กฎหมายฎีกา ปี 2565
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4179 - 4180/2565
พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 ม. 3, 42/2 (3), 42/3
ขั้นตอนการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญและการออกหนังสือนัดประชุมตามมาตรา 42/2 (3) และมาตรา 42/3 พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 นอกจากคณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอจากเจ้าของร่วมแล้ว ระยะเวลาตามกฎหมายในการเรียกประชุมใหญ่ก็ต้องอยู่ภายในกรอบระยะเวลาที่จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอจากเจ้าของร่วมด้วย หากไม่สามารถออกหนังสือเรียกประชุมใหญ่ได้โดยชอบตามมาตรา 42/3 ก็ไม่มีเหตุผลที่ผู้แทนเจ้าของร่วมอาคารชุดต้องรอให้ล่วงพ้นสิบห้าวันนับแต่วันที่คณะกรรมการได้รับคำร้องขอจากเจ้าของร่วมก่อนจึงจะออกหนังสือเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเองได้ ต่างจากกรณีที่ผู้ถือหุ้นร้องขอต่อกรรมการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1173, 1174 ขั้นตอนตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 ขัดหรือแย้งกับ ป.พ.พ. จึงต้องใช้บังคับตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 42/2 และมาตรา 42/3 ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 4 ได้รับหนังสือร้องขอให้เปิดประชุมใหญ่วิสามัญจากผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2562 จึงต้องจัดส่งหนังสือเรียกประชุมให้เจ้าของร่วมอย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 9 มีนาคม 2562 จึงจะเป็นการจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญโดยชอบ การที่คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดไม่ออกหนังสือเรียกประชุม ต่อมาวันที่ 13 มีนาคม 2562 ผู้คัดค้านที่ 1 มีหนังสือเรียกประชุมใหญ่วิสามัญในวันที่ 23 มีนาคม 2562 ย่อมเป็นการใช้สิทธิเรียกประชุมใหญ่วิสามัญโดยชอบและต้องด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ทั้งสองครั้งตามคำร้องขอของผู้ร้องทั้งห้า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2971/2565
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 702, 705, 1299
ภายหลัง ท. ถึงแก่ความตาย ได้มีผู้ไถ่ถอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงซึ่งมีชื่อ ท. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และในการที่ บ. ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของ ท. ก็ได้ระบุว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นทรัพย์มรดก ดังนั้น โฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงอยู่ในครอบครองของ บ. แล้ว ต่อมาที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมีการจดทะเบียนโอนขายแก่จำเลยที่ 1 โดยมีลายมือชื่อ ท. เป็นผู้มอบอำนาจและมี ส. ลงลายมือชื่อเป็นพยาน ซึ่ง บ. มิได้ดำเนินการจดทะเบียนโอนมาเป็นชื่อของตนในฐานะผู้จัดการมรดกเสียก่อน แต่กลับมีผู้นำหนังสือมอบอำนาจของ ท. ไปโอนขายแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งมีลายมือชื่อของ ส. เป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจของทั้งสองฝ่าย แม้ตามสัญญาซื้อขายระหว่าง ท. กับจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่า บ. มีส่วนเกี่ยวข้องทำหนังสือมอบอำนาจให้ แต่ ส. ย่อมมีหนังสือมอบอำนาจที่ ท. ลงลายมือชื่อไว้ล่วงหน้าโดยมีชื่อ ส. เป็นพยาน ดังนั้น ในการไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจึงเชื่อได้ว่า ส. เป็นผู้ดำเนินการภายหลัง ท. ถึงแก่ความตายแล้ว จึงสามารถนำโฉนดที่ดินพิพาทมาคืนแก่ บ. ได้ การที่ บ. มอบโฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้ ส. ไปดำเนินการโอนขายแก่จำเลยที่ 1 นับว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของ บ. หรืออาจเป็นเพราะ บ. ทราบจาก ส. ว่า การจดทะเบียนโอนที่ดินใส่ชื่อ บ. ในฐานะผู้จัดการมรดก