กฎหมายฎีกา ปี 2563
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2909/2563
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90 พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 ม. 4, 15, 42 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ม. 4 (2), 55, 78
ลูกกระสุนปืนขนาด 40 มม. และลูก (ปลอก) กระสุนปืนกลต่อสู้อากาศยาน 40 L 70 นอกจากเป็นยุทธภัณฑ์ตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 มาตรา 4 ประกอบประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง กำหนดยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2550 ข้อ 2 แล้ว ยังเป็นเครื่องกระสุนปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ เมื่อเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนรายการอื่นที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองในขณะเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมายอันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8494/2563
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ม. 4, 69
มาตรา 4 ให้คำนิยามคำว่า "ผู้ดำเนินการ" หมายความว่า "เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารซึ่งกระทำการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคารด้วยตนเอง และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งตกลงรับกระทำดังกล่าวไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม และผู้รับจ้างช่วง" เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ดำเนินการ โจทก์ย่อมมีภาระการพิสูจน์ว่า จำเลยทั้งสองกระทำการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคารด้วยตนเอง แต่พยานโจทก์คงมี ภ. พยานโจทก์ที่เบิกความว่าพยานเป็นผู้ตรวจอาคารที่เกิดเหตุ พบว่ามีการก่อสร้างผิดแบบ โดยพยานไม่ได้เบิกความว่าพบเห็นจำเลยทั้งสองเป็นผู้ก่อสร้างด้วยตนเอง และมี ก. เจ้าของอาคารที่ติดอยู่กับบ้านเกิดเหตุเบิกความแต่เพียงว่าเห็นจำเลยทั้งสองอยู่ด้วยในระหว่างการก่อสร้าง ไม่ได้เบิกความว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารด้วยตนเอง พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ดำเนินการตามความหมายของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4 จึงวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นแก่จำเลยทั้งสองตามมาตรา 69 มิได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5053/2563
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ม. 63 วรรคหนึ่ง, 64 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 ม. 25
ความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ความผิดฐานร่วมกันนำหรือพาบุคคลต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร และความผิดฐานร่วมกันซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม เป็นการกระทำความผิดที่ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผลต่างกัน กฎหมายจึงได้บัญญัติเป็นความผิดและมีบทลงโทษสำหรับความผิดแต่ละอย่างแตกต่างกัน และลักษณะแห่งการกระทำความผิดสามารถแยกส่วนจากกันได้ แสดงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดแต่ละการกระทำเป็นกรณีไป แม้จำเลยกับพวกกระทำความผิดในวันเวลาเดียวกันและต่อเนื่องกัน เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ จึงฟังได้ว่าจำเลยรับว่าได้กระทำความผิดโดยมีเจตนาต่างกันอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3278/2563
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 131 (2), 151
ศาลชั้นต้นพิเคราะห์ฟ้องและเอกสารท้ายฟ้องแล้ว เห็นว่า เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบซึ่งมิได้มีการกระทำใด ๆ ที่เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อโจทก์ทั้งสี่โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันเป็นการละเมิดตาม ป.พ.พ.มาตรา 420 โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีอำนาจเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ พิพากษายกฟ้องและยกคำขอในส่วนแพ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ถือได้ว่าศาลชั้นต้นรับฟ้องคดีส่วนแพ่งแล้วนำข้อเท็จจริงในฟ้องและเอกสารท้ายฟ้องมาวินิจฉัยเกี่ยวกับคำฟ้องส่วนแพ่งและพิพากษายกฟ้อง เป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีตาม ป.วิ.พ.มาตรา 131 (2) ประกอบพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง มีผลเป็นการพิพากษาคดีส่วนแพ่งแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ศาลชั้นต้นไม่รับหรือคืนคำฟ้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 แห่ง ป.วิ.พ. ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง จึงไม่มีเหตุที่จะคืนค่าขึ้นศาลให้แก่โจทก์ทั้งสี่ตามมาตรา 151
