กฎหมายฎีกา ปี 2539
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6809/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 862, 879
ตามสำเนาตารางกรมธรรม์ระบุว่าสัญญาประกันภัยรายนี้จำเลยที่2เป็นผู้เอาประกันภัยและป. เป็นผู้รับประโยชน์จำเลยที่1จึงไม่ได้เป็นผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์อันจะทำให้จำเลยที่3ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดหากวินาศภัยได้เกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้างแรงของจำเลยที่1ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา879และจะแปลความหมายของคำว่าผู้เอาประกันภัยตามมาตรา879วรรคหนึ่งรวมถึงลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยด้วยก็ขัดกับคำนิยามของคำว่า"ผู้เอาประกันภัย"ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา862อีกทั้งตามตารางกรมธรรม์ดังกล่าวปรากฎว่ามีข้อยกเว้นที่ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยข้อ2.3คือความรับผิดเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกไว้หลายประการแต่ไม่มีกรณีที่ลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงงานอยู่ด้วยจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่1ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่เพราะเมื่อไม่มีข้อยกเว้นที่จำเลยที่3ไม่ต้องรับผิดทั้งตามบทบัญญัติของกฎหมายและตามสัญญาประกันภัยจำเลยที่3ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามตารางกรมธรรม์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6779/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 329
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา329ในกรณีที่ลูกหนี้มีหนี้รายเดียวแต่ว่ามีทั้งหนี้ประธานและหนี้อุปกรณ์เมื่อลูกหนี้ชำระหนี้โดยไม่สามารถชำระหนี้ได้ทั้งหมดจะต้องจัดสรรชำระหนี้อุปกรณ์ก่อนเมื่อตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลและใบเสร็จรับเงินมิได้ระบุให้จัดใช้เป็นการชำระหนี้ต้นเงินอันเป็นหนี้ประธานก่อนจึงต้องเอาเงินจำนวนดังกล่าวจัดใช้หนี้ดอกเบี้ยอันเป็นหนี้อุปกรณ์ก่อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1456/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 213 วรรคสอง, 1364
โจทก์ฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมการที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยเพื่อทำการรังวัดแบ่งแยกนั้นขัดต่อคำพิพากษาที่ว่าหากการรังวัดแบ่งแยกไม่อาจทำได้ให้ขายเอาเงินแบ่งกันและขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1364ศาลฎีกาพิพากษาให้ยกคำขอในส่วนที่ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2621/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1754
อายุความตามมาตรา1754ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นอายุความห้ามฟ้องคดีมรดกหรือคดีที่เจ้าหนี้ขอบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดกส่วนคดีที่เจ้ามรดกเป็นเจ้าหนี้มิได้กำหนดอายุความไว้เป็นพิเศษในมาตรา1754เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นทายาทและเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินกู้ที่จำเลยทั้งสองกู้ยืมผู้ตายไปแม้โจทก์จะฟ้องเมื่อพ้นกำหนด1ปีนับแต่เจ้ามรดกตายคดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความเพราะคดีนี้ไม่ได้เป็นคดีมรดกหรือเป็นคดีที่เจ้าหนี้ขอบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดกไม่ตกอยู่ในบังคับมาตรา1754
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 892/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ.2499 ม. 5, 6
จำเลยทำสัญญากับโจทก์เพื่อประกันผู้ถูกสั่งเนรเทศที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ออกคำสั่งให้เนรเทศตามพระราชบัญญัติการเนรเทศพ.ศ.2499มาตรา6วรรคหนึ่งซึ่งอยู่ในความควบคุมของโจทก์จนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งให้เนรเทศเมื่อจำเลยทำสัญญาประกันไว้ต่อโจทก์ผู้มีอำนาจควบคุมผู้ถูกเนรเทศสัญญาประกันจึงใช้บังคับได้การที่จำเลยผิดสัญญาไม่ส่งตัวผู้เนรเทศให้แก่โจทก์ตามนัดโจทก์จึงฟ้องบังคับจำเลยตามสัญญาประกันได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6657/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 453, 1299, 1375, 1562 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249
ฎีกาจำเลยที่1ที่ว่าโจทก์ต้องฟ้องคดีภายใน1ปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองนั้นจำเลยที่1ไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่ง ฎีกาจำเลยทั้งสองว่าจำเลยที่2รับโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริตมีค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริตโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองการที่จำเลยที่1ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในนามของจำเลยที่1ก็ไม่ทำให้จำเลยที่1เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อจำเลยที่1ไม่มีสิทธิที่จะโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่2ได้แล้วจำเลยที่2ผู้รับโอนก็ไม่มีสิทธิดีไปกว่าจำเลยที่1แม้จำเลยที่2จะรับซื้อไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็ตามจำเลยที่2ก็ไม่ได้สิทธิในที่ดินพิพาท ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1562เป็นบทบัญญัติตัดสิทธิห้ามมิให้ฟ้องบุพการีของตนจึงต้องแปลความโดยเคร่งครัดดังนั้นแม้ผู้รับมอบอำนาจโจทก์จะเป็นบุตรของจำเลยที่1แต่ก็ไม่ได้ฟ้องในฐานะส่วนตัวจึงไม่ต้องห้ามตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9538/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 174 (2), 246
