กฎหมายฎีกา ปี 2567

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2558

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2558/2567

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 30, 175 (4), 176 วรรคหนึ่ง, 181

แม้โจทก์จะมีความสามารถตามกฎหมาย แต่ไม่มีความสามารถที่จะดูแลตนเองหรือผลประโยชน์ของตนเองได้ในความเป็นจริงอันอาจเป็นเพียงบางช่วงเวลา ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติทางจิตใจหรือความผิดปกติทางร่างกายที่มีผลกระทบต่อจิตใจ โจทก์สามารถประกอบกิจวัตรได้เพียงทางกายภาพบางช่วงเวลาเท่านั้น แต่โจทก์ยังมีภาวะผิดปกติทางจิตที่มีความผิดปกติทางความคิด อารมณ์ พฤติกรรมบางอย่างมากจนไม่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง หากดูจากภายนอกย่อมไม่อาจทราบได้ว่าแท้จริงแล้วโจทก์เป็นผู้ป่วยทางจิตเวชอยู่ ไม่อาจตัดสินใจเรื่องใดในทางสมเหตุสมผลได้เหมือนคนปกติ และหลายครั้งที่ผู้ป่วยทางจิตเวชต้องทำอัตวินิบาตกรรม เนื่องจากไม่อาจทนทุกข์ทรมานกับโรคที่เป็นอยู่จนไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไปเพราะมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาทไม่สมดุล กรณีของโจทก์แพทย์จึงต้องใช้ยาต้านเศร้าร่วมด้วยนอกเหนือจากยาคลายวิตกกังวลและยานอนหลับเพื่อปรับอารมณ์ของโจทก์ให้เกิดความสมดุลมากขึ้น ขณะที่โจทก์ทำนิติกรรมจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลยนั้น โจทก์ขาดการรักษาและไม่ได้รับประทานยาต่อเนื่องเป็นเวลานานเชื่อว่า โจทก์ยังคงมีความวิตกกังวลสูง ฟุ้งซ่าน คิดในเรื่องไม่สมเหตุสมผล สภาพภายในจิตใจของโจทก์ยังคงทุกข์ทรมานอย่างมากจนไม่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง เจตนาที่แสดงออกมาจึงวิปริต เมื่อโจทก์ไม่มีความสามารถที่จะดูแลตนเองหรือผลประโยชน์ของตนเองได้ในความเป็นจริง ซึ่งเกิดจากความผิดปกติทางจิตใจ โจทก์จึงเป็นบุคคลวิกลจริตแล้ว ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 175 (4) นั้น บุคคลวิกลจริตผู้กระทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 30 จะบอกล้างนิติกรรมเสียได้ในขณะที่จริตของบุคคลนั้นไม่วิกลแล้ว

โจทก์มีอาการดีขึ้นและสติสัมปชัญญะเหมือนเช่นคนปกติจนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ดังเดิมอันเป็นเวลาที่โจทก์อาจให้สัตยาบันได้เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2561 ต่อมาประมาณต้นปี 2562 โจทก์โทรศัพท์ทวงถามให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาททั้งสามแปลงคืนให้แก่โจทก์ ถือเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าโจทก์บอกล้างโมฆียกรรมนั้นแล้ว ซึ่งเมื่อนับแต่เวลาที่โจทก์อาจให้สัตยาบันได้ถึงช่วงเวลาดังกล่าวไม่เกินกำหนดเวลาหนึ่งปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 181 เมื่อโจทก์บอกล้างโมฆียกรรมโดยชอบย่อมมีผลทำให้นิติกรรมที่โจทก์จดทะเบียนให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทแก่จำเลยโดยเสน่หาตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2528