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3273/2563
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 40, 44/1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5), 246, 252
การที่ผู้เสียหายจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 นั้น ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวจะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดที่พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องร้องเท่านั้น จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดที่ไม่ถูกฟ้องไม่ได้ เมื่อพนักงานอัยการโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ผู้ร้องที่ 1 จึงไม่อาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพ และค่าขาดไร้อุปการะได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246, 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3256/2563
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 352, 354 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1719, 1720, 1721, 1723, 1750 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5), 192
เมื่อศาลตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ว. แล้ว จำเลยไม่อาจจัดการมรดกให้เป็นไปทางหนึ่งทางใดตามอำเภอใจได้ แต่จักต้องทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกภายใต้กรอบและหลักเกณฑ์ที่ ป.พ.พ. กำหนดไว้ โดยประการสำคัญ จำเลยมีหน้าที่ต้องรวบรวมทรัพย์มรดกทั้งหลายของ ว. แล้วนำมาจัดการมรดกโดยทั่วไปและจัดสรรแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิทุกคนให้เป็นไปตามกฎหมายและตามพินัยกรรมของ ว. ซึ่งในการนี้ จำเลยต้องกระทำเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกด้วยความสุจริต โปร่งใสและตรงไปตรงมาอย่างเปิดเผยเพื่อไม่ได้เป็นที่คลางแคลงใจ อันจะก่อให้เกิดความขัดแย้งกระทบกระทั่งต่อความสัมพันธ์อันดีในระหว่างทายาทผู้มีสิทธิทุกคน มิฉะนั้น จำเลยอาจต้องรับผิดในทางแพ่งต่อทายาทตามมาตรา 1720 ทั้งหากกระทำการโดยทุจริตเพื่อประโยชน์แก่ตนเองเป็นที่ตั้ง จำเลยก็อาจต้องรับผิดทางอาญาในความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 และ 354
ผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งมีอำนาจและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 ทั้งการจัดการมรดกเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องจัดการโดยตนเอง เว้นแต่เข้าข้อยกเว้นให้ผู้จัดการมรดกมอบให้ตัวแทนทำการได้ตามอำนาจที่ให้ไว้ชัดแจ้งหรือโดยปริยายในพินัยกรรม หรือโดยคำสั่งศาล หรือในพฤติการณ์เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามมาตรา 1723 นอกจากนี้ ผู้จัดการมรดกที่ศาลมีคำสั่งตั้งมิใช่ตัวแทนของทายาท โดยอำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้จัดการมรดกที่มีต่อทายาทเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมาย ผู้จัดการมรดกจึงอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาทที่จะต้องจัดการมรดกเพื่อประโยชน์แก่ทายาทและกองมรดก โดยทายาทไม่มีอำนาจที่จะสั่งการให้ผู้จัดการมรดกกระทำการใด ๆ ได้ เพียงแต่ผู้จัดการมรดกจะต้องรับผิดต่อทายาทตามมาตรา 1720 โดยกฎหมายให้นำบทบัญญัติบางมาตราในลักษณะตัวแทนมาใช้บังคับโดยอนุโลม และทายาทอยู่ในฐานะเป็นผู้ควบคุมการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกให้อยู่ในขอบอำนาจตามที่พินัยกรรมและกฎหมายกำหนดไว้ รวมทั้งมีอำนาจที่จะขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกที่ละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ เมื่อการจัดการมรดกของ ว. เป็นหน้าที่โดยตรงของจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกที่จะต้องกระทำด้วยตนเอง โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ว. จึงไม่มีอำนาจบังคับจำเลยให้ดำเนินการขายที่ดินพิพาทในรูปแบบของคณะกรรมการขายที่ดินตามมติที่ประชุมทายาทและในทางกลับกัน จำเลยย่อมมีอำนาจเต็มที่ที่จะจัดการมรดกของ ว ได้โดยไม่จำต้องขออนุญาตหรือต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์หรือที่ประชุมทายาทก่อน
