คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2543

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 750

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 750/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 317 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 218

การที่จำเลยมาพบผู้เสียหายเนื่องจากผู้เสียหายนัดให้จำเลยมาพบเพื่อให้จำเลยนำเสื้อมาให้ จำเลยพาผู้เสียหายไปที่ห้องเช่าของจำเลยก็เพื่อธุระของผู้เสียหายเอง หลังจากได้เสื้อแล้วที่จำเลยให้ผู้เสียหายรออยู่ที่ห้องก็สืบเนื่องมาจากผู้เสียหายไปโรงเรียนไม่ทันซึ่งผู้เสียหายก็เต็มใจที่จะรออยู่ที่ห้องจำเลยเพื่อไปโรงเรียนเวลาเที่ยงตอนจำเลยไปเอาหนังสือการ์ตูนที่บ้านเพื่อนจำเลย ผู้เสียหายเป็นฝ่ายขอตามจำเลยไปด้วย จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายชักชวนให้ผู้เสียหายไปกับจำเลยการที่จำเลยพาผู้เสียหายกลับมาที่ห้องจำเลยอีกก็เพื่อให้ผู้เสียหายไปโรงเรียนตอนเที่ยงตามที่ผู้เสียหายบอกตามพฤติการณ์แห่งคดียังไม่พอฟังว่าจำเลยมีเจตนาพรากผู้เสียหายไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควร แม้ต่อมาจำเลยจะกระทำชำเราผู้เสียหายและจำเลยจะให้การรับสารภาพ แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดในความผิดฐานพรากผู้เยาว์ ศาลไม่อาจลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185 วรรคหนึ่ง

ความผิดฐานกระทำชำเรา ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย 5 ปีศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นลงโทษจำคุก 2 ปี เป็นการแก้ไขเฉพาะ โทษมิได้แก้บทกฎหมายด้วย จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย โจทก์ฎีกา ขอให้ลงโทษหนักขึ้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 649

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 649/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 68

ผู้ตายให้ผู้เสียหายจอดรถจักรยานยนต์กลางสะพาน แล้วผู้ตายยืนดักคอยจำเลย เมื่อจำเลยขับรถจักรยานยนต์มาถึง ผู้ตายถีบรถจักรยานยนต์จนล้มลงและเข้าชกต่อยจำเลย ขณะนั้นเป็นเวลาวิกาล เมื่อจำเลยถูกทำร้ายโดยไม่ทราบสาเหตุในลักษณะจู่โจมและเกิดขึ้นโดยทันที ทำให้จำเลยเข้าใจว่าผู้ตายกับผู้เสียหาย อาจดักรอชิงรถจักรยานยนต์หรืออาจประสงค์ร้ายต่อภรรยาจำเลยที่นั่งซ้อนท้ายมาจำเลยมีรูปร่างเล็กมากไม่มีทางสู้แรงปะทะของผู้ตายและผู้เสียหายหรือหนี รอดพ้นได้การที่จำเลยซึ่งมีอาชีพเป็นพ่อครัวใช้มีดทำครัวที่พกติดตัวเป็น อาวุธแทงผู้ตายเพียง 1 ที แต่บังเอิญไปถูกอวัยวะสำคัญ ผู้ตายจึงถึงแก่ความตาย และเมื่อผู้เสียหายเข้ามาถีบจำเลย จำเลยย่อมเข้าใจว่าผู้เสียหายได้เข้าช่วย รุมทำร้ายจำเลย จำเลยจึงใช้อาวุธมีดดังกล่าวแทงผู้เสียหายเพียง 1 ทีเช่นกัน การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 641

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 641/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 56, 288, 295 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 วรรคท้าย

แม้ฟ้องโจทก์จะไม่ได้ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 มาด้วย แต่ได้บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยกับพวกว่าร่วมกันใช้อาวุธปืนตีทำร้ายร่างกายผู้ตาย และร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายโดยเจตนาฆ่า ในลักษณะต่อเนื่องเป็นกรรมเดียวกันกับที่พวกของจำเลยมาเอาอาวุธปืนของจำเลยยิงผู้ตาย การกระทำของจำเลยที่ใช้อาวุธปืนตีทำร้ายผู้ตายจึงเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำที่รวมอยู่ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาได้ความว่าพวกของจำเลยยิงผู้ตายโดยลำพังซึ่งเป็นคนละตอนกับที่จำเลยทำร้ายผู้ตายก็ตาม แต่การที่จำเลยทำร้ายผู้ตายก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำที่รวมอยู่ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายผู้ตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ตามที่พิจารณาได้ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้ายได้

พฤติการณ์ที่จำเลยก่อเหตุทะเลาะวิวาทกับผู้ตายและใช้อาวุธปืนที่เตรียมไปตีทำร้ายผู้ตายแล้วพวกของจำเลยที่ไปด้วยกันยังใช้อาวุธปืนที่จำเลยนำไปด้วยนั้นยิงผู้ตายจนถึงแก่ความตาย กรณีจึงยังไม่สมควรรอการลงโทษให้จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 477

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 477/2543

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ม. 19

ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายเวลาอุทธรณ์โดยอ้างว่ายังไม่ได้รับอนุมัติเบิกจ่ายค่าฤชาธรรมเนียมในการอุทธรณ์จากจำเลย เนื่องจากกรรมการบริษัทจำเลยล้มป่วยลงหลังจากเดินทางกลับจากต่างประเทศไม่สามารถเดินทางไปทำงานที่บริษัทจำเลยได้ ข้ออ้างดังกล่าวมิใช่เหตุจำเป็นที่จะสมควรขยายเวลาให้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 19 เพราะกรรมการบริษัทจำเลยมี 2 คน ซึ่งกรรมการหนึ่งคนสามารถลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญบริษัทจำเลย และมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยได้ ซึ่งตามคำร้องของจำเลยไม่ปรากฏว่ากรรมการบริษัทจำเลยป่วยทั้ง 2 คน การที่กรรมการบริษัทจำเลยที่เหลืออยู่ไม่นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมไปมอบให้แก่ทนายจำเลย จึงเป็นกรณีที่จำเลยไม่ขวนขวายนำเงินค่าฤชาธรรมเนียม ในการอุทธรณ์ไปวางศาลภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 476

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 476/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 6 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 วรรคสอง พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ม. 53, 63, 109, 110

ตามคำฟ้องโจทก์ได้ติดรูปเครื่องหมายการค้าที่อ้างว่าจำเลยใช้กับกางเกงยีนของกลางอันเป็นเครื่องหมายการค้าซึ่งเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมเข้ามาด้วยถึงแม้รูปเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ติดมาในฟ้องจะไม่ชัดเจนในรายละเอียด แต่ก็ยังเห็นได้ถึงลักษณะโครงสร้างที่เป็นสาระสำคัญได้ ซึ่งในชั้นพิจารณาโจทก์และโจทก์ร่วมย่อมสามารถนำสืบโดยเสนอเครื่องหมายการค้าที่อ้างว่าจำเลยใช้กับกางเกงยีนซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าที่เลียนแบบตามฟ้องได้ว่าคือเครื่องหมายการค้าตามภาพถ่ายกางเกงยีนของกลางเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าแบบเดียวกับเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย ล.3 กรณีจึงไม่ใช่เรื่องข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวมาในฟ้อง

เป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ใช้กับกางเกงยีนของกลาง แม้ว่าพิจารณาโดยรวมแล้วมีส่วนที่แตกต่างจากอันเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมก็ตาม แต่เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมสาระสำคัญอยู่ที่เสียงเรียกขาน คำว่า CANTONAส่วนเครื่องหมายการค้าซึ่งใช้ติดกางเกงยีนก็มีตัวอักษรโรมันคำว่า CANTONA และออกเสียงเรียกขานว่า คันโตนา เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม นอกจากนี้แถบผ้าแสดงขนาดของกางเกงยีนของจำเลยก็ปักอักษรโรมันคำว่า CANTONA แสดงว่าตัวอักษรโรมันคำว่า CANTONA เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าซึ่งติดอยู่กับกางเกงยีนเช่นกัน มิใช่เป็นเพียงส่วนประกอบ ทั้งตัวอักษรโรมันคำว่า CANTONAเป็นคำเฉพาะ ไม่ใช่คำสามัญที่มีความหมายธรรมดาทั่ว ๆ ไป เมื่อเครื่องหมายการค้าที่ติดกับกางเกงยีนของจำเลยมีตัวอักษรโรมันคำว่า CANTONA เป็นสาระสำคัญแล้วแม้ตัวอักษรโรมันคำว่า CANTONA ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมมีลักษณะเป็นอักษรประดิษฐ์ซึ่งต่างจากตัวอักษรโรมันในเครื่องหมายการค้าที่ติดกับกางเกงยีนของจำเลยซึ่งเขียนด้วยตัวพิมพ์ธรรมดาก็ถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม

เครื่องหมายการค้าซึ่งติดอยู่กับกางเกงยีนของกลางนั้น มีสาระสำคัญอยู่ที่คำว่า CANTONA เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม การที่เครื่องหมายการค้าซึ่งติดอยู่กับกางเกงยีนถูกนำมาใช้กับสินค้าประเภทเดียวกันกับสินค้าประเภทกางเกงของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนไว้ จึงอาจทำให้บุคคลอื่นเชื่อว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม อันเป็นการทำขึ้นเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมตามมาตรา 109 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534การที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายกางเกงยีนของกลางที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมจึงเป็นความผิดตามมาตรา 110(1)

โจทก์ร่วมจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า CANTONA มาตั้งแต่ปี 2538 โจทก์ร่วมจึงได้รับความคุ้มครองในฐานะเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น และมีสิทธิที่จะห้ามผู้ใดปลอม หรือเลียนเครื่องหมายการค้า ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯมาตรา 53 ซึ่งการที่โจทก์ร่วมจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการขอให้เพิกถอนหรือนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีคำสั่งให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมตามมาตรา 63 แต่อย่างใด การที่โจทก์ร่วมขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จึงถือว่าเป็นการกระทำโดยสุจริตตามมาตรา 6 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประกอบกับโจทก์ร่วมได้ผลิตกางเกงยีนใช้ชื่อในการประกอบการว่า กิจเจริญ มาเป็นเวลาเกือบ 10 ปี แล้ว โดยโจทก์และโจทก์ร่วมได้อ้างส่งกางเกงยีนที่โจทก์ร่วมผลิตและใช้เครื่องหมายการค้า CANTONA เป็นวัตถุพยาน พฤติการณ์จึงเชื่อได้ว่าโจทก์ร่วมจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อประกอบกิจการของโจทก์ร่วมโดยสุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 741

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 741/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 27, 235, 286 (2)

เงินที่โจทก์นำยึดเป็นเงินเดือนและเงินบำเหน็จของจำเลย ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อายัดไว้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 22 และมาตรา 121โดยไม่ปรากฏว่าได้มีการนำเงินจำนวนดังกล่าวไปปะปนกับเงินจำนวนอื่นของจำเลยจนแยกไม่ออกว่าเงินส่วนไหนเป็นเงินเดือนและเงินบำเหน็จ เงินจำนวนดังกล่าวที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อายัดไว้จึงยังคงเป็นเงินเดือนและเงินบำเหน็จตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(2) โจทก์จะยึดมาชำระหนี้ไม่ได้ การอายัดเงินดังกล่าวของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หาได้ทำให้เงินดังกล่าวแปรสภาพไปจนไม่อาจได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 286(2) แต่อย่างใด

จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ สำเนาให้โจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยให้จำเลยนำส่งสำเนาอุทธรณ์ภายใน 15 วันมิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์ แม้จำเลยจะไม่ได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีอันจะถือว่าเป็นการทิ้งอุทธรณ์ก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นก็ไม่มีอำนาจที่จะสั่งจำหน่ายคดีที่จำเลยยื่นอุทธรณ์ไว้แล้ว เพราะเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์โดยเฉพาะที่จะสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่ง คำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้ จึงไม่ใช่คำสั่งที่ผิดระเบียบและการที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยก็เป็นดุลพินิจที่ศาลอุทธรณ์กระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่มีบทกฎหมายใดบังคับว่า ศาลอุทธรณ์จะต้องจำหน่ายคดีหรือไม่มีอำนาจวินิจฉัยและพิพากษาอุทธรณ์ของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 719

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 719/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 852 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ม. 7

โจทก์นำมูลหนี้ตามเช็คในคดีนี้ไปฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่ง ซึ่งต่อมาได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลได้พิพากษาคดีตามยอมแล้ว ผลของการประนีประนอมยอมความดังกล่าวย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป หนี้ที่จำเลยได้ออกเช็คตามฟ้องเพื่อใช้เงินนั้นจึงเป็นอันสิ้นผลผูกพันและคดีเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องจึงเป็นอันระงับไป(คำสั่งศาลฎีกา)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 718

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 718/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 427 พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ม. 39 วรรคสอง, 40 (3), 52 (13)

จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามฟ้องทางทะเล ย่อมต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายของสินค้าดังกล่าวที่ได้เกิดขึ้นระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่ขนส่งสินค้าจากเมืองท่าสิงคโปร์มายังท่าเรือกรุงเทพซึ่งตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 39 วรรคสองและมาตรา 40 (3) ให้ถือว่าสินค้าตามฟ้องยังคงอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1และที่ 2 ผู้ขนส่งจนกว่าจะได้มีการส่งมอบสินค้าให้แก่เจ้าหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เมื่อเรือขนส่งสินค้ามาจอดเทียบท่าเรือกรุงเทพจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวแทนของเจ้าของเรือได้ติดต่อเช่ารถปั้นจั่นของการท่าเรือแห่งประเทศไทยมาทำการขนสินค้าขึ้นจากเรือและตามหลักฐานการชำระค่าเช่าระบุว่ามีการคิดค่าเช่าโดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้จ่าย แสดงให้เห็นได้ว่าหน้าที่ในการขนส่งสินค้าขึ้นจากเรือยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ขนส่งอยู่ เพียงแต่อาจมีเหตุจำเป็นที่ปั้นจั่นของเรือขนส่งสินค้าไม่สามารถยกสินค้าดังกล่าวขึ้นจากเรือได้จึงต้องมีการเช่ารถปั้นจั่นของการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อให้ทำหน้าที่แทนปั้นจั่นของเรือ การทำหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยจึงเป็นการทำงานแทนและเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเห็นได้ว่าการขนสินค้าตามฟ้องขึ้นจากเรือลงไปวางไว้ที่พื้นหน้าท่าเป็นขั้นตอนหนึ่งในการส่งมอบสินค้าให้ไปอยู่ในความครอบครองดูแลของการท่าเรือแห่งประเทศไทย การที่ลวดสลิงที่รัดยึดสินค้าเกิดขาดในระหว่างที่ปั้นจั่นยกลอยขึ้นจากเรือกำลังจะเคลื่อนย้ายมาวางที่พื้นหน้าท่าและตกกระแทกพื้นที่หน้าท่าทำให้สินค้าได้รับความเสียหายนั้น ถือว่าเป็นเหตุที่เกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าดังกล่าวยังอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยทั้งสองย่อมต้องรับผิดเพื่อความเสียหายดังกล่าว โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าความเสียหายนั้นเกิดจากความผิดหรือประมาทเลินเล่อของผู้ควบคุมรถปั้นจั่นซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยหรือไม่ เพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ขนส่งย่อมต้องรับผิดในความผิดหรือประมาทเลินเล่อของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยทั้งสองอยู่แล้ว กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 42 (13)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 717

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 717/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 57

ที่ดินพิพาทมีชื่อผู้ร้องสอดกับ ห. เจ้ามรดก เป็นเจ้าของรวมกัน หลังจากโจทก์ทั้งสาม จำเลยทั้งสาม และผู้ร้องสอดได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมแล้ว ผู้ร้องสอดได้จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทส่วนของตนให้แก่ ค. ค. จึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาทสืบต่อจากผู้ร้องสอด ทั้งในชั้นที่เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินตามคำพิพากษาตามยอมศาลชั้นต้นก็ให้ ค. เข้าไปมีส่วนร่วมในการนำชี้เพื่อแบ่งแยกด้วย จึงถือว่า ค. ได้เข้ามาในคดีและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้แบ่งที่ดินพิพาทตามรูปแผนที่ที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้นำชี้อันเป็นการกระทบสิทธิของ ค. ค. ก็ย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 716

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 716/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 150, 852 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ม. 7

ระหว่างพิจารณาคดีนี้ โจทก์ได้นำมูลหนี้ตามเช็คพิพาทไปฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งให้ชดใช้เงิน แล้วโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความศาลมีคำพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 เมื่อสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามเช็คพิพาทในคดีนี้ระงับสิ้นไป และโจทก์ได้สิทธิใหม่ตามที่ปรากฏในสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้วหรือไม่ กรณีถือได้ว่าหนี้ที่ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39

เมื่อถือว่าคดีอาญาเลิกกันโดยผลของกฎหมายแล้ว คู่ความจะตกลงกันไม่ให้คดีอาญาเลิกกันไม่ได้ เพราะเป็นการขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

« »
ติดต่อเราทาง LINE