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2528/2567

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 700 วรรคหนึ่ง

มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งไปยังสถาบันการเงินตามสำเนาหนังสือธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่มีลักษณะเป็นคำสั่งการที่บังคับให้สถาบันการเงินต้องปฏิบัติ หากแต่เป็นเพียงการขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินเท่านั้น และตามสำเนาหนังสือธนาคารแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 26 มีนาคม 2563 ข้อ 2 (3) ระบุชัดเจนว่าการดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ตามมาตรการนี้ สถาบันการเงินไม่จำเป็นต้องขยายระยะเวลาการชำระหนี้เสร็จสิ้นตามสัญญา แต่หากมีการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เสร็จสิ้นตามสัญญาออกไปก็ขอให้ถือปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เกี่ยวกับหลักประกันและผู้ค้ำประกัน การที่โจทก์มีหนังสือแจ้งผลการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไปยังจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ตามที่กำหนดในสัญญาเช่าซื้อตั้งแต่งวดเดือนเมษายน 2563 ถึงงวดเดือนกันยายน 2563 รวม 6 งวด แล้วให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดเดือนตุลาคม 2563 ถึงงวดเดือนมิถุนายน 2568 แทนนั้น แม้จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงจำนวนงวดที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อ เพราะจำเลยที่ 1 ยังต้องชำระค่าเช่าซื้อให้เสร็จสิ้นภายใน 72 งวด แต่ก็เป็นผลให้ในระหว่างนี้โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิฟ้องบังคับตามสัญญาเช่าซื้อโดยถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดได้ และการจะพักชำระหนี้ตามมาตรการดังกล่าวหรือไม่ยังต้องคำนึงถึงเจตนาของคู่สัญญาเป็นสำคัญ ดังจะเห็นได้จากข้อความตอนท้ายของหนังสือที่โจทก์มีไปถึงจำเลยที่ 1 ที่ให้จำเลยที่ 1 แสดงความไม่ประสงค์ให้โจทก์ทราบภายในกำหนดด้วย อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าการพักชำระหนี้ค่าเช่าซื้อแต่ละงวดเป็นเพียงชะลอการผิดนัดของลูกหนี้ในระหว่างสัญญาเท่านั้น เมื่อค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายที่เดิมถึงกำหนดชำระเดือนธันวาคม 2567 ถูกขยายระยะเวลาไปอีก 6 เดือน เป็นเดือนมิถุนายน 2568 การพักชำระหนี้ตามมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมีลักษณะเป็นการผ่อนเวลาชำระหนี้ อันเป็นผลให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันต้องรับภาระผูกพันตามสัญญายาวนานขึ้นจากที่ระบุในสัญญา หากโจทก์จะให้ความช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อ ด้วยการขยายระยะเวลาชำระหนี้เสร็จสิ้นอันเป็นการผ่อนเวลาออกไปในส่วนของจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันนั้นก็ต้องอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 700 วรรคหนึ่ง คือ ต้องให้จำเลยที่ 2 ตกลงด้วยในการผ่อนเวลานั้น การที่โจทก์เพียงมีหนังสือแจ้งผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ด้วยการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ตกลงยินยอมในการขยายระยะเวลาชำระหนี้ด้วย จึงมีผลให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันไปตามบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2451

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2451/2567

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 650, 733 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84/1, 127

หนังสือสัญญาจำนองที่ดินมีข้อความว่า ถือสัญญาจำนองนี้เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินด้วยและผู้จำนองได้รับเงินเป็นการเสร็จแล้ว แม้การกู้ยืมเงินเข้าลักษณะเป็นการยืมใช้สิ้นเปลืองที่ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมตาม ป.พ.พ. มาตรา 650 วรรคสอง แต่หนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นเอกสารมหาชน ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้น เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ถึงความไม่บริบูรณ์ของการกู้ยืมเงินตามที่ปรากฏอยู่ในเอกสารขึ้นต่อสู้โจทก์ จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างจึงมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงถึงความไม่บริบูรณ์ของการกู้ยืมเงินเพื่อสนับสนุนคำให้การของตน ไม่ใช่ภาระการพิสูจน์ของฝ่ายโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 การที่โจทก์ไม่นำสืบหลักฐานการจ่ายเงินกู้ยืมให้แก่จำเลย จึงหาเป็นเหตุผลเพียงพอถึงกับจะทำให้ฟังว่าการกู้ยืมเงินไม่บริบูรณ์ไม่

โจทก์มีคำขอในส่วนของการบังคับจำนองว่า หากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์จำนอง รวมตลอดทั้งยึดและอายัดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน โดยสัญญาจำนองที่ดินไม่มีข้อตกลงว่า หากมีการบังคับชำระหนี้จากทรัพย์จำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ ลูกหนี้ผู้จำนองยังจะต้องรับผิดชำระเงินที่ยังขาดจำนวนอยู่จนครบถ้วน กรณีจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 733 ที่ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินที่ยังขาดจำนวนอยู่ โจทก์จึงไม่อาจมีคำขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2306

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2306/2567

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 3 (1) ป.ยาเสพติด ม. 90, 129, 145 วรรคสอง (1), 145 วรรคสอง (2)

แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยเพียงแต่เปิดบัญชีเงินฝากธนาคารตามคำสั่งของพวกเพื่อรับโอนเงินค่ายาเสพติด แต่ก็มีลักษณะเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำด้วยการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และในที่สุดได้ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงหาใช่เป็นเพียงความผิดฐานยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร โดยรู้หรือควรรู้ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 129 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เท่านั้นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2162

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2162/2567

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 653 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ม. 7, 8, 9

แม้จำเลยให้การรับว่าได้รับเงินโอนจากโจทก์แล้วทั้งยี่สิบครั้งและพิมพ์คำว่า "ตกลง" ในโปรแกรมไลน์ (LINE) ตามที่โจทก์ให้พิมพ์ แต่การรับของจำเลยเป็นการรับตามที่ปรากฏในฟ้องเท่านั้น จำเลยยังมีข้อต่อสู้ว่าการโอนเงินดังกล่าวไม่ใช่เป็นการกู้ยืมเงินแต่เป็นการร่วมลงทุนประกอบธุรกิจออกแบบ ค้าขายเสื้อผ้า และส่งออกหน่อไม้ในลักษณะของการตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งยังไม่มีการชำระบัญชี โจทก์จึงยังไม่สามารถฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลย หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อของจำเลยซึ่งโจทก์อ้างว่าจำเลยเป็นผู้กู้ยืมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จริงหรือไม่ เมื่อการกู้ยืมเงินครั้งที่ 1 โจทก์อ้างเพียงสำเนาเอกสารที่ธนาคารออกให้เป็นหลักฐานว่า ธนาคารได้ทำการโอนเงิน 50,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 เท่านั้น ไม่มีข้อความในเรื่องการกู้ยืมเงิน ถือว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมครั้งที่ 1 เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อจำเลยผู้กู้ยืมมาแสดง ส่วนการกู้ยืมครั้งที่ 19 และครั้งที่ 20 ไม่ปรากฏข้อความที่จำเลยพิมพ์ตอบ "ตกลง" เพื่อตกลงการกู้ยืมเงินตามที่โจทก์อ้างว่าเป็นการกู้ยืมเงินครั้งดังกล่าวแต่อย่างใด ถือว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมครั้งที่ 19 และครั้งที่ 20 เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อจำเลยผู้กู้ยืมเป็นสำคัญมาแสดง โจทก์จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีแก่จำเลยสำหรับการกู้ยืมครั้งที่ 1 ครั้งที่ 19 และครั้งที่ 20 ไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง

สำหรับการกู้ยืมเงินครั้งที่ 2 ถึงครั้งที่ 18 ซึ่งโจทก์ส่งข้อความถึงจำเลยในทำนองเดียวกันว่า "ช. จะจัดทำธุรกรรมให้ยืมเงินจำนวน (ระบุจำนวนเงิน) ให้แก่ ฐ. เพื่อใช้ลงทุนในธุรกิจ การกู้ยืมเงินนี้ไม่คิดดอกเบี้ยและยังไม่บังคับวันกำหนดชำระเงินคืน ลงวันที่… (พิมพ์ตกลงเพื่อยืนยัน)" ซึ่งจำเลยได้พิมพ์ข้อความว่า "ตกลง" ตอบกลับมาในโปรแกรมไลน์ (LINE) ซึ่งจำเลยรับว่ามีการส่งข้อความโต้ตอบเช่นนี้จริง การสนทนาทางโปรแกรมไลน์ (LINE) เป็นการส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์หรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่ออ่านข้อความสนทนาของโจทก์และจำเลยประกอบกันแล้วย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงกันโดยโจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินและจำเลยตกลงกู้ยืมเงินแต่ละครั้งตามจำนวนที่ระบุในโปรแกรมไลน์ (LINE) แม้ไม่มีการลงลายมือชื่อจำเลยไว้แต่เมื่อจำเลยยอมรับว่าส่งข้อความตอบตกลงการที่โจทก์จะให้กู้ยืมเงินจริง ข้อความสนทนาทางโปรแกรมไลน์ (LINE) จึงถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อของจำเลยผู้กู้ยืมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาตรา 7, 8, 9 โจทก์จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2567

