กฎหมายฎีกา ปี 2556
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7786/2556
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 5 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 90/25, 90/59
โจทก์เป็นลูกจ้าง บ. จำเลยเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของ บ. ตามคำสั่งศาลแรงงานกลาง จำเลยเป็นผู้มีอำนาจในการจัดกิจการและทรัพย์สินของ บ. ลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/59 ประกอบมาตรา 90/25 เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ทำงานแทน บ. นายจ้างโจทก์ จำเลยจึงมีฐานะเป็นนายจ้างโจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ในความหมายของคำว่า "นายจ้าง" ตาม (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11401/2556
พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ม. 4
สาระสำคัญของความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 อยู่ที่วันออกเช็ค คือ วันที่สั่งให้ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คนั้น ถ้าเช็ครายใดผู้ออกเช็คไม่ได้ลงวันที่ออกเช็ค ก็ไม่มีทางที่จะให้ผู้ออกเช็คทราบได้ว่าจะให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้นในวันใด ซึ่งวันนั้นผู้ออกเช็คจะได้เตรียมเงินไว้ในบัญชีธนาคารอันจะพึงจ่ายตามเช็คนั้น หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เช็คที่ไม่มีวันออกเช็คถือได้ว่าไม่มีวันที่ผู้ออกเช็คกระทำความผิด
เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าเช็คพิพาททั้งเจ็ดฉบับลงวันที่ไว้แล้วในขณะที่ผู้เสียหายได้รับมาจากจำเลยทั้งสอง จึงถือไม่ได้ว่ามีวันที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10469/2556
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 5 (2), 44/1, 195 วรรคสอง, 225
เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติว่า โจทก์ร่วมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตาย และไม่มีอำนาจขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ดังนั้นโจทก์ร่วมไม่อาจยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ในคดีนี้ ชอบที่จะไปว่ากล่าวในคดีส่วนแพ่งต่างหาก ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7955/2556
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 46 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 146
การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ต่างกระทำโดยประมาททั้งสองฝ่าย แต่โจทก์ที่ 2 มีสิทธิที่จะนำสืบและฎีกาได้ว่า เหตุนี้เกิดขึ้นเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 มากกว่า ซึ่งตามพฤติการณ์ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนประมาทมากกว่าโจทก์ที่ 2 และแม้คดีนี้ฎีกาของโจทก์ที่ 1 จะต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อผลของคดีนี้ในชั้นฎีกาแตกต่างขัดกันกับในชั้นอุทธรณ์ จึงให้ถือตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่สูงกว่าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 146 จึงให้มีผลถึงโจทก์ที่ 1 ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7942/2556
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 448
โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดฐานละเมิดที่เปิดบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์ หลังจากจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดที่อำนาจจัดการทรัพย์สินของจำเลยตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามกฎหมาย จำเลยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีอำนาจดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลย แต่กลับเปิดบัญชีกระแสรายวันและเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์ เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอให้โจทก์ชำระเงินที่จำเลยชำระหนี้โจทก์ คืนแก่กองทรัพย์สินของจำเลยในคดีล้มละลาย ถือว่า ณ วันที่จำเลยนำเงินเข้าบัญชีชำระหนี้แก่โจทก์ยังมิใช่เป็นวันละเมิด อายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 ยังไม่เริ่มนับ เพราะการกระทำของจำเลยกรณีนี้ จะถือเป็นการละเมิดโจทก์ต่อเมื่อโจทก์ต้องคืนเงินให้แก่กองทรัพย์สินของจำเลยแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว เมื่อโจทก์จำต้องคืนเงินให้แก่กองทรัพย์สินของจำเลยตามคำสั่งศาล ซึ่งศาลมีคำสั่งในวันที่ 14 ธันวาคม 2549 จึงถือว่า โจทก์ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าว โจทก์ฟ้อง วันที่ 7 มิถุนายน 2550 ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14689/2556
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 (6) ประมวลกฎหมายอาญา ม. 95, 157
