กฎหมายฎีกา ปี 2566
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5043/2566
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1650
หนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายในการจัดการทำศพผู้ตายนั้น จำต้องชดใช้จากสินทรัพย์แห่งกองมรดก เนื่องด้วยเป็นการดำเนินการตามสมควรแก่ฐานะในสมาคมของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1650
ส่วนเงินฌาปนกิจศพของผู้ตายที่โจทก์ได้รับจากกองทุนหมู่บ้านนั้น ถือเป็นเงินจัดการทำศพผู้ตาย แม้จะเป็นเงินที่ได้มาตามสิทธิภายหลังที่ผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว หาใช่ทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ในขณะที่ถึงแก่ความตายไม่เป็นสินทรัพย์แห่งกองมรดกก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาระเบียบประกอบรายการโอนเงินที่ระบุว่าเป็นเงินฌาปนกิจศพสงเคราะห์บ้าง สงเคราะห์ศพบ้าง ส่งเงินศพบ้าง แสดงว่าหมู่บ้านต่าง ๆ มีเจตนามอบเงินดังกล่าวเป็นเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือจัดการงานศพสมาชิกตามประเพณีเพื่อลดภาระหนี้สินค่าใช้จ่ายจัดการศพอันเป็นการสงเคราะห์ศพ จึงต้องนำเงินดังกล่าวไปหักกับค่าใช้จ่ายที่โจทก์ได้จ่ายไปในการจัดการศพผู้ตายก่อนตามเจตนาที่กองทุนหมู่บ้านมอบให้ หากมีค่าใช้จ่ายเหลือเท่าใดจึงเป็นหนี้กองมรดก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5234 - 5238/2566
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 163, 164 พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 ม. 14 (2)
ตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 14 (2) ระบุว่าในคดีอาญาพนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ตาม ป.วิ.อ. และตามกฎหมายอื่นซึ่งบัญญัติว่าเป็นอำนาจและหน้าที่ของอัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการ ประกอบกับการมีคำสั่งมอบหมายของอัยการสูงสุดให้พนักงานอัยการ ซึ่งเป็นพนักงานแห่งท้องที่ตามเขตอำนาจศาลที่รับผิดชอบดำเนินคดีอาญาฟ้องจำเลย หาต้องมอบอำนาจให้กระทำการแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องตัวแทน ดังนั้น การที่โจทก์ขอแก้ไขและเพิ่มเติมฟ้องในคดีที่จำเลยที่ 5 ที่ 10 ถึงที่ 12 ที่ 27 และที่ 34 โดยระบุว่า อัยการสูงสุดได้มอบหมายให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 รับผิดชอบฟ้องคดีและดำเนินคดีแทนอัยการสูงสุด จึงมิใช่เป็นการขอแก้ไขและเพิ่มเติมฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ให้เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 163 และ 164 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5220/2566
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 122
การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาที่มีต่อบุคคลอื่นตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 122 หมายถึงสิทธิตามสัญญาที่ลูกหนี้จะพึงได้รับ หาใช่สิทธิตามสัญญาที่ผู้อื่นจะพึงได้รับไม่ ผู้ร้องชำระราคาห้องชุดให้แก่ลูกหนี้ครบถ้วนตามสัญญาแล้ว ลูกหนี้ย่อมไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะได้รับจากผู้ร้องอีก คงมีแต่หน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายคือโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่ผู้ร้องเท่านั้น การที่ห้องชุดติดจำนองบริษัท ฮ. ก็เป็นหน้าที่ของลูกหนี้ที่ต้องไถ่ถอนจำนองจากบริษัท ฮ. หาใช่หน้าที่ที่ลูกหนี้ต้องปฏิบัติต่อผู้ร้องไม่ ประกอบกับศาลได้มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่ผู้ร้อง อันทำให้สิทธิของผู้ร้องมิใช่สิทธิตามสัญญาโดยแท้แต่เป็นสิทธิตามคำพิพากษา จึงไม่อยู่ในดุลพินิจของผู้คัดค้านที่จะพิจารณาว่าสิทธิตามคำพิพากษาที่ผู้ร้องจะพึงได้รับมีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้แก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้หรือไม่ ผู้คัดค้านจึงไม่อาจอ้างอำนาจตามมาตรา 122 มาปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาที่จะต้องดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่ผู้ร้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5217/2566
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 ม. 14, 15
จำเลยทั้งสามรับทราบกำหนดนัดพิจารณาในวันที่ 15 มิถุนายน 2564 โดยชอบแล้วไม่มาศาล ในวันนัดทนายโจทก์แถลงขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนคดีไปพิจารณาวันที่ 26 สิงหาคม 2564 ซึ่งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 15 วรรคสอง กำหนดว่า ในกรณีที่คู่ความไม่มาศาลในนัดใดไม่ว่าจะได้รับอนุญาตจากศาลหรือไม่ ให้ถือว่าคู่ความนั้นได้ทราบกระบวนพิจารณาของศาลในนัดนั้นแล้ว จึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสามทราบกำหนดนัดพิจารณาในวันที่ 26 สิงหาคม 2564 โดยชอบแล้ว เมื่อจำเลยทั้งสามไม่มาศาลในวันนัดและศาลมีคำสั่งว่าจำเลยทั้งสามขาดนัดพิจารณาแล้วให้พิจารณาคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียวจึงชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้ว