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 289, 290, 295 วรรคสาม

ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่า คำร้องขอเพิกถอนการบังคับคดีกับคำร้องของดการบังคับคดีที่จำเลยทั้งสี่ยื่นต่อศาลชั้นต้นถือเป็นคำร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 วรรคหนึ่งและวรรคสาม ซึ่งชอบที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะงดการบังคับคดีไว้ในระหว่างศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนการบังคับคดี นั้น เมื่อพิจารณา ป.วิ.พ. มาตรา 295 วรรคสาม บัญญัติว่า "การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองอาจกระทำได้ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำร้องต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากได้ทราบเรื่องบกพร่อง ผิดพลาด หรือฝ่าฝืนกฎหมายนั้นแล้ว หรือต้องมิได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำนั้น และในกรณีเช่นว่านี้ผู้ยื่นคำร้องจะขอต่อศาลในขณะเดียวกันนั้น ให้มีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ในระหว่างวินิจฉัยชี้ขาดก็ได้" บทบัญญัติดังกล่าวในตอนท้ายอันเกี่ยวกับการที่ผู้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการบังคับคดีจะขอให้ศาลมีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ก็ได้ในระหว่างวินิจฉัยชี้ขาดคำร้อง มิได้เป็นบทบังคับศาลให้ต้องมีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ในระหว่างพิจารณาคำร้องขอเพิกถอนการบังคับคดีแต่ประการใด การพิจารณาว่าในระหว่างนั้นมีเหตุสมควรงดการบังคับคดีหรือไม่ ย่อมเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาสั่งตามดุลพินิจที่เห็นสมควรเป็นรายกรณีไป การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องของดการบังคับคดีของจำเลยทั้งสี่ว่า "ศาลได้มีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนการบังคับคดีคำร้องนี้จึงตกไปในตัว" จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นยกคำร้องของดการบังคับคดีของจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นตามที่เห็นสมควร และเมื่อศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการขายทอดตลาดไว้ตามคำขอของจำเลยทั้งสี่ ทั้งกรณีไม่ต้องด้วยเหตุใด ๆ ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะงดการบังคับคดีไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 (1) ถึง (4) กับมาตรา 290 แล้ว การบังคับคดีและขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้กระทำไปเพื่อบังคับชำระหนี้จากลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามยอมจึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีเหตุต้องเพิกถอนการขายทอดตลาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1856

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1856/2567

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 86 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 195 วรรคสอง, 225 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2550 ม. 3

พยานหลักฐานของโจทก์เมื่อรับฟังประกอบกันทั้งหมดแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยมีส่วนรู้เห็นเป็นใจและร่วมเป็นตัวการในการกระทำความผิดตามฟ้องกับ น. ด้วยการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยจำเลยทำหน้าที่ขับรถในการขนลำเลียงเมทแอมเฟตามีนให้กับ น. ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดเพียงฐานเป็นผู้สนับสนุน น. ในการกระทำความผิดตามฟ้อง แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดตามฟ้อง แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้เองและปรับบทความผิดให้ถูกต้องได้โดยลงโทษจำเลยไม่เกินกว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1855

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1855/2567

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 56, 92 ป.ยาเสพติด ม. 166

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน และโจทก์บรรยายฟ้องในส่วนของการขอเพิ่มโทษว่า ก่อนคดีนี้ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2558 จำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 2 ปี 16 เดือน 15 วัน ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1325/2558 ของศาลจังหวัดเดชอุดม จำเลยพ้นโทษคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2560 ภายในกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ จำเลยกลับมากระทำความผิดในคดีนี้อีก ขอให้เพิ่มโทษจำคุกจำเลยหนึ่งในสามตามกฎหมาย โดยแนบข้อมูลทะเบียนราษฎร และรายละเอียดข้อมูลผู้ต้องขัง กรมราชทัณฑ์ ซึ่งระบุชัดเจนทั้งชื่อและชื่อสกุลจำเลย เลขประจำตัวประชาชนจำเลย ซึ่งมีข้อมูลว่าจำเลยถูกจำคุกตามคำพิพากษาและพ้นโทษโดยปล่อยตัวเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2560 กับมีรูปถ่ายจำเลยในเอกสารดังกล่าว ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องด้วย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อหา ถือได้ว่าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องรวมถึงรับว่าจำเลยเคยต้องโทษและพ้นโทษในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษดังกล่าวด้วยแล้ว เมื่อคดีนี้ศาลจะลงโทษถึงจำคุก จึงอยู่ในเงื่อนไขที่จะเพิ่มโทษแก่จำเลยหนึ่งในสามของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดคดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 92 และเมื่อจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนเกิน 6 เดือน จึงไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษให้แก่จำเลยได้ตาม ป.อ. มาตรา 56 ที่ศาลอุทธรณ์ไม่เพิ่มโทษจำเลยและรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยจึงไม่ชอบ อย่างไรก็ตาม คดีนี้จำเลยกระทำความผิดเสพเมทแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นความผิดเพียงเล็กน้อยและคดีที่จำเลยเคยต้องโทษมาก่อนเป็นการกระทำความผิดเมื่อปี 2558 นับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 8 ปีแล้ว อีกทั้งการลงโทษจำคุกในระยะสั้นไม่น่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคม จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวโดยนำเงื่อนไขเพื่อควบคุมความประพฤติตามมาตรา 56 แห่ง ป.อ. มาใช้แทนการลงโทษจำคุกตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 166

