กฎหมายฎีกา ปี 2537
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7422/2537
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดการจ่ายค่าทดแทน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2525
การที่มือขวาของลูกจ้างสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน ถือว่าเป็นการสูญเสียมือขวานั้นด้วยที่โจทก์ต้องจ่ายค่าทดแทนตามข้อ 54(2) และข้อ 54 วรรคสองแห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อ 2 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 9)ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2525 โดยจ่ายตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดการจ่ายค่าทดแทน(ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2525 และกรณีสูญเสียมือขวาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นกรณีเดียวกันกับมือขาดในข้อ 1(3) ข้อ 3(3) และ(8) ซึ่งมีระยะเวลาจ่ายค่าทดแทนสามปีห้าเดือน ส่วนข้อ 1(16) ใช้บังคับแก่กรณีสูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะส่วนอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (15) เมื่อข้อ 1(3) ได้กำหนดไว้เฉพาะกรณีสูญเสียมือแล้ว การสูญเสียมือขวาของลูกจ้างโจทก์จึงอยู่ในความหมายของข้อ 1(3) ดังกล่าว หาใช่อยู่ในความหมายของการสูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะส่วนอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (15) ที่มีระยะเวลาจ่ายค่าทดแทนไม่เกินห้าปี ตาม (15) ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7495/2537
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 177 วรรคสอง, 243 (1) พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 153
จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องฟ้องโจทก์เคลือบคลุมจำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องโจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามหนี้จากโจทก์และจำเลยมิได้เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวก็ตามแต่ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์เกินกว่า500,000บาทหรือไม่และจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ก็ได้วินิจฉัยรวมถึงประเด็นที่จำเลยได้ให้การต่อสู้ไว้แล้วยกเว้นในประเด็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่และฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ที่มิได้วินิจฉัยแต่เมื่อจำเลยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่าการที่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวเป็นการไม่ชอบก็ถือได้ว่าจำเลยไม่ติดใจในข้อนี้แล้วดังนี้แม้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ไม่มีเหตุอันสมควรที่ศาลอุทธรณ์จะยกขึ้นวินิจฉัยและย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยคดีไปตามประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7484/2537
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 880, 1259 (1)
นายทะเบียนบริษัทแห่งประเทศอังกฤษและเวลส์ได้จำหน่ายชื่อบริษัทโจทก์ออกทะเบียนเมื่อวันที่ 29 กันยายน2530 ตามมาตรา 652(5) แห่งพระราชบัญญัติบริษัทค.ศ.1958และได้เลิกบริษัทไปโดยลงแจ้งความในราชกิจจานุเบกษาแห่งกรุงลอนดอนเมื่อวันที่20ตุลาคม2530และมีบริษัทส.เป็นผู้ชำระบัญชี แต่ผู้ชำระบัญชีมิได้เข้ามาว่าต่างในนามของโจทก์ในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1259(1) อีกทั้งบริษัท อ. ซึ่งได้รับประกันภัยสินค้าของโจทก์และเป็นตัวแทนของโจทก์ก็ยังมีสิทธิในหนี้รายนี้อยู่เพราะได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ไปแล้วหลังจากที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ บริษัท อ. ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องเรียกเอาจำนวนเงินที่จ่ายให้แก่โจทก์จากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 880 วรรคแรก โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยรับผิดชำระหนี้รายนี้ได้อีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7475/2537
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1382, 1387, 1388, 1401
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 และ 1388 เพ่งเล็งถึงความสำคัญของที่ดินที่เป็นสามยทรัพย์และภารยทรัพย์ ไม่ใช่ตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 24324 มาจาก ส. เมื่อวันที่ 25สิงหาคม 2520 จนถึงวันที่ ส. ขายที่พิพาทให้แก่จำเลยทั้งสามเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2529 เป็นระยะเวลาเพียง 8 ปีเศษ แต่หลังจากนั้นโจทก์ยังคงใช้ทางเดินในที่พิพาทติดต่อมาในช่วงที่จำเลยทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทอีก 2 ปีเศษถือได้ว่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของจำเลยทั้งสามมีทางเดินเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินแปลงของโจทก์มาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ย่อมเกิดภารจำยอมโดยอายุความได้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1401
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7473/2537
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 850, 1546, 1566, 1567 (1)
โจทก์จำเลยซึ่งอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสได้ตกลงแยกกันอยู่และร่วมกันทำบันทึกข้อตกลงผลัดกันดูแลบุตรผู้เยาว์ โจทก์ซึ่งมิได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ในฐานะที่เป็นบิดาของบุตรผู้เยาว์ ข้อพิพาทอันเกี่ยวกับการปกครองดูแลบุตรผู้เยาว์ระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมไม่มี จึงไม่อาจทำบันทึกข้อตกลงเพื่อระงับข้อพิพาทอันเกี่ยวกับบุตรผู้เยาว์ได้บันทึกข้อตกลงดังกล่าวไม่มีผลเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 โจทก์ไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7420/2537