แล้วจดทะเบียนขายต่อบุคคลภายนอกจะต้องเสียค่าธรรมเนียม 2 ครั้ง พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมเป็นเหตุให้ บ. ในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทของ ท. ไม่อาจยกเอาความบกพร่องของตนมาใช้ยันแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งรับจำนองไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนให้รับความเสียหาย โจทก์ซึ่งเป็นทายาทผู้สืบสิทธิของ บ. และ ฮ. จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือสัญญาจำนองและการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2483/2565
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 162 (1), 162 (4) พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 ม. 59, 60
ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือ มีหน้าที่กำหนดนโยบายโดยไม่ขัดต่อกฎหมายและรับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย แผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล ข้อบัญญัติ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ สั่ง อนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับราชการองค์การบริหารส่วนตำบล วางระเบียบเพื่อให้งานขององค์การบริหารส่วนตำบลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รักษาการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลตาม มาตรา 59 และมาตรา 60 แห่ง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ไม่ได้มีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความในเอกสาร แม้จำเลยที่ 1 อนุมัติให้เบิกจ่ายเงินหมวดลูกหนี้เงินยืมงบประมาณประเภทรายจ่ายเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติราชการ ที่ไม่เข้าลักษณะรายจ่ายหมวดอื่น ๆ อนุมัติให้ยืมเงินตามสัญญาการยืมเงิน และอนุมัติให้จ่ายเงินตามฎีกาเบิกเงินในโครงการโดยไม่มีการดำเนินการโครงการดังกล่าว ก็ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2479/2565
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 492, 494, 496, 499 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 150 วรรคท้าย
โจทก์ทั้งสองพร้อมที่จะชําระค่าสินไถ่ให้แก่จำเลย แต่เจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถจดทะเบียนไถ่การขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ เนื่องจากที่ดินพิพาทถูกอายัดไว้ชั่วคราวในคดีอื่น อันมิได้เกิดจากความผิดของโจทก์ทั้งสอง แสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์ทั้งสองแสดงเจตนาขอไถ่ที่ดินพิพาทจากจำเลยภายในกําหนดเวลาที่ตกลงกันไว้แล้ว จึงไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์ทั้งสองจะต้องขอขยายระยะเวลาไถ่ที่ดินพิพาทออกไปอีก
การไถ่ที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมต่างตอบแทนที่โจทก์ทั้งสองมีหน้าที่ชําระค่าสินไถ่ให้แก่จำเลย และจำเลยมีหน้าที่จดทะเบียนไถ่การขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินไม่อาจจดทะเบียนไถ่การขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิที่จะยังไม่ชําระค่าสินไถ่ให้แก่จำเลยและไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์ทั้งสองจะต้องนําค่าสินไถ่ไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์
หลังจากคำสั่งอายัดที่ดินพิพาทสิ้นผล จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ทั้งสองชําระค่าสินไถ่พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของค่าสินไถ่ ซึ่งเกินกว่าที่ตกลงในสัญญาขายฝาก โจทก์ทั้งสองจึงชอบที่จะโต้แย้งได้ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยมีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ทั้งสองไปไถ่การขายฝากที่ดินพิพาทโดยชอบและโจทก์ทั้งสองสละสิทธิไถ่ที่ดินพิพาท เมื่อโจทก์ทั้งสองมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยกำหนดวันเวลาที่จะไปจดทะเบียนไถ่การขายฝากที่ดินพิพาท จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวโดยชอบแล้ว แต่เพิกเฉย โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยรับค่าสินไถ่ตามที่ตกลงกันไว้ได้ โดยจำเลยไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากค่าสินไถ่
คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองเป็นคู่ความร่วมในคดีที่มีมูลความแห่งคดีอันไม่อาจแบ่งแยกได้ แต่โจทก์ทั้งสองต่างยื่นฎีกามาแต่ละฉบับแยกต่างหากจากกัน โดยต่างเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาเต็มตามทุนทรัพย์ จึงชอบที่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เสียเกินมาแก่โจทก์ทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 150 วรรคท้าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2294/2565
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 456 วรรคสอง, 820, 1474 (1)
จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินและบ้านพิพาทมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยซื้อมาในระหว่างเป็นสามีภริยากัน จึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส อันเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) จำเลยที่ 2 มอบหมายให้ ก. ประกาศขายที่ดินและบ้านพิพาทแทน โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบ้านพิพาทกับบริษัท ซ. โดย ก. จากการติดต่อชี้ช่องของ ช. ทางเว็บไซต์เฟซบุ๊กของ ก. โดย ก. นำหนังสือมอบอำนาจให้บริษัท ซ. ขายที่ดินและบ้านพิพาทแทน และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ตรวจสอบ ส่วนจำเลยที่ 2 นำโฉนดที่ดิน ใบอนุญาตก่อสร้างอาคารที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาต รวมทั้งใบอนุญาตขับรถของจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ดูและแนะนำตัวว่าเป็นสามีของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้มอบอำนาจให้บริษัท ซ. ขายที่ดินและบ้านพิพาท แต่ไม่ได้นำจำเลยที่ 1 มาสืบหักล้าง จึงมีน้ำหนักน้อย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้บริษัท ซ. ขายที่ดินและบ้านพิพาทแทน ต้องผูกพันตามสัญญา เสมือนว่ากระทำด้วยตนเองตามมาตรา 820 ส่วนจำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจและสัญญาซื้อขาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า รู้เห็นยินยอมให้บริษัท ซ. โดย ก. ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบ้านพิพาทอันเป็นสินสมรสแก่โจทก์ สัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัท ซ.จึงมีผลผูกพัน จำเลยทั้งสองมีหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2478/2565
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 377
เงินมัดจำคือเงินที่มอบให้แก่กันในวันทำสัญญา แม้คู่กรณีจะระบุไว้ในสัญญาว่าโจทก์ได้ให้เงินมัดจำแก่จำเลย 1,000,000 บาท โดยแบ่งจ่ายเป็นงวด ๆ งวดแรกชำระในวันทำสัญญา 500,000 บาท แต่ในวันทำสัญญาโจทก์ก็มิได้มอบเงิน 500,000 บาท แก่จำเลย คงให้จำเลยในวันหลัง เงิน 500,000 บาทนี้ จึงหาใช่เงินมัดจำตามกฎหมายไม่ แม้หากฟังว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยก็หาอาจริบเงินดังกล่าวในฐานะเป็นการริบเงินมัดจำได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2451/2565
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 23 ประมวลรัษฎากร ม. 30, 79/2, 83/10 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 112 อัฏฐารส พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ม. 17 พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ม. 14