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 282

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 282/2567

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 879 วรรคหนึ่ง

การตีความ ป.พ.พ. มาตรา 879 วรรคหนึ่ง อันเป็นบทยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยนั้น ต้องตีความโดยเคร่งครัด การที่โจทก์ขับรถยนต์ที่ทำประกันภัยไว้กับจำเลยไปจอดที่หน้าร้านค้าอื่นซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสาธารณะขนาดใหญ่ มีร้านค้าตั้งอยู่ติด ๆ กัน สภาพที่เกิดเหตุเป็นตลาดย่านการค้า โดยห่างจากร้านค้าที่โจทก์ไปติดต่อประมาณ 5 ถึง 8 เมตร ไม่มีสิ่งใดปิดบังจุดที่จอดรถยนต์อันจะเป็นช่องทางให้คนร้ายสามารถลงมือกระทำความผิดได้โดยง่ายแต่อย่างใด แล้วลงไปติดต่อซื้อของประมาณ 6 นาที ขณะจอดรถเป็นเวลากลางวัน แม้โจทก์จะวางกุญแจไว้ที่เบาะข้างคนขับด้านหน้า และไม่ล็อกประตู ก็ยังอยู่ในวิสัยที่โจทก์สามารถดูแลรักษารถยนต์ได้ การจอดรถในลักษณะดังกล่าวไม่ใช่การละทิ้งความครอบครองชั่วคราว แม้จะพอถือได้ว่าโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่ออยู่บ้าง แต่ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามกรมธรรม์ประกันภัยจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2104

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2104/2567

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 185 วรรคหนึ่ง, 215, 218 วรรคหนึ่ง, 225, 227 วรรคสอง, 227/1

โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้าย โจทก์คงมีคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกันกระทำผิดด้วยกัน แต่ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายบังคับโดยเด็ดขาดห้ามมิให้รับฟังคำซัดทอดนั้นและข้อเท็จจริงตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ก็เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 บอกเล่าถึงความเป็นไปในการกระทำความผิด มิใช่กระทำไปโดยมุ่งต่อผลเพื่อให้จำเลยที่ 1 พ้นผิดแล้วให้จำเลยที่ 2 รับผิดเพียงลำพัง คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 จึงรับฟังได้ แต่อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานบอกเล่า พยานซัดทอด หรือพยานที่จำเลยไม่มีโอกาสถามค้านนั้น ศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง สำหรับคดีนี้โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นถึงพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีและไม่มีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุนคำซัดทอดของจำเลยที่ 1 แม้โจทก์มีพันตำรวจโท พ. พนักงานสอบสวน เบิกความว่า ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพก็ตาม แต่คำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวมิใช่พยานหลักฐานที่มีแหล่งที่มาเป็นอิสระต่างหากจากคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ทั้งไม่มีคุณค่าเชิงพิสูจน์ที่สามารถสนับสนุนให้คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย อันถือว่าเป็นพยานหลักฐานประกอบอื่นตามความหมายของพยานหลักฐานประกอบที่บัญญัติไว้ในมาตรา 227/1 วรรคสอง กรณีจึงไม่ใช่พยานหลักฐานประกอบอื่นที่สนับสนุนให้คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 มีน้ำหนักรับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ เมื่อโจทก์ไม่มีพยานบุคคลอื่นมานำสืบเกี่ยวกับการร่วมกันกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 อีก เช่นนี้ คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีเหตุผลอันหนักแน่น ไม่อาจนำมารับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ขับรถยนต์ของกลางให้จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้ตายถึงแก่ความตายหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง

เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์เป็นที่สงสัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ขับรถยนต์ของกลางให้จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้ตายถึงแก่ความตายดังวินิจฉัยข้างต้นแล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แม้ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกฟ้องในความผิดสองฐานนั้นได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน

« »