิมโดยการส่งมอบการครอบครอง และมีกรณีฟ้องร้องเพราะเหตุที่มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 2434 โดยไม่ชอบทับที่ดินของบุคคลอื่นอีกหลายคดี ซึ่งที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์แบ่งแยกมาจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว เท่ากับจำเลยยืนยันโดยมีเหตุผลตามสมควรว่า จำเลยมีสิทธิครอบครอง เป็นเรื่องที่ต้องว่ากล่าวโต้แย้งกันทางแพ่ง จึงต้องรับฟังว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิด การกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11898/2557
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 33, 244, 247
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางติดต่อกับสายลับ จำเลยที่ 2 และติดต่อซึ่งกันและกัน เพื่อซื้อขายและจัดหาธนบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาปลอม โทรศัพท์เคลื่อนที่ 7 เครื่อง ของกลาง จึงเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ใช้ในการกระทำความผิดฐานร่วมกันมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรรัฐบาลต่างประเทศปลอม อันพึงต้องริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11858/2557
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 352 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 18 วรรคสาม, 19, 28, 120, 123, 124
ป.วิ.อ. มาตรา 28 บัญญัติให้ทั้งพนักงานอัยการและผู้เสียหาย เป็นบุคคลซึ่งมีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้ โดยในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนั้น ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นฟ้องต่อศาลได้โดยไม่จำต้องมีการสอบสวนความผิดนั้นมาก่อน แต่ในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง มาตรา 120 บัญญัติว่า ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน ทั้งต้องเป็นการสอบสวนที่ไม่บกพร่องหรือผิดพลาดในส่วนซึ่งเป็นสาระสำคัญด้วย เพราะมิเช่นนั้นแล้วต้องถือว่า เป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถือเท่ากับว่าไม่มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อน อันมีผลทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง การสอบสวนจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พนักงานอัยการมีอำนาจในการฟ้องคดีอาญา ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้กำหนดหลักเกณฑ์สำคัญเกี่ยวกับการสอบสวนความผิดที่ได้กระทำลงในราชอาณาจักรไว้ในมาตรา 2 (6) และมาตรา 18 กับมาตรา 19 โดยมีสาระสำคัญว่า การสอบสวนต้องกระทำโดยเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน ทั้งการสอบสวนต้องกระทำโดยพนักงานสอบสวนที่มีเขตอำนาจ
โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งว่า การกระทำของจำเลยที่อ้างว่าเป็นความผิดฐานร่วมกันยักยอก คือการร่วมกับจ่าสิบตำรวจ อ. จำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 21/2555 ของศาลชั้นต้น นำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาจากผู้เสียหายไปจำนำแก่ ก. โดยระบุว่า เหตุเกิดที่แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร แต่ต่อมาในชั้นพิจารณากลับได้ความตามคำเบิกความของร้อยตำรวจเอก ว. พนักงานสอบสวนพยานโจทก์ว่า การจำนำรถยนต์อันเป็นมูลเหตุแห่งความผิดของจำเลยเกิดขึ้นที่เขตเพชรเกษม อันเป็นท้องที่ในความรับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลเพชรเกษม ดังนี้ พนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลเพชรเกษมซึ่งเป็นท้องที่ที่ความผิดเกิดย่อมเป็นพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวน พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่อื่นนอกจากนี้ย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนได้ เว้นแต่ในกรณีมีเหตุจำเป็นหรือเพื่อความสะดวก จึงให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคสาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร และถูกจับกุมดำเนินคดีนี้โดยเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาล หนองค้างพลู เช่นนี้ แม้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยจะเป็นผู้รับคำร้องทุกข์จากผู้เสียหาย ทั้งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีเขตรับผิดชอบในท้องที่ซึ่งบริษัทผู้เสียหายตั้งอยู่ แต่เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยไม่ใช่พนักงานสอบสวนที่ ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคสาม กำหนดให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ การที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยทำการสอบสวนจำเลย จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกันยักยอก ตาม ป.อ. มาตรา 352 ประกอบมาตรา 83 จึงเป็นกรณี ที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดกรรมเดียว มิใช่หลายกรรม ทั้งการกระทำอันเป็นความผิดฐานยักยอกตามที่กล่าวหาคือการที่ผู้ครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ดังนั้น ความผิดฐานยักยอกย่อมเกิดขึ้นและสำเร็จแล้วเมื่อจำเลยและจ่าสิบตำรวจ อ. ร่วมกันนำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาจากผู้เสียหายไปจำนำแก่ ก. การกระทำของจำเลยจึงหาใช่ความผิดต่อเนื่องที่ได้กระทำในหลายท้องที่ ทั้งกรณีซึ่งจะถือว่าเป็นการไม่แน่ว่าการกระทำความผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่ อันจะทำให้พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความผิดมีอำนาจทำการสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 นั้น หมายแต่เฉพาะเมื่อสภาพและลักษณะแห่งการกระทำความผิดนั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่ในตัวว่า เป็นการไม่แน่ว่าการกระทำความผิดเกิดขึ้นในท้องที่ใดในหลายท้องที่ต่างเขตอำนาจสอบสวน โดยมิได้หมายรวมถึงกรณีที่เป็นการแน่นอนอยู่แล้วว่า ความผิดนั้นได้กระทำในท้องที่ใด ดังนี้ แม้ผู้เสียหายสามารถร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 123 และมาตรา 124 ก็ตาม แต่เมื่อการสอบสวนคดีนี้กระทำโดยพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัย ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของจำเลย การสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือได้ว่าคดีนี้ไม่มีการสอบสวน ย่อมมีผลให้พนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6874/2557
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 68, 245 วรรคหนึ่ง
ป.วิ.อ. มาตรา 68 บัญญัติว่า "หมายจับคงใช้ได้อยู่จนกว่าจะจับได้ เว้นแต่ความผิดอาญาตามหมายนั้นขาดอายุความหรือศาลซึ่งออกหมายนั้นได้ถอนหมายคืน" เช่นนี้ เมื่อความผิดอาญาตามหมายจับจำเลยขาดอายุความแล้ว หมายจับย่อมสิ้นผลไปในตัวโดยไม่ต้องเพิกถอนหมายจับอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12894/2557
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 27, 223 ทวิ
จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาโดยไม่ได้มีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องขออนุญาตโดยตรงต่อศาลฎีกาให้แก่โจทก์ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ ทั้งหากโจทก์ได้รับคำร้องและใช้สิทธิคัดค้านคำร้องของจำเลยที่ 2 แล้ว ศาลชั้นต้นก็ไม่อาจอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น และถือได้ว่าเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการยื่นหรือการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่น ๆ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนนี้ใหม่ให้ถูกต้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6856/2557
พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 27 ทวิ
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ กำหนดให้ลงโทษปรับแก่ผู้กระทำความผิดเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว ซึ่งแม้มาตรา 27 ทวิ จะมิได้บัญญัติความเจาะจงลงไปว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเช่นเดียวกับ มาตรา 27 ก็ตาม แต่มาตรา 27 ทวิ เป็นบทบัญญัติต่อท้ายและเป็นความผิดต่อเนื่องจากมาตรา 27 ดังนั้น ในเรื่องโทษนี้ก็ย่อมมีความหมายเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ นั่นเอง ไม่ใช่ให้ปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ แล้วแบ่งปรับเป็นรายบุคคลคนละเท่า ๆ กัน ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองเรียงตัวคนละสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว จึงเป็นการปรับจำเลยทั้งสองสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ เกินกว่าสี่เท่า ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติมาตราดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12560/2557
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4)
ห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. และ ธ. โดย ช. ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ แต่ขณะนั้นฟ้องโจทก์ระบุว่าบริษัท พ. โดย ธ. ผู้เสียหาย ดังนั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ บริษัท พ. เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. และ ธ. โดย ช. จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์ได้ แม้ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องในส่วนผู้เสียหายเป็นบริษัท พ. หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตก็ตาม แต่ก็ไม่มีผลทำให้คำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และคำสั่งศาลที่อนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลายเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายได้ โจทก์ร่วมทั้งสองจึงไม่ใช่คู่ความที่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12389/2557
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 วรรคสอง พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ม. 66 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มิได้มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ จึงไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับดังที่โจทก์ฟ้อง แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 แบ่งขายเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลยที่ 1 ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยที่ 2 ครอบครองเมทแอมเฟตามีนไว้เพื่อจำหน่ายอยู่ก่อนแล้ว แม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งย่อมมีความหมายเช่นเดียวกัน ทั้งมิใช่ข้อแตกต่างที่เป็นสาระสำคัญและจำเลยที่ 2 มิได้หลงต่อสู้ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10974/2557
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5) ประมวลกฎหมายอาญา ม. 264, 268, 269
ฟ้องโจทก์ทั้งสองบรรยายโดยชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกันปลอมหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่มีการกรอกข้อความขึ้นทั้งฉบับ โดย ท. ไม่ได้ยินยอมด้วย ส่วนจำเลยที่ 1 จะปลอมหนังสือมอบอำนาจขึ้นทั้งฉบับด้วยวิธีการใดหรือปลอมหนังสือมอบอำนาจโดยหลอกลวงให้ ท. ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์ทั้งสองสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ทั้งเมื่ออ่านฟ้องโจทก์ทั้งสองดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 1 ย่อมเข้าใจได้ว่า จำเลยที่ 1 ปลอมหนังสือมอบอำนาจของ ท. ขึ้นทั้งฉบับ ไม่มีทางที่จำเลยที่ 1 จะเข้าใจฟ้องเป็นสองนัยอันจะพึงเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 หลงข้อต่อสู้แต่ประการใด ฟ้องโจทก์ทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันปลอมหนังสือมอบอำนาจจึงไม่ขัดแย้งกันในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในการกระทำความผิด จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18830/2557
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 57 (3), 243, 247 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 477, 549
การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทจากการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทไม่ได้ เนื่องจากจำเลยจ้างคนงานมาสร้างรั้วลวดหนามในที่ดินพิพาทปิดกั้นทางเข้าออกของโจทก์สู่ทางสาธารณะนั้น ย่อมเป็นการรอนสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิดำเนินคดีแก่จำเลย โดยยื่นคำฟ้องพร้อมกับคำร้องขอให้เรียกผู้ให้เช่า คือการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้ามาร่วมเป็นโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 ประกอบมาตรา 549 ดังนั้น ศาลชั้นต้นชอบที่จะเรียกการรถไฟแห่งประเทศไทยผู้ให้เช่าเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3)
การที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เรียกการรถไฟแห่งประเทศไทยผู้ให้เช่าเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247