กฎหมายฎีกา ปี 2555
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15686/2555
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/30
คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในกรณีที่จำเลยไม่ไปลงนามในสัญญาซื้อขายอันเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่จำเลยผู้เสนอราคาต้องปฏิบัติตามใบสอบราคา เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยโจทก์ได้บอกเลิกการสั่งซื้อรถยนต์จากจำเลยแล้ว ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์บอกเลิกสัญญาและจำเลยได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2547 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2551 ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15508/2555
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 137
การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล ถือว่าศาลทำหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมในการพิจารณาคดี มิได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานอย่างเจ้าพนักงานทั่วไป การที่จำเลยทั้งสองกับพวกยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับในคดีส่วนแพ่งอันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งในศาล จึงมิใช่เป็นเรื่องการแจ้งความแก่เจ้าพนักงาน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เข้าลักษณะความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 137
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17194/2555
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15, 195 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง เฉพาะวิธีพิจารณาในส่วนที่ว่า ข้อเท็จจริงที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้นต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและในส่วนที่ว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายจะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับเท่านั้น ส่วนบทบัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ที่ว่าปัญหาข้อเท็จจริงอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น คู่ความมีสิทธิยกขึ้นอ้างได้นั้นมิได้นำมาใช้บังคับด้วย เนื่องจาก ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วว่าให้อุทธรณ์ได้เฉพาะข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15214/2555
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 ประมวลกฎหมายอาญา ม. 84, 86, 334, 335 (7), 335 วรรคแรก
เมื่อพยานหลักฐานโจทก์นำสืบฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ใช้ให้เด็กชาย น. กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 84 จึงลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ได้ เมื่อฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการสนับสนุนให้เด็กชาย น. กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86 แม้โจทก์ไม่ได้กล่าวในฟ้อง ศาลก็ลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีกคนหนึ่ง ร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก แต่เมื่อได้ความว่า จำเลยเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์เท่านั้น ไม่ได้เป็นตัวการ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นตามบทบัญญัติดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8249/2555
พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ม. 4, 14, 31 วรรคสอง (2)
ป่าสงวนแห่งชาติเป็นการกำหนดตามเขตพื้นที่ และไม้ก็หมายถึงไม้ทุกชนิดในเขตป่าสงวนแห่งชาตินั้น โดยไม่ได้จำแนกว่าเป็นไม้ที่เกิดขึ้นเองหรือมีคนปลูกขึ้นมา และการกระทำของจำเลยทั้งสองที่ตัดไม้ยูคาลิปตัสที่ชาวบ้านปลูกเองเป็นความผิดฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 เพียงตัด ฟัน กาน โค่น ลิด เลื่อย ผ่า ถาก ทอน หรือขุดไม้ที่อยู่ในป่าสงวนแห่งชาติ ถือว่าเข้าลักษณะ "ทำไม้" ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4 แล้ว และการที่จำเลยทั้งสองตัดไม้ถึง 35 ท่อน แสดงถึงการตัดไม้จำนวนหลายต้น ดังนั้น ไม่ว่าจะอ้างเช่นใด ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการกระทำนี้ไม่มีผลให้เป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8124/2555
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 51 วรรคสาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 193/32
ประเด็นในคดีอาญาและคดีแพ่งนี้เป็นประเด็นเดียวกันว่าจำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ กรณีจึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และการที่พนักงานอัยการฟ้องคดีอาญาถือว่าพนักงานอัยการได้ดำเนินคดีอาญาแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย เมื่อคดีอาญาถึงที่สุดแล้วโดยศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยก่อนที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องคดีแพ่งย่อมมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 และ ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสาม แม้โจทก์จะมิได้ฟ้องหรือขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีอาญาดังกล่าวก็ตาม เพราะบทบัญญัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสาม มิได้บัญญัติให้ใช้บังคับเฉพาะกรณีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาหรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8120/2555
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 22
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ว. เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2535 ในคดีหมายเลขแดงที่ ล.376/2535 และ ว. ได้รับการปลดจากล้มละลายแล้วตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2547 ก่อนวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ คือวันที่ 24 พฤษภาคม 2549 ดังนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของ ว. จึงไม่มีอำนาจต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของ ว. ลูกหนี้อีกต่อไป โจทก์ชอบที่จะฟ้อง ว. เป็นจำเลยโดยตรง การที่โจทก์มาฟ้อง ว. โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของ ว. เป็นจำเลยที่ 1 นั้น เป็นการฟ้องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นจำเลยแทนลูกหนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8061/2555
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 57 (1)
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทและเรียกค่าเสียหาย จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ผู้ร้องสอดร้องเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม แต่คำร้องของผู้ร้องสอดอ้างเพียงว่าผู้ร้องสอดครอบครองที่ดินบางส่วนโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทบางส่วนโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้ร้องสอดมิได้กล่าวอ้างว่า ผู้ร้องสอดมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียกับจำเลยแต่อย่างใดที่จะถือว่าเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม ข้ออ้างของผู้ร้องสอดเป็นกรณีที่ผู้ร้องสอดตั้งข้อพิพาทโต้แย้งกรรมสิทธ์ในที่พิพาทกับโจทก์ทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวกับคดีนี้ ผู้ร้องสอดมีสิทธิในที่พิพาทอยู่เพียงใดคงมีอยู่อย่างนั้น หากศาลพิพากษาขับไล่จำเลยย่อมไม่มีผลกระทบถึงสิทธิของผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในมูลแห่งคดี จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิที่มีอยู่ คำร้องของผู้ร้องสอดไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ผู้ร้องสอดจึงไม่มีสิทธิร้องเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7735/2555
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 456
ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสองและวรรคสาม นอกจะบัญญัติให้การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาทหรือกว่านั้นขึ้นไป ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ จึงจะฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้แล้ว ยังได้บัญญัติอีกว่า "…หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว…" ก็ย่อมฟ้องร้องให้บังคับคดีได้เช่นกัน คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในการซื้อขายต้นอ้อย โจทก์และจำเลยไม่ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายหรือมีหลักฐานการซื้อขายเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อฝ่ายโจทก์หรือจำเลยผู้ต้องรับผิดไว้เป็นสำคัญ แต่ในวันที่ตกลงซื้อขายกัน โจทก์ได้ส่งมอบกรรมสิทธิ์ต้นอ้อยให้แก่จำเลยและจำเลยเข้าไปตัดต้นอ้อยของโจทก์ไปขายให้แก่โรงงานน้ำตาล อันถือได้ว่าโจทก์ชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายคือส่งมอบต้นอ้อยให้จำเลยแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับให้จำเลยชำระราคาต้นอ้อยได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7707/2555
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 2 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ม. 66 (เดิม), 84 (เดิม), 89 (เดิม)
ป. ป่าไม้จังหวัดอุดรธานีซึ่งรับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เข้าร้องทุกข์ต่อพันตำรวจโท ส. พนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยกับพวกก่อนใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 (เดิม), มาตรา 84 (เดิม) และมาตรา 89 (เดิม) โดยไม่มีมาตราใดของบทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้พนักงานสอบสวนซึ่งรับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษไว้ก่อนดังกล่าวนั้นต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วย จึงต้องเป็นไปตามหลักทั่วไปว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง แม้ต่อมาจะมีการแก้ไข มาตรา 66 และมาตรา 84 โดยก็มิได้บัญญัติให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนสอบสวนกรณีของจำเลยไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการ ดังนั้น การสอบสวนของพนักงานสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย และการที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมิได้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงไม่มีผลทำให้การสอบสวนและการฟ้องคดีนี้ของโจทก์เป็นไปโดยไม่ชอบแต่อย่างใด