เมื่อวันที่5ตุลาคม2537ทนายโจทก์มอบฉันทะให้อ.เสมียนทนายนำอุทธรณ์ของโจทก์มายื่นต่อศาลชั้นต้นและให้ทำคำแถลงชำระค่าธรรมเนียมและรับทราบคำสั่งศาลแทนเจ้าหน้าที่งานอุทธรณ์ฎีกาได้ใช้ตรายางประทับไว้ที่ริมซ้ายของอุทธรณ์ว่าให้มาทราบคำสั่งในวันที่12ตุลาคม2537ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้วและอ.เสมียนทนายลงชื่อไว้แล้วต่อมาวันที่6ตุลาคม2537อ.ได้ไปวางเงินเป็นค่านำหมายคำฟ้องอุทธรณ์แก่จำเลยทั้งสามไว้ล่วงหน้าเจ้าหน้าที่ผู้รับเงินได้ลงลายมือชื่อรับเงินและประทับตรายางวันเดือนปีไว้ตามเอกสารท้ายฎีกาของโจทก์การที่เจ้าหน้าที่รายงานเสนอต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่15พฤศจิกายน2537ว่าศาลได้ส่งหมายนัดมาเมื่อวันที่17ตุลาคม2537บัดนี้พ้นกำหนดระยะเวลาในการนำหมายแล้วโจทก์หรือผู้แทนโจทก์ไม่มาเสียค่าธรรมเนียมในการส่งนั้นซึ่งไม่ตรงกับความจริงคงเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ไม่ได้ตรวจสอบให้รอบคอบเกี่ยวกับผู้แทนโจทก์ได้เสียค่าธรรมเนียมในการส่งหมายนัดนำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ทั้งสามไว้ล่วงหน้าแล้วก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ถึง1วันดังนี้จะถือว่าโจทก์มิได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยทั้งสามตามคำสั่งศาลชั้นต้นเป็นการเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดอันจะถือว่าโจทก์ทิ้งอุทธรณ์ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาหาได้ไม่ศาลฎีกาให้ศาลชั้นต้นดำเนินการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยทั้งสามแล้วดำเนินการต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9513/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 65, 800, 801 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 47, 55
แม้ขณะฟ้องโจทก์ได้เปลี่ยนชื่อจากบริษัทอ. เป็นบริษัทท. แล้วก็ตามแต่การที่โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลเปลี่ยนชื่อใหม่เช่นนั้นก็ไม่ทำให้ความเป็นนิติบุคคลของโจทก์สิ้นสุดลงโจทก์ยังคงเป็นนิติบุคคลมีตัวตนอยู่เช่นเดิมต่อไปและไม่ว่าโจทก์จะทำนิติกรรมในชื่อเดิมหรือชื่อที่เปลี่ยนใหม่แล้วก็ตามก็เป็นการทำนิติกรรมโดยนิติบุคคลคนเดียวกันนั้นเองการทำนิติกรรมในชื่อเดิมของโจทก์หลังจากที่โจทก์ได้เปลี่ยนชื่อใหม่แล้วนั้นไม่มีผลให้เป็นการทำนิติกรรมโดยสิ่งที่ไม่มีตัวตนเป็นนิติบุคคลดังนั้นแม้การมอบอำนาจให้ฟ้องและดำเนินคดีนี้แทนโจทก์เป็นการมอบอำนาจภายหลังจากที่โจทก์ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นบริษัทท. แล้วโจทก์ก็ยังมอบอำนาจในชื่อเดิมของโจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9503/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1673, 1696
การโอนไปโดยสมบูรณ์ซึ่งทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรมอันจะทำให้ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นเป็นอันเพิกถอนไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1696 วรรคหนึ่ง หมายถึงการโอนทรัพย์สินที่ยังมีผลอยู่ในขณะที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย เมื่อ ฟ. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทตาม น.ส.3 เลขที่ 182 ให้แก่ น. และเลขที่ 206 ให้แก่ น. กับโจทก์ที่ 8 แล้ว แม้ต่อมา ฟ.ได้จดทะเบียนยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่ น. โดยเสน่หาแต่หลังจากนั้น ฟ. ก็ได้ฟ้องขอถอนคืนการให้และขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาท คดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกลับคืนมาเป็นของ ฟ. จึงถือไม่ได้ว่า ฟ. ได้โอนไปโดยสมบูรณ์ซึ่งทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรม ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นจึงหาเป็นอันเพิกถอนไปไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6638/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 237 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249
จำเลยที่2ทราบว่าจำเลยที่1เป็นหนี้โจทก์มาก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยที่1เป็นคดีแพ่งต่อศาลชั้นต้นดังนั้นการที่จำเลยที่1โอนขายที่ดินของตนพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่2นั้นจำเลยที่2ย่อมทราบแล้วว่าจำเลยที่1เป็นหนี้โจทก์และปรากฏว่าจำเลยที่1มีที่ดินเพียงแปลงเดียวดังกล่าวจำเลยที่1จึงไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาได้การกระทำของจำเลยที่1และที่2ทำให้โจทก์เสียเปรียบโจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินระหว่างจำเลยที่1และที่2ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา237 ฎีกาของจำเลยที่1ที่ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่2เพราะขณะยื่นฟ้องจำเลยที่2อยู่ต่างประเทศนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัวจำเลยที่2โดยจำเลยที่2ไม่ได้มาต่อสู้คดีนี้ศาลจึงไม่รับวินิจฉัย