การนับอายุความให้เริ่มนับตั้งแต่วันกระทำความผิด การที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 กับพวกออกไปตรวจพิสูจน์ที่ดินแล้วสรุปข้อเท็จจริงผลการตรวจพิสูจน์เป็นเท็จว่าที่ดินไม่ได้อยู่ในเขตป่าพร้อมความเห็นเสนอนายอำเภอ หากเป็นการสรุปความเห็นที่เกิดจากการกระทำปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยราชการ หรือเกิดจากการกระทำโดยทุจริตก็เป็นความผิดทันทีที่เสนอความเห็นต่อนายอำเภอ ส่วนนายอำเภอจะลงนามในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เมื่อใดเป็นแต่เพียงผลที่เกิดจากการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 4 กับพวก มิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นว่า หากนายอำเภอไม่เห็นด้วยกับความเห็นของจำเลยที่ 1 และที่ 4 กับพวกโดยไม่ลงนามในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ก็จะทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 4 กับพวกไม่เป็นความผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2475/2556
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 132 (1), 174 (2), 246
คำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่เห็นว่าโจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ไม่ครบถ้วนและมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นเรียกให้โจทก์ให้ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ตามทุนทรัพย์ให้ครบถ้วนถูกต้องภายใน 15 วันนับแต่ทราบคำสั่ง เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ แม้โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว โจทก์ก็ต้องชำระค่าขึ้นศาลตามคำสั่งดังกล่าวไปก่อน และโต้แย้งคำสั่งไว้เพื่อใช้สิทธิฎีกาในภายหลัง แต่โจทก์มิได้ดำเนินการชำระค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาดังกล่าวจึงถือว่าโจทก์ทิ้งอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะจำหน่ายคดีของโจทก์ออกจากสารบบความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 132 (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1818/2556
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 224 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249
ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นั้น โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า โจทก์เรียกดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวได้โดยอาศัยสิทธิใด แต่เมื่อหนี้ที่จำเลยทั้งสองค้างชำระเป็นหนี้เงินและจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี การที่ศาลชั้นต้นกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้จำเลยทั้งสองรับผิดในอัตราสูงกว่าอัตราที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย อันเป็นการกำหนดให้จำเลยทั้งสองรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมาย เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธิยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ มาตรา 249 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5218/2556
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 112
แม้ผู้ประกันจะนำตัวจำเลยมายังศาลชั้นต้นตามกำหนดนัดที่ศาลชั้นต้นระบุไว้ในใบนัดให้ส่งตัวจำเลยก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานเจ้าหน้าที่ศาลว่าในวันดังกล่าวจำเลยและผู้ประกันมาศาลเพื่อยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ เมื่อเจ้าพนักงานศาลตรวจสอบแล้วปรากฏว่าล่วงเลยกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ และสอบถามจำเลยแล้วประสงค์จะยื่นอุทธรณ์ จำเลยและผู้ประกันจึงให้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์เขียนคำร้องเพื่อขอให้ศาลพิจารณาคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ เมื่อเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์เขียนคำร้องให้จำเลยและผู้ประกันแล้วได้แจ้งให้จำเลยและผู้ประกันรอฟังคำสั่ง แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้วจำเลยและผู้ประกันไม่มาฟังคำสั่ง พฤติการณ์ของจำเลยและผู้ประกันดังกล่าวเห็นได้ว่า จำเลยและผู้ประกันมาศาลตามกำหนดนัดในใบนัดของศาลชั้นต้นเพื่อยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าผู้ประกันได้ส่งมอบตัวจำเลยต่อศาลชั้นต้นแล้ว ผู้ประกันจึงผิดสัญญาประกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12458/2556
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91, 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ม. 43, 78, 157, 160
การที่พนักงานสอบสวนสอบปากคำ อ. พยานซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี และบันทึกโดยไม่แยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการถามปากคำเด็กนั้น เป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยแถลงยอมรับข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นว่า อ. ให้การเป็นพยานต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การไว้จริง ศาลจึงรับฟังตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในคำให้การดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้ และชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 226 แล้ว