ในการพิจารณาคดีของศาลนั้น หากศาลเห็นว่าเพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม เมื่อศาลเห็นสมควรหรือคู่ความร้องขอ ศาลอาจกำหนดให้ดำเนินกระบวนพิจารณาด้วยวิธีพิจารณาคดีผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 ข้อ 4 และข้อ 13 ประกอบกับการสืบพยานโจทก์ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น ไม่ทำให้จำเลยทั้งสามเสียสิทธิในการต่อสู้คดีแต่อย่างใด หากจำเลยทั้งสามมาศาลในวันนัด จำเลยทั้งสามยังสามารถยื่นคำให้การ ถามค้านพยานโจทก์ตลอดจนนำพยานเข้าสืบในวันนัดได้ การที่ศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้โจทก์สืบพยานผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว จึงชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5213/2566
พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 ม. 8, 8 ทวิ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ม. 3 (7)
การที่ผู้คัดค้านนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยเกินกว่า 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยไม่แจ้งรายการเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร อันเป็นการฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง ประกาศหรือคำสั่งที่ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 ถือเป็นความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายศุลกากรอันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (7) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าเงินตราต่างประเทศของกลางเป็นเงินตราที่ได้มาโดยมิชอบ เงินตราต่างประเทศของกลางจึงมิใช่เครื่องมือหรือทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร จึงไม่อาจริบเงินของกลางให้ตกเป็นของแผ่นดินได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5209/2566
พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ม. 4 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 22
จำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ แต่ก่อนถึงกำหนดวันที่ลงในเช็ค จำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จำเลยย่อมไม่มีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของตนเองนับแต่วันดังกล่าว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 เมื่อโจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า "มีคำสั่งให้ระงับการจ่ายโดยผู้มีอำนาจตามกฎหมาย" แสดงว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ดำเนินการตามอำนาจในการจัดการและเก็บรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยเพื่อเข้ากองทรัพย์สินและนำมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ด้วยการมีคำสั่งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินตามเช็คพิพาท การที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินมิใช่เกิดจากการกระทำของจำเลย จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5163/2566
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1299 วรรคแรก, 1387, 1401
ผ. และ ม. เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1625 ได้ยกทางพิพาทให้ทายาทซึ่งเป็นบุตรทั้งแปดคนใช้เข้าออกสู่ทางสาธารณะตั้งแต่ก่อนปี 2534 กับทั้งแบ่งที่ดินให้ทายาทครอบครองและสร้างบ้านพักอาศัย เมื่อ ผ. และ ม. ถึงแก่ความตาย ทายาทก็ได้รับโอนมรดกที่ดินมาครอบครองเป็นของตน โดยยังคงใช้ทางพิพาทในการเข้าออกที่ดินตลอดมา ต่อมาทายาทแบ่งแยกที่ดินออกเป็นโฉนดรวม 9 แปลง โดยมีการรังวัดทางพิพาทซึ่งเป็นทางเข้าออกเดิมไว้ชัดเจน ทายาททั้งแปดซึ่งรวมถึงโจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ที่ 4 ก็ลงลายมือชื่อในบันทึกถ้อยคำกรณีประสงค์ขอรังวัดแบ่งแยกในนามเดิม หลังจากนั้นทายาทตกลงแบ่งแยกโฉนดจากเดิมที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันออกเป็นกรรมสิทธิ์ของแต่ละคน โดยทางพิพาทอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 38416 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินมาก็ได้โอนให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 ขอรังวัดสอบเขต และขอแบ่งทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ ซึ่งทายาทเจ้าของที่ดินข้างเคียงก็ไม่ได้ปฏิเสธไม่รับรู้ว่าไม่มีทางพิพาท มีเพียงจำเลยที่ 4 ที่โต้แย้งเฉพาะเรื่องแนวเขตทางพิพาทเท่านั้น ทำให้จำเลยที่ 2 ต้องขอให้รอการรังวัดแบ่งหักที่ดินเป็นทางสาธารณประโยชน์ไว้ก่อน การที่เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมใช้ทางพิพาทในที่ดินของตน จึงไม่ได้เป็นการใช้ในลักษณะทางภาระจำยอม การใช้ทางพิพาทของทายาทอื่นในลักษณะภาระจำยอมโดยอายุความจึงเริ่มนับแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2561 ที่มีการแบ่งแยกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งมีระยะเวลาเพียง 2 ปีเศษ นับถึงวันฟ้อง ทางพิพาทจึงไม่ได้ตกเป็นภาระจำยอมโดยอายุความ