ระยะเวลา 30 วัน ที่ให้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 อัฏฐารส เป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง อันกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ที่ศาลอาจขยายให้ได้ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว ศาลภาษีอากรกลางย่อมมีอำนาจที่จะอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นฟ้องออกไปได้ เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องภายในระยะเวลาที่ศาลขยายให้แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ตาม พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง เพื่อปฏิบัติตามข้อผูกพันตามความตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการความร่วมมือทางอุตสาหกรรมของอาเซียน (AICO) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 ดังกล่าว ออกประกาศกระทรวงการคลัง ที่ ศก. 17/2541 (ครอ.1) เรื่อง ลดอัตราอากรศุลกากร เมื่อพิจารณาข้อ 2.1 ในประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวประกอบกับความตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการความร่วมมือทางอุตสาหกรรมของอาเซียนแล้วเห็นได้ว่า ของที่มีสิทธิได้รับการลดอัตราอากรตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว คือ ผลิตภัณฑ์ที่นำเข้า ซึ่งคำขอสมัครเข้าร่วมโครงการ AICO ของโจทก์ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ที่โจทก์ขอเข้าร่วมโครงการ คือ ชุดเกียร์รถยนต์ (Transmission) ซึ่งมี รุ่น (Model) MUA รหัส (Code) H9 หมายเลขชิ้นส่วน (Assembly Parts Number) 897200-0510 รุ่นรถปิกอัพในประเทศไทย (Pick up Model in THAILAND) TFR 55 H, HP, HPY รุ่น (Model) MUA รหัส (Code) 8F หมายเลขชิ้นส่วน (Assembly Parts Number) 897200-0540 รุ่นรถปิกอัพในประเทศไทย (Pick up Model in THAILAND) TFS 55 HPY, GY รุ่น (Model) MSG รหัส (Code) HU หมายเลขชิ้นส่วน (Assembly Parts Number) 897200-0460 รุ่นรถปิกอัพในประเทศไทย (Pick up Model in THAILAND) TFR 54 H, HY, HP, HPY และ รุ่น (Model) MSG รหัส (Code) HY หมายเลขชิ้นส่วน (Assembly Parts Number) 897200-0480 รุ่นรถปิกอัพในประเทศไทย (Pick up Model in THAILAND) TFR 54 H, HY, HP, HPY ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมอนุมัติคำขอเข้าร่วมโครงการของโจทก์ เมื่อผลิตภัณฑ์ซึ่งหมายถึงสินค้าของโจทก์ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามโครงการ AICO ตามใบรับรองผลิตภัณฑ์ คือ ชุดเกียร์รถยนต์ ดังนั้น ชื่อ หมายเลข ยี่ห้อ ประเภท รุ่น หรือรายละเอียดอื่น ๆ ตามชนิดของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ที่จะได้รับการลดอัตราอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง ที่ ศก. 17/2541 (ครอ.1) จึงหมายถึง ชื่อของชุดเกียร์ หมายเลขของชุดเกียร์ ยี่ห้อของชุดเกียร์ และรุ่นของชุดเกียร์ หาใช่รุ่นของรถยนต์ที่จะนำชุดเกียร์ไปประกอบไม่ ซึ่งรุ่นของชุดเกียร์ที่โจทก์ขอเข้าร่วมโครงการ AICO คือ MUA และ MSG ส่วนคำว่า Pick up Model in THAILAND TFR 54 TFR 55 และ TFS 55 ที่ระบุไว้ในใบรับรองผลิตภัณฑ์เป็นเพียงรหัสรุ่นของรถยนต์ที่จะนำชุดเกียร์ไปประกอบเท่านั้น ซึ่งแม้จะระบุไว้ในใบรับรองผลิตภัณฑ์ก็หาใช่เป็นเงื่อนไขในการนำมาพิจารณาการได้สิทธิลดอัตราอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง ที่ ศก. 17/2541 (ครอ.1) ไม่ ซึ่งข้อวินิจฉัยนี้สอดคล้องกับที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมมีหนังสือตอบข้อหารือของจำเลยที่ 1 กรณีที่โจทก์นำชุดเกียร์ไปประกอบกับรถยนต์ไม่ตรงรุ่นตามที่แจ้งในใบรับรองผลิตภัณฑ์ว่า ในการพิจารณาคำขอของคณะกรรมการมิได้นำเรื่องรุ่น (Model) ซึ่งหมายถึงรุ่นของรถยนต์ที่นำชุดเกียร์ไปประกอบมาเป็นเงื่อนไขในการพิจารณา นอกจากนี้ยังได้ความจากผู้รับมอบอำนาจโจทก์ว่า รหัส TFR 55 มีกำลังเครื่องยนต์ 2,800 ซีซี เป็นรถรุ่น D. หรือ ด. เมื่อถูกเปลี่ยนเป็นรหัส TFR 77 เพราะมีการเปลี่ยนกำลังเครื่องยนต์เป็น 3,000 ซีซี ก็ยังคงถือว่าเป็นรถในรุ่น D. เช่นเดียวกันกับรหัส TFR 55 เดิม ส่วนรหัส TFS 55 มีกำลังเครื่องยนต์ 2,800 ซีซี เป็นรถรุ่น R. หรือ ร.