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 575, 583 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 13, 34 (1), 52, 123 (4), 123 (5)
ลูกจ้างมีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานให้แก่นายจ้างตามสัญญาจ้างการที่นายจ้างยังไม่ได้ประกาศจ่ายเงินโบนัสแก่ลูกจ้าง ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดให้สิทธิแก่ลูกจ้างในการที่จะประท้วงด้วยการหยุดงาน การประท้วงหยุดงานของลูกจ้างจึงเป็นการผิดสัญญาจ้าง ถือได้ว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7417/2537
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1382 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 145 (2)
คำขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลที่สั่งว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ พอจะแปลความหมายได้ว่าโจทก์ประสงค์ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลยขอให้คำสั่งดังกล่าวไม่ผูกพันโจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382ตามที่อ้าง จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลยกรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จะขอให้คำสั่งดังกล่าวไม่ผูกพันโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7452/2537
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1727 วรรคแรก
ตามคำร้องขอจัดการมรดกระบุว่า ทรัพย์มรดกของ ท.เจ้ามรดกที่ยังมิได้จัดการมีเพียงที่ดิน 5 แปลง การที่ศาลสั่งตั้งผู้ร้องและผู้จัดการมรดกร่วมทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของ ท.ก็เพื่อจะจัดการทรัพย์มรดกคือที่ดินทั้ง 5 แปลงดังกล่าว โดยเฉพาะเมื่อผู้คัดค้านทั้งสองอ้างว่ามีพันธบัตรรัฐบาลอีก 6 ฉบับ เป็นทรัพย์มรดกของท. ซึ่งผู้คัดค้านทั้งสองมีส่วนแบ่งในฐานะทายาทอยู่ด้วย ผู้คัดค้านทั้งสองก็ชอบที่จะไปว่า กล่าวเอาแก่ทายาทของท.เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก มิใช่เหตุที่จะมาร้องขอถอนผู้จัดการมรดกคดีนี้ ซึ่งไม่มีประเด็นข้อพิพาทให้วินิจฉัยว่า พันธบัตรรัฐบาลดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกด้วยหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฎว่า ผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินทรัพย์มรดกทั้ง5 แปลงให้แก่ทายาทของเจ้ามรดกไปหมดแล้วเมื่อปี 2529ถือว่าการจัดการมรดกเสร็จสิ้นลงแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 วรรคแรก การที่ผู้คัดค้านทั้งสองมายื่นคำร้องขอถอนผู้จัดการมรดกร่วมทั้งสองเมื่อปี 2532จึงไม่อาจกระทำได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7443/2537
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2517 ม. 30, 33, 34, 38
ตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517มาตรา 33 และ 34 ผู้มีส่วนได้เสียต้องคัดค้านเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินต่อคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัด ถ้าไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางคือ กรณีของโจทก์ปรากฎว่านางสมบูรณ์ภรรยาโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ไปคัดค้าน เมื่อหัวหน้าหน่วยรังวัดจัดรูปที่ดินแก้ไขจัดรูปที่ดินให้ใหม่ โจทก์ก็มิได้ดำเนินการอย่างใดต่อไปอีก การคัดค้านดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการคัดค้านต่อคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดหรือถ้าจะถือว่าเป็นการคัดค้านต่อคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดแต่เมื่อมีการแก้ไขให้โจทก์ได้รับที่ดินเพิ่มขึ้นโจทก์ก็มิได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางแต่อย่างใดคงปล่อยให้มีการออกโฉนดที่ดินใหม่ในที่ดินที่อยู่ในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน โดยโจทก์ได้รับที่ดินเนื้อที่ 17 ไร่เศษจำเลยที่ 2 ได้รับ 10 ไร่เศษ หลังจากได้รับโฉนดที่ดินมาแล้วโจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้อง จึงได้คัดค้านขอให้แก้ไขโฉนดที่ดินให้ถูกต้อง กรณีเช่นนี้มิใช่เป็นการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดต่อคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางแต่อย่างใด เมื่อโจทก์มิได้คัดค้านการจัดรูปที่ดินให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย กลับปล่อยให้มีการดำเนินการจนกระทั่งออกโฉนดที่ดิน และเนื่องจากการจัดรูปที่ดินมีผลทำให้สิทธิครอบครองของโจทก์ในที่ดินเดิมเปลี่ยนไปเพราะมาตรา 30 และ 38ให้อำนาจคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจัดที่ดินใหม่โดยให้เจ้าของที่ดินเดิมได้รับที่ดินแปลงเดิมหรือที่ดินแปลงเดิมบางส่วนหรือได้รับที่ดินแปลงใหม่ก็ได้ ดังนั้นเมื่อทางราชการจัดที่ดินให้โจทก์ใหม่เนื้อที่ 17 ไร่ 3.8 ตารางวา การครอบครองของโจทก์ย่อมเปลี่ยนไปตามที่ทางการจัดรูปที่ดินให้ใหม่ที่พิพาทเนื้อที่ 2 ไร่เศษอยู่ในโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 2ตามที่ทางราชการจัดให้ใหม่ ย่อมทำให้โจทก์หมดสิทธิครอบครองที่พิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7439/2537
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/29 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 142 (5), 225, 249
ปัญหาเรื่องอายุความไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อจำเลยมิได้ยกปัญหานี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของจำเลยจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง อำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยมิได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นมากล่าวในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ จำเลยก็มีสิทธิยกปัญหานี้ขึ้นฎีกาได้ การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทของโจทก์และให้ใช้ค่าเสียหายมาด้วยนั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โจทก์ต้องบอกกล่าวจำเลยก่อนฟ้อง แต่อย่างใด แม้โจทก์มิได้บอกกล่าวจำเลยก่อนฟ้อง โจทก์ก็มีอำนาจฟ้อง