อย่างไรก็ตาม เมื่อทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะเพื่อประโยชน์สำหรับทายาทที่ครอบครองที่ดินที่ ผ. และ ม. ยกไว้ให้ก่อนที่ทายาทจะได้รับโอนมรดกมาเป็นของตน จนกระทั่งมีการแบ่งแยกโฉนดที่ดินออกเป็น 9 แปลง ก็ได้มีการแบ่งแนวเขตทางพิพาทไว้ชัดเจน การที่ทายาทตกลงแบ่งแยกโฉนดที่ดินระหว่างกันโดยมีการระบุทางพิพาทมาตั้งแต่ต้นย่อมถือได้ว่าเป็นข้อตกลงก่อตั้งภาระจำยอมทางพิพาทเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินอื่นตามที่มีการแบ่งแยกไว้ ทางพิพาทจึงเป็นภาระจำยอม จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับโอนที่ดินและทางพิพาทต่อมาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งรับโอนมาจากจำเลยที่ 1 อีกทอดหนึ่ง จึงมีภาระที่จะต้องดำเนินการเกี่ยวกับทางพิพาทดังกล่าวให้เป็นไปตามข้อตกลงนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4942/2566
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 300 วรรคสาม
กรณีตามคำร้องเป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยยังโต้เถียงกันอยู่ว่าหนี้ตามคำพิพากษามีจำนวนเท่าใด มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยคัดค้านว่าเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาสูงเกินกว่าที่จะพอชำระหนี้โดยหนี้ตามคำพิพากษานั้นมีจำนวนแน่นอนแล้ว คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยในบัญชีเงินฝากดังกล่าวจึงไม่เป็นที่สุด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 300 วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4890/2566
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1388
ทางรถยนต์หรือถนนในที่ดินของโจทก์เป็นทางภาระจำยอมแก่เจ้าของสามยทรัพย์ทุกแปลงที่จะใช้ทางภาระจำยอมดังกล่าว และโจทก์ในฐานะเจ้าของที่ดินภารยทรัพย์ก็มีสิทธิใช้สอยอย่างเจ้าของกรรมสิทธิ์ การที่จำเลยนำกรวยมาวางบนทางรถยนต์หรือถนนซึ่งเป็นทางภาระจำยอมหน้าอาคารพาณิชย์ของจำเลยและหน้าอาคารพาณิชย์อื่นเพื่อใช้เป็นที่จอดรถยนต์ส่วนตัวของจำเลยและบริวารนั้น เป็นการใช้สิทธิในภาระจำยอมเพิ่มขึ้นมากกว่าเจ้าของสามยทรัพย์อื่น ทำให้เจ้าของสามยทรัพย์อื่นและโจทก์ไม่อาจใช้ประโยชน์จากทางภาระจำยอมในบริเวณดังกล่าวได้อย่างสะดวก การกระทำของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์จึงเป็นการก่อภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1388 อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจึงต้องขนย้ายกรวยหรือวัสดุอื่นใดที่อยู่บนทางภาระจำยอมออกไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4887/2566
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 150, 1300, 1620, 1629, 1719, 1722
เมื่อผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใด จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วย เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของผู้จัดการมรดก ไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาทและการกระทำเช่นนี้ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และ 1722 จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจที่จะกระทำได้ ไม่ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธินำที่ดินทั้ง 7 แปลงไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 เมื่อ ช. ซึ่งเป็นเจ้ามรดกถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์มรดกย่อมตกแก่ทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1620 และ 1629 ซึ่งทายาทโดยธรรมของ ช. คือโจทก์ทั้งห้าและจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งห้าย่อมมีสิทธิฟ้องขอแบ่งมรดกในส่วนของตนได้
แม้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเองและนำไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 โดยไม่นำที่ดินไปแบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นตามสิทธินั้น เป็นการโอนไปหรือจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งห้าผู้เป็นทายาทและมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทอยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นธนาคาร และทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 รับจำนองโดยมีพฤติการณ์ไม่สุจริต ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ย่อมไม่ทำให้จำนองเสียไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300