เมื่อถูกเปลี่ยนเป็นรหัส TFS 77 เพราะมีการเปลี่ยนกำลังเครื่องยนต์เป็น 3,000 ซีซี ก็ยังคงถือว่าเป็นรถในรุ่น R. เช่นเดียวกันกับรหัส TFS 55 เดิม ทั้งเมื่อเปรียบเทียบในโครงการเดียวกันนี้กับใบรับรองผลิตภัณฑ์เลขที่ Honda/2000/12 ของบริษัทฮอนด้า ออโต้โมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ที่ระบุรุ่นของรถยนต์ (Model) ว่า CIVIC กับใบรับรองผลิตภัณฑ์เลขที่ Toyota/2000/11 ของบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่ระบุรุ่นของรถยนต์ (Model) ว่า Corolla โดยไม่ได้ระบุเป็นรหัสของรุ่นรถยนต์ดังเช่นใบรับรองผลิตภัณฑ์ของโจทก์ก็ยังได้รับสิทธิตามโครงการนี้ ดังนั้น รุ่นของรถยนต์ที่ระบุไว้ในใบรับรองผลิตภัณฑ์จึงไม่ใช่สาระสำคัญในการได้รับสิทธิลดอัตราอากรของโจทก์ตามประกาศกระทรวงการคลัง ที่ ศก. 17/2541 (ครอ.1) เมื่อชุดเกียร์รถยนต์ที่โจทก์นำเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าพิพาทตรงตามชื่อของผลิตภัณฑ์ (Part Name) หมายเลข (Part Number) ยี่ห้อ ประเภท รุ่น หรือรายละเอียดอื่น ๆ ตามชนิดของผลิตภัณฑ์ที่ระบุไว้ในใบรับรองผลิตภัณฑ์แต่ละฉบับซึ่งออกโดยเลขาธิการอาเซียนแล้ว โจทก์ย่อมได้สิทธิลดอัตราอากรภายใต้โครงการความร่วมมือทางอุตสาหกรรมของอาเซียน (AICO) ตามประกาศกระทรวงการคลัง ที่ ศก. 17/2541 (ครอ.1)
คดีนี้เป็นกระบวนพิจารณาในชั้นอุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ประเด็นแห่งคดีที่เกี่ยวกับการประเมินจึงต้องเป็นไปตามที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินไว้ตั้งแต่ต้นและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ทำการวินิจฉัย จำเลยทั้งสองจะเพิ่มเติมประเด็นอื่นขึ้นใหม่ในชั้นศาลนอกเหนือจากที่เจ้าพนักงานประเมินได้มีการประเมินไว้เพื่อให้โจทก์ต้องรับผิดหาได้ไม่ มิฉะนั้นจะเท่ากับเป็นการขยายระยะเวลาการประเมินและประเด็นในการประเมินโดยไม่มีที่สิ้นสุดและไม่แน่นอน ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้ต้องเสียภาษีอากรและไม่ชอบด้วยหลักการในการประเมินและการอุทธรณ์การประเมิน เมื่อข้อที่จำเลยทั้งสองฎีกาดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองเพิ่งยกขึ้นใหม่เพื่ออ้างเป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้รับสิทธิลดอัตราอากร ซึ่งมีอยู่หลายกรณีอันเป็นการตั้งประเด็นแห่งคดีที่เกี่ยวกับการประเมินนอกเหนือจากที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้โจทก์ต้องรับผิดมาแต่ต้นและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้ จึงเป็นการมิชอบ แม้ศาลล่างทั้งสองจะรับวินิจฉัยให้ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรก็ไม่รับวินิจฉัย
แม้ ป.รัษฎากร มาตรา 30 จะบัญญัติถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ตาม แต่ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 79/2 บัญญัติว่า "ฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (1) ฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าทุกประเภท ได้แก่ มูลค่าของสินค้านำเข้า โดยให้ใช้ราคา ซี.ไอ.เอฟ. ของสินค้า บวกด้วยอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา 77/1 (19) ค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนและภาษี และค่าธรรมเนียมอื่นตามที่จะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา…" โดยมาตรา 83/10 บัญญัติว่า "ในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (1) สำหรับสินค้าที่นำเข้า ให้กรมศุลกากรเรียกเก็บเพื่อกรมสรรพากร…" ดังนั้น เมื่อการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มต้องอาศัยมูลค่าของฐานภาษี คือ ราคาสินค้าบวกด้วยอากรขาเข้าที่โต้แย้งกันในคดีนี้ว่าเป็นอากรเท่าใดเพื่อใช้เป็นฐานภาษี ความรับผิดเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์จึงขึ้นอยู่กับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 หากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 วินิจฉัยให้อากรขาเข้าลดลง ภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์มีความรับผิดตามการประเมินของจำเลยที่ 1 ที่ทำแทนจำเลยที่ 2 ก็ต้องลดลงไปโดยผลของกฎหมายด้วย เมื่อโจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 โต้แย้งเกี่ยวกับอากรศุลกากรแล้ว จึงไม่จำต้องอุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากรอีก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม และเมื่อโจทก์ไม่ต้องรับผิดในอากรขาเข้าแล้ว โจทก์ย่อมไม่ต้องรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มและเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 79/2 (1)
โจทก์ซึ่งยื่นคำฟ้องต่อศาลไม่ว่าศาลชั้นใดจะเสียค่าขึ้นศาลถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่เป็นเรื่องของโจทก์และศาลเท่านั้น ประกอบกับศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนแบบแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามฟ้องของโจทก์ และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืนตามศาลภาษีอากรกลาง อุทธรณ์และฎีกาของโจทก์มิได้เรียกร้องเงินหรือขอให้ปลดเปลื้องความรับผิดในการชำระเงินเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ได้รับแล้วตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางและศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ อุทธรณ์และฎีกาของโจทก์จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2470 - 2471/2565
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 342 (1) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 43, 195 วรรคสอง, 215, 225
ผู้เสียหายถูกคนร้ายหลอกลวงฉ้อโกงให้โอนเงินเข้าบัญชีของจําเลยที่ 1 จำนวน 3 ครั้ง เป็นเงิน 937,500 บาท เข้าบัญชีของจําเลยที่ 2 จำนวน 2 ครั้ง เป็นเงิน 612,500 บาท และเข้าบัญชีของจําเลยที่ 4 จำนวน 5 ครั้ง เป็นเงิน 1,370,000 บาท โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จําเลยแต่ละคนร่วมรู้เห็นหรือได้รับผลประโยชน์ใด ๆ จากการเปิดบัญชีเงินฝากร่วมกัน กรณีเป็นเรื่องต่างคนต่างทำ จําเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงไม่ต้องร่วมกันคืนหรือใช้เงินที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย แต่คงต้องรับผิดคืนหรือใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายจากผลเฉพาะที่ตนกระทำ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2431/2565
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 379, 383, 705, 733
ข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของ จ. ว่า จำเลยที่ 4 ปลอมลายมือชื่อตน ทำรายงานการประชุมเท็จ และนำห้องชุด 20 ห้องของจำเลยที่ 5 ไปจดทะเบียนจำนองกับโจทก์ตามฟ้อง และ จ. มาฟ้องจำเลยที่ 4 เป็นคดีอาญาและคดีแพ่งดังกล่าว แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วหรือไม่ ผลแห่งคดีเป็นเช่นไร ทั้งการกระทำของจำเลยที่ 4 ดังกล่าวนั้น ก็เป็นเรื่องการดำเนินการภายในของจำเลยที่ 5 ไม่มีผลผูกพันโจทก์ โดยโจทก์เป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองห้องชุด 20 ห้อง ไม่ปรากฏว่าโจทก์ไม่สุจริตอย่างไร ข้ออ้างของจำเลยที่ 5 ดังกล่าวจึงใช้ยันโจทก์ไม่ได้ โจทก์มิอาจทราบได้ว่าจำเลยที่ 4 ไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 5 ดังที่จำเลยที่ 5 ฎีกา ประกอบกับโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 5 โดยชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ตามหนังสือสัญญาจำนองเพิ่มหลักทรัพย์เป็นประกันโดยไม่เพิ่มวงเงิน รวม 20 ห้องชุด และตามสัญญาค้ำประกัน ตามที่โจทก์อุทธรณ์และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2420/2565
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 22, 53, 91 (3), 277 วรรคสี่, 279 วรรคสาม, 285
จำเลยกระทำความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยใช้อาวุธรวม 2 กระทง แม้ลงโทษจำคุกกระทงละตลอดชีวิต ก็เรียงกระทงลงโทษจำคุกตลอดชีวิตจำเลย 2 กระทง ได้