ว. เจ้ามรดก มิได้กำหนดให้ผู้จัดการมรดกกระทำโดยวิธีการใด เพียงแต่ระบุให้ทายาทรวม 6 คน ได้รับส่วนแบ่งทรัพย์สินคนละส่วนเท่า ๆ กัน ดังนั้น การแบ่งปันทรัพย์มรดกจึงต้องดำเนินการไปตามหลักเกณฑ์ที่ มาตรา 1750 กำหนดไว้โดยเฉพาะ กล่าวคือ การแบ่งปันทรัพย์มรดกสามารถกระทำได้ 3 วิธี โดยวิธีแรก ให้ทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด วิธีที่สอง ให้ดำเนินการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท และวิธีที่สาม ให้ทายาทตกลงกันด้วยการทำรูปแบบของสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 850 และ 852 มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อทายาทหรือตัวแทนของทายาทเป็นสำคัญ จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกเลือกวิธีการแบ่งมรดกด้วยการขายที่ดินพิพาทเพื่อเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาทแม้จำเลยจะเป็นทายาทของ ว. ที่มีส่วนในทรัพย์มรดกมากกว่าโจทก์และทายาทคนอื่น แต่เมื่อการประมูลขายที่ดินพิพาทของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ว. เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่ชอบมาพากลหลายประการ รูปคดีจึงบ่งชี้ว่าจำเลยไม่เพียงจัดการมรดกโดยมิชอบในทางแพ่งเท่านั้น แต่ยังมีเจตนากระทำความผิดทางอาญาด้วยการวางแผนแสวงหาประโยชน์จากที่ดินพิพาทอย่างเป็นขั้นเป็นตอนโดยทุจริต ซึ่งความในข้อนี้เห็นได้ชัดจากการที่จำเลยมอบหมายให้ อ. บุตรชายของจำเลยเข้าประมูลซื้อที่ดินพิพาทเพื่อให้เป็นของจำเลย โดยจำเลยไม่ได้นำมูลค่าของที่ดินพิพาท ที่ประมูลซื้อในราคา 8,150,000 บาท มาแบ่งปันแก่ทายาทแต่อย่างใด อีกทั้งจำเลยยังดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็นที่ดินแปลงย่อย 4 แปลง แล้วขายที่ดินแปลงคงและแปลงย่อยรวม 5 แปลง ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ว. ให้แก่ ศ. ในราคาสูงถึง 19,000,000 บาท แล้วนำเงินเข้าบัญชีของจำเลย แม้ต่อมาจำเลยได้ถอนเงินจำนวน 9,000,000 บาท นำเข้าฝากในบัญชีกองมรดกของ ว. ก็ตาม แต่เงินอีก 10,000,000 บาท ไม่ใช่เงินส่วนตัวของจำเลยเพราะจำเลยขายที่ดินพิพาทในฐานะผู้จัดการมรดกของ ว. คดีจึงรับฟังได้มั่นคงว่า จำเลยในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดกของ ว. ตามคำสั่งศาลได้ครอบครองและเบียดบังเอาทรัพย์มรดกของ ว. เป็นของตนหรือของบุคคลที่สามโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ประกอบมาตรา 354
โจทก์บรรยายฟ้องมีสาระสำคัญว่า จำเลยในฐานที่เป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาลได้กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยเบียดบังเอาทรัพย์สินของกองมรดกของ ว. ไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ซึ่งการเบียดบังเอาที่ดินมรดกไปหรือเบียดบังเอาเงินที่ได้จากการขายที่ดินมรดกไปก็ย่อมถือเป็นความผิดที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสิ้น
ฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยนำแคชเชียร์เช็คค่าซื้อที่ดินไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยจำนวนเงิน 10,000,000 บาท และ 9,000,000 บาท ตามลำดับ โดยเจตนาทุจริต ซึ่งคำฟ้องในลักษณะเช่นนี้ย่อมทำให้จำเลยเข้าใจได้ว่า โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยเบียดบังยักยอกเอาเงินค่าขายที่ดินมรดกไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่ชอบ และเมื่อจำเลยได้รับสำเนาคำฟ้องแล้ว จำเลยก็ให้การปฏิเสธว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดตามฟ้อง อันเป็นการแสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีและไม่หลงข้อต่อสู้ ฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8887/2563
