กฎหมายฎีกา ปี 2542
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8943/2542
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 1 (4) พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2477 ม. 8 ทวิ, 72 ทวิ
การที่จำเลยพาอาวุธปืนติดตัวอยู่ในขณะกำลังยืนจัดเตรียมผักเพื่อจะขายบริเวณเพิงหน้าบ้านของตน ซึ่งถือว่าเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยจึงไม่เป็นความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง และ 72 ทวิ วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 552/2542
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 56
จำเลยทำผิดฐานรับของโจร เมื่อปรากฏตามคำแถลงของผู้เสียหายว่า จำเลยเป็นญาติกับผู้เสียหาย แสดงว่าเป็นเรื่องภายในเครือญาติกัน พฤติการณ์แห่งคดีจึงมิใช่เรื่องร้ายแรงและผู้เสียหายแถลงว่าได้รับทรัพย์ของกลางคืนแล้ว จึงไม่ติดใจเอาความแก่จำเลย อีกทั้งจำเลยเป็นหญิงอายุมากถึง 59 ปีแล้วและไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงมีเหตุอันควรปรานี สมควรกำหนดโทษและรอการลงโทษจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3925/2542
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. ตาราง 6
ฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหาย เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมอยู่ด้วยกัน การกำหนดค่าทนายความต้องถือเอาค่าทนายความในอัตราที่สูงกว่าเป็นหลัก เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ 24,500 บาท ซึ่งมีอัตราค่าทนายความชั้นสูงในศาลอุทธรณ์ 600 บาทแต่ในส่วนคดีไม่มีทุนทรัพย์มีอัตราค่าทนายความชั้นสูงในศาลอุทธรณ์ 1,500 บาท ดังนั้นต้องถือเอาอัตราค่าทนายความที่สูงกว่ามาใช้บังคับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 360/2542
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 69 (2), 70, 78 (1)
การค้นในคดีนี้เป็นการค้นเพื่อพบและยึดยาเสพติดซึ่งเป็น สิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดตามที่ได้รับแจ้งจากสายลับ การออกหมายค้นจึงกระทำได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 69(2) และไม่จำต้องออกหมายจับบุคคลตามมาตรา 70 ด้วย เมื่อตรวจค้นแล้วพบว่าจำเลยมีเฮโรอีนและเมทแอมเฟตามีนไว้ใน ครอบครอง ซึ่งเป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าพนักงานตำรวจจึงมี อำนาจจับจำเลยได้ตามมาตรา 78(1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 590/2542
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 218 วรรคหนึ่ง
เมื่อศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 5 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสี่คงจำคุก 3 ปี 9 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและยังลงโทษจำเลยไม่เกินห้าปีต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งจำเลยฎีกาว่าพยานโจทก์เป็นพิรุธไม่พอฟังลงโทษ อันเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5023/2542
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 223 ทวิ
การที่ศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาเพียงว่าสำเนาให้จำเลยโดยให้ส่งไปพร้อมกับสำเนาอุทธรณ์ อนุญาตให้ปิด จำเลยจะคัดค้านประการใดให้ยื่นเข้ามาพร้อมระยะเวลายื่นคำแก้อุทธรณ์ มิฉะนั้นถือว่าไม่ติดใจคัดค้านและสั่งในอุทธรณ์ว่า รับอุทธรณ์ของโจทก์ ให้ผู้อุทธรณ์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้อีกฝ่ายแก้ไม่มีผู้รับให้ปิดนั้น เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นยังมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาแต่การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์และได้ส่งสำนวนมาศาลฎีกาพออนุโลมได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่งแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9412/2542
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1646, 1647, 1656
นอกจากหัวข้อด้านบนจะระบุว่าพินัยกรรมแล้ว ยังมีข้อความต่อไปว่า "ข้าพเจ้า อ. ขอแสดงเจตนาเพื่อทำพินัยกรรมขึ้นไว้ดังต่อไปนี้ที่ดินตาม ข้าพเจ้าขอยกให้แก่ แต่เพียงผู้เดียว" และ "ข้อกำหนดพินัยกรรมนี้เป็นไปตามเจตนาของข้าพเจ้าทุกประการ" บุคคลทั่วไปย่อมเข้าใจได้ว่าอ. มีเจตนาจะยกทรัพย์สมบัติให้แก่ผู้มีชื่อในพินัยกรรมนั้น เมื่อ อ. ตายหาใช่มีเจตนายกให้ขณะยังมีชีวิตอยู่ไม่ ทั้งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายคำว่า "พินัยกรรม" ไว้ว่า"เอกสารแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินหรือในการต่าง ๆอันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตาย" ถือได้ว่าอ. ได้กำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนไว้แล้ว
บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646มิใช่แบบของพินัยกรรมที่บังคับให้ต้องระบุข้อความกำหนดการเผื่อตายโดยต้องมีคำว่า "เผื่อตาย" ระบุไว้โดยชัดแจ้ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9336/2542
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 307 วรรคสอง
ป.วิ.พ. มาตรา 307 วรรคสอง ได้บัญญัติเพิ่มเติมขึ้นตาม พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.พ. (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. 2542 เป็นต้นไป ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2542 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่บทบัญญัติวรรคสองแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 307 มีผลบังคับใช้ ดังนั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดังกล่าวจึงถึงที่สุดแล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 มา ก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3349/2542
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 194, 845
โจทก์จัดหาผู้ซื้อมาทำสัญญาซื้อขายกับจำเลย โดยจำเลยให้ค่าบริการแก่โจทก์ร้อยละ 1.5 ของยอดขายตามสัญญา คิดเป็นเงิน 7,470,604.95 บาท ตกลงแบ่งชำระเป็น 3 งวด ดังนั้น เมื่อจำเลยชำระเงินให้โจทก์เพียงงวดเดียว จำเลยจึงต้องรับผิดชำระงวดที่สองและงวดที่สามที่เหลือ แม้ต่อมาผู้ขายจะตกลงเปลี่ยนแปลงสัญญากับ ผู้ซื้อใหม่โดยลดยอดขายลงก็ตาม ก็ไม่ทำให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิดที่จะต้องชำระเงินจนครบ เพราะถือว่าได้มีการทำสัญญาซื้อขายกันเป็นผลสำเร็จเนื่องจากการที่โจทก์ชี้ช่องหรือจัดการแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8410/2542
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 218
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7)(8) วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 80 มาตรา 365(2)(3) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 335(1)(7)(8) วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 80 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุกคนละ 3 ปี ริบของกลาง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365(2)(3) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 2 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์เพียงแต่ปรับบทกฎหมายลงโทษจำเลยทั้งสองให้ถูกต้องเท่านั้น จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละไม่เกิน 5 ปี ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง