กฎหมายฎีกา ปี 2556
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12456/2556
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 138 วรรคสอง, 249 วรรคหนึ่ง
ข้อที่โจทก์อุทธรณ์และฎีกาว่า วิธีการตรวจสอบที่ตั้งของที่ดินพิพาทของนายอำเภอเขาค้อยังมีเหตุชวนให้น่าเคลือบแคลงสงสัยถึงความโปร่งใส และน่าจะมีการฉ้อฉลเกิดขึ้นในขั้นตอนดังกล่าวนั้น มิใช่เป็นการกล่าวอ้างว่าการตกลงท้ากันเกิดจากการฉ้อฉลของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง (1) เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ จึงไม่ก่อสิทธิแก่โจทก์ที่จะฎีกาปัญหาดังกล่าวต่อมาอีก เพราะเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 6 ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
เมื่อคู่ความตกลงท้ากันว่า ให้นายอำเภอเข้าค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ตรวจสอบที่ดินพิพาทในส่วนของจำเลยที่ 1 ตามแผนที่วิวาทว่า ตั้งอยู่ในเขตตำบลแคมป์สนหรือตำบลทุ่งเสมอ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ หากนายอำเภอเขาค้อตรวจสอบแล้วที่ดินตั้งอยู่ในเขตแคมป์สน โจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงตามคำให้การของจำเลยทั้งสองและยอมแพ้คดี แต่หากที่ดินตั้งอยู่ในเขตตำบลทุ่งสมอ จำเลยทั้งสองยอมรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์และยอมแพ้คดี เมื่อนายอำเภอเขาค้อตรวจสอบที่ดินของจำเลยที่ 1 (แปลงหมายเลข 2) แล้วน่าเชื่อว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตตำบลแคมป์สน ย่อมมีลักษณะที่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงสมตามคำท้าของจำเลยทั้งสองว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตแคมป์สน โจทก์จึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีตามคำท้า แม้นายอำเภอเขาค้อจะใช้คำว่า "น่าเชื่อว่า" ก็หาใช่เป็นเพียงความเห็นที่ยังมิได้เป็นตามเงื่อนไขตามคำท้า ในอันที่ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ตั้งของที่ดินและมีคำพิพากษาใหม่ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12384/2556
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 80, 86, 288
จำเลยที่ 4 ร่วมเดินทางมากับจำเลยอื่นกับพวกในรถยนต์คันที่จำเลยที่ 2 ขับ โดยจำเลยที่ 4 เป็นมารดาจำเลยที่ 1 และเป็นภริยาจำเลยที่ 2 ซึ่งขณะเกิดเหตุนั้นได้ความว่าระหว่างที่จำเลยที่ 2 กับพวกรุมกระทืบผู้เสียหายอยู่นั้น จำเลยที่ 4 พูดว่า "เอามันให้ตาย เอามันให้ตาย" เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 4 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ร่วมเดินทางมายังที่เกิดเหตุในลักษณะเจ็บแค้นแทนจำเลยที่ 1 ผู้เป็นบุตรและต้องการแก้แค้นผู้ทำร้ายบุตรตนแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 4 ดังกล่าวจึงเป็นการช่วยเหลือให้กำลังใจและชี้นำแก่จำเลยที่ 2 กับพวกทำร้ายผู้เสียหายให้ถึงแก่ความตายเพื่อแก้แค้นแทนจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 4 สนับสนุนให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิด เมื่อจำเลยที่ 2 ร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่า การกระทำของจำเลยที่ 4 จึงเป็นความผิดฐานสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำความผิดพยายามฆ่าผู้เสียหาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8760/2556
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/30, 419
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยคืนเงินส่วนต่างของราคาที่เกินไป อันสืบเนื่องมาจากที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ขายมิได้ส่งมอบรถให้ตรงตามรุ่นตามความประสงค์ของผู้ซื้อโดยมีผลต่างราคากันอยู่เป็นเงิน 94,000 บาท กรณีดังกล่าวย่อมไม่ถือว่าเงินส่วนที่โจทก์ชำระเกินไปดังกล่าวเป็นเงินที่จำเลยได้มาเพราะการที่โจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ อันจะถือได้ว่าเป็นลาภมิควรได้ที่ตกแก่จำเลยซึ่งโจทก์จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องเอาเงินคืนจากจำเลยเสียภายในกำหนดอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 และกรณีดังกล่าวไม่มีกฎหมายว่าด้วยอายุความบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ซึ่งมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5998/2556
พระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 ม. 4, 12, 14, 15, 25 วรรคหนึ่ง, 49 วรรคหนึ่ง, 49 วรรคสอง
พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 4 บัญญัติความหมายของผู้ขนส่งน้ำมันไว้ว่า คือผู้ที่รับจ้างทำการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งมิใช่เป็นของตนเองโดยใช้ยานพาหนะสำหรับการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉพาะ ทั้งมาตรา 12, 14 และ 15 ยังบัญญัติให้ผู้ขนส่งน้ำมันมีหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อส่วนราชการอีกหลายประการ แสดงให้เห็นว่าผู้ขนส่งน้ำมันตามบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึงผู้ที่ประกอบกิจการขนส่งน้ำมันเท่านั้น เมื่อจำเลยเป็นเพียงพนักงานขับรถบรรทุกน้ำมันของบริษัท ต. ผู้ขายน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่ผู้เสียหาย จึงไม่ใช่ผู้ขนส่งน้ำมันตามความหมายของบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวที่ต้องรับโทษหนักขึ้นในฐานเป็นผู้ขนส่งน้ำมันกระทำการปลอมปนตาม มาตรา 49 วรรคสอง คงมีความผิดตาม มาตรา 49 วรรคหนึ่ง เท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10327/2556
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 57 (2)
โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างฟ้องเพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสิบเอ็ด (คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์) ที่สั่งให้โจทก์รับผู้ร้องซึ่งเป็นลูกจ้างที่โจทก์เลิกจ้างกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหายให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลแรงงานกลางยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางพิจารณาคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสิบเอ็ดต่อไปโดยไม่รอว่าศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาเกี่ยวกับคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมของผู้ร้องก่อน แล้วมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลแรงงานกลางต่อศาลฎีกา คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา หากศาลฎีกาจะมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเป็นจำเลยร่วมก็ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ทั้งหมดซึ่งจะทำให้คดีต้องล่าช้าออกไป ไม่มีประโยชน์ที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องต่อไป จึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10325/2556
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/30
ระเบียบการเบิกจ่ายเงินกองทุนเงินสะสมกำหนดว่า จำเลยผู้เป็นนายจ้างกับลูกจ้างนำเงินในส่วนของตนเข้าสมทบในกองทุนเงินสะสม ลูกจ้างจะได้รับเงินจากกองทุนเงินสะสมก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินกองทุนเงินสะสม การที่จำเลยจัดตั้งกองทุนสะสมจึงเป็นการก่อตั้งสิทธิและหน้าที่ระหว่างจำเลยกับลูกจ้าง โจทก์ฟ้องให้จำเลยจ่ายเงินสะสมโดยอาศัยสิทธิที่โจทก์เป็นสมาชิกกองทุนเงินสะสมไม่ใช่การใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ สิทธิเรียกร้องเงินกองทุนเงินสะสมจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1722/2556
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 218 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา ม. 277
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ลงโทษจำคุก 25 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก (เดิม) ลงโทษจำคุก 1 ปี 8 เดือน จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้จากความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง เป็นความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งไม่มีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง จึงเป็นการแก้ฐานความผิดเดิมโดยไม่ประกอบด้วยเหตุฉกรรจ์ ความผิดทั้งสองวรรคเป็นความผิดในมาตราเดียวกัน และต่างก็เป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ ไม่ถือเป็นการแก้บท แม้จะแก้โทษด้วย ก็เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7562/2556
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 210 วรรคแรก, 335 (7), 335 (9), 335 วรรคสอง
จำเลยทั้งสองกับพวก 5 คน ร่วมกันปรึกษาวางแผนลักทรัพย์ของชาวต่างชาติบนรถโดยสารสองแถว โดยขึ้นรถโดยสารสองแถวมาพร้อมกันซึ่งจะทำให้มีผู้โดยสารมากพอที่จะทำให้พวกของจำเลยที่ 1 สามารถเข้าไปนั่งชิดกับผู้เสียหายทางด้านขวาที่มีกระเป๋าสตางค์อยู่ในประเป๋ากางเกง พวกของจำเลยทั้งสองจึงมีโอกาสล้วงกระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหาย และมีการแบ่งหน้าที่กันทำตามที่จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 5 คน สมคบกัน จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานร่วมกับพวกลักทรัพย์ในยวดยานสาธารณะและเป็นซ่องโจร ซึ่งความผิดฐานเป็นซ่องโจรกับฐานร่วมกันลักทรัพย์ในยวดยานสาธารณะเกี่ยวเนื่องกันจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21814/2556
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 72, 288 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4), 5 (2), 30, 195 วรรคสอง, 225
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยฆ่า น. ผู้ตาย โดยบันดาลโทสะ ผู้ตายจึงมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดทางอาญาด้วย ดังนั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ถือว่าผู้ตายมิใช่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นบิดาและมารดาผู้ตายจึงไม่มีอำนาจเข้ามาจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์เดิมได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ บ. และ อ. เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม จึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ดังนี้ บ. และ อ. จึงไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์และฎีกาด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6698/2556
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 211
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยทั้งหกจึงมีหน้าที่จะต้องชำระหนี้ตอบแทนแก่โจทก์ คือ ปลูกสร้างทาวน์เฮาส์และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน และแม้สัญญาจะไม่มีกำหนดระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จไว้ก็ตาม แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยทั้งหกจะต้องดำเนินการก่อสร้างทาวน์เฮาส์ในที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญาให้แล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมโอนกรรมสิทธิ์ในเวลาอันสมควร เมื่อโจทก์ได้ชำระเงินค่างวดตามสัญญา คงเหลือเงินเพียงงวดสุดท้ายที่จะต้องชำระให้จำเลยทั้งหกในวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่จำเลยทั้งหกกลับให้เวลาผ่านไปเนิ่นนานโดยมิได้ปฏิบัติการก่อสร้างทาวน์เฮาส์ให้แล้วเสร็จ ดำเนินการแบ่งแยกโฉนดที่ดิน และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ให้แก่โจทก์ตามสัญญา จำเลยทั้งหกจึงมิได้อยู่ในฐานะที่จะสามารถชำระหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 211 โจทก์จึงมิได้เป็นฝ่ายผิดนัดและถือว่าจำเลยทั้งหกเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขาย จำเลยทั้งหกจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์