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 150, 155, 1367 ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 58 ทวิ
ย. ตกลงขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้พันเอก พ. เมื่อปี 2519 ต่อมาปี 2520 เมื่อมีการเดินสำรวจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แต่เนื่องจากติดข้อกำหนดที่ห้ามมิให้ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่นภายใน 10 ปี ตามมาตรา 58 ทวิ แห่ง ป.ที่ดิน ย. และพันเอก พ. จึงทำสัญญาจำนองโดยไม่มีการกู้ยืมเงินจริง แต่ทำเพื่ออำพรางสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทที่ยังไม่อาจโอนสิทธิในที่ดินได้เพราะมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 58 ทวิ สัญญาจำนองจึงเป็นนิติกรรมอำพราง ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 เมื่อสัญญาจำนองเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยได้
การทำสัญญาการซื้อขายที่ดินพิพาทจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามกฎหมาย เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ดังนั้น การที่ ย. ทำสัญญาการซื้อขายและมอบให้พันเอก พ. ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท พันเอก พ. ก็หาได้สิทธิครอบครองตามกฎหมายไม่เพราะอยู่ในกำหนดห้ามโอนตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เมื่อพ้นระยะเวลาห้ามโอนคือวันที่ 24 สิงหาคม 2530 พันเอก พ. และทายาทครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอย่างต่อเนื่องและเป็นผู้ชำระภาษีบำรุงท้องที่มาโดยตลอดตั้งแต่ พ.ศ.2528 ถึง พ.ศ.2559 โดยไม่ปรากฏว่า ย. หรือทายาทเข้าไปยุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาทในช่วงระยะเวลาดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ย. หรือทายาทได้สละการครอบครองที่พิพาทให้แก่พันเอก พ. แล้ว ย่อมถือว่าพันเอก พ. ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตนต่อแต่นั้นมา พันเอก พ. ย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ.มาตรา 1367 โดยไม่จำต้องจดทะเบียนการได้มา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8756/2563
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 1 (18), 278 วรรคสอง (ใหม่), 279 วรรคสอง (เดิม)
การที่จำเลยพยายามสอดใส่อวัยวะเพศของจำเลยเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ยังคงอยู่ในความหมายของคำว่า "กระทำชำเรา" ตาม ป.อ. มาตรา 1 (18) ที่บัญญัติขึ้นใหม่ ซึ่งเพียงแต่บัญญัติให้การกระทำชำเราไม่ครอบคลุมไปถึงการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นด้วยเท่านั้น การกระทำของจำเลยย่อมมิใช่เป็นเพียงความผิดฐานกระทำอนาจารโดยการล่วงล้ำตาม ป.อ. มาตรา 278 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ ที่ต้องเป็นการกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น จำเลยจึงมิใช่ผู้ที่ได้รับประโยชน์จาก ป.อ. มาตรา 1 (18)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8749/2563
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 80, 288, 391 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 วรรคท้าย, 195 วรรคสอง, 225
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 กับพวกในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ความผิดดังกล่าวย่อมรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจด้วย ถือได้ว่าการกระทำความผิดตามฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในการกระทำผิดตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ.มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8600/2563
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1304 (1), 1334, 1375 ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 14, 20 (6), 27, 33
ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินป่าผืนใหญ่จอมทองที่คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจตาม ป.ที่ดิน มาตรา 14 อนุมัติให้หน่วยงานราชการนำมาจัดให้แก่ประชาชนได้อยู่อาศัยและประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพ เมื่อเป็นการจัดที่ดินโดยรัฐ การพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทจึงต้องพิจารณาจาก ป.ที่ดิน และระเบียบว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อประชาชน ฉบับลงวันที่ 24 สิงหาคม 2498 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม ป.ที่ดิน มาตรา 20 (6), 27 และ 33 เป็นสำคัญ ซึ่งตามระเบียบว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อประชาชน ข้อ 3 ได้กำหนดลักษณะของที่ดินที่จะนำมาจัดให้แก่ประชาชนไว้ และที่ดินที่จะนำมาจัดสรรตามระเบียบฉบับนี้ก็คือที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่เป็นที่รกร้างว่างเปล่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (1) ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่บุคคลอาจจะได้มาตามกฎหมายที่ดินตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1334 นั้นเอง ส่วนผู้ที่จะเข้าอยู่อาศัยหรือประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพในที่ดินที่รัฐจัดให้นั้น ต้องเป็นบุคคลธรรมดาซึ่งมีคุณสมบัติและอยู่ในลักษณะข้อกำหนดโดยครบถ้วนตามข้อบังคับ ระเบียบ ข้อกำหนดและเงื่อนไขที่คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติกำหนด ตามระเบียบข้อ 4 ข้อ 10 ข้อ 11 ข้อ 14 และข้อ 21 ตามระเบียบดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ป.ที่ดิน ในหมวดว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อประชาชนมีเจตนารมณ์ที่จะให้ประชาชนที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง หรือมีอยู่แล้วแต่มีจำนวนน้อยไม่พอเลี้ยงชีพได้มีที่ดินไว้เป็นที่อยู่อาศัยและทำมาหาเลี้ยงชีพ โดยได้มอบอำนาจให้คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาตินำที่ดินซึ่งเป็นของรัฐไปจัดสรรให้แก่ประชาชนกลุ่มดังกล่าว โจทก์ซึ่งได้รับการจัดสรรที่ดินพิพาทให้เป็นที่ทำมาหาเลี้ยงชีพและได้รับใบจองเลขที่ 1557 จากทางราชการแล้วจึงมีสิทธิตามใบจองในอันที่จะเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท และต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้ได้รับสิทธิในที่ดินตาม ป.ที่ดิน โดยชอบ อย่างไรก็ตามเมื่อทางราชการยังไม่ได้ออกเอกสารสิทธิในที่ดินให้แก่โจทก์ ก็ยังถือไม่ได้ว่ารัฐได้มอบสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้ว ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นของรัฐ ดังนั้น จำเลยจึงหาอาจอ้างเรื่องการแย่งการครอบครองขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ไม่ อีกทั้งจะยกเรื่องระยะเวลาการฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 ขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้มีสิทธิตามใบจองไม่ได้เช่นกัน ส่วนที่โจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว ต่อมามีกลุ่มคนบุกรุกเข้ามาครอบครองที่ดินพิพาทและขู่ฆ่า โจทก์และชาวบ้านรายอื่น ๆ อีกหลายร้อยรายที่ถูกบุกรุกที่ดินได้รวมตัวกันไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ และร้องเรียนไปยังหน่วยงานราชการต่าง ๆ และคดีถึงที่สุดโดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองเชียงใหม่ที่ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 9600 ที่ออกทับที่ดินพิพาท ก็ต้องถือว่าโจทก์ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้ว แต่มีเหตุจำเป็นทำให้โจทก์ไม่สามารถทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามใบจองเลขที่ 1557 ให้แล้วเสร็จได้ภายใน 3 ปี ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบข้อ 17 โจทก์จึงยังคงเป็นผู้มีสิทธิตามใบจองเลขที่ 1557 อยู่ จำเลยไม่อาจยกการครอบครองตาม ป.พ.พ. ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งได้สิทธิมาโดยชอบตาม ป.ที่ดิน ได้ เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองเชียงใหม่ซึ่งเป็นศาลปกครองชั้นต้นที่ให้เพิกถอนโฉนดที่ดิน 9600 ที่ออกทับที่ดินพิพาทตามใบจองเลขที่ 1557 โดยเห็นว่าการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 9600 เป็นการออกโดยอาศัยแบบแจ้งการครอบครองที่ดินที่ทำปลอมขึ้น จำเลยก็ย่อมไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินพิพาทตามใบจองเลขที่ 1557 อีกต่อไป การที่จำเลยยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทจึงเป็นการอยู่โดยละเมิด จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์