กฎหมายฎีกา ปี 2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8674

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8674/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 1 (9), 265 (เดิม), 266 (1), 268

ใบทะเบียนพาณิชย์เป็นเอกสารราชการที่รัฐต้องการควบคุมพาณิชยกิจบางประเภทให้ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ เพื่อประโยชน์ทางสถิติและเพื่อทราบหลักฐานการประกอบพาณิชยกิจของผู้ประกอบการค้า อันจะใช้เป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการพาณิชย์ อุตสาหกรรม และปรับปรุงเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น มิใช่เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ ตามความหมายใน ป.อ. มาตรา 1 (9) การที่จำเลยปลอมใบทะเบียนพาณิชย์และใช้เอกสารดังกล่าว จึงไม่เป็นการปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ และไม่เป็นการใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8660

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8659 - 8660/2563

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ม. 3 (18), 50 วรรคหนึ่ง (2), 51 วรรคสาม

ผู้คัดค้านที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากผู้คัดค้านที่ 1 ในระหว่างที่ผู้คัดค้านที่ 1 ถูกแจ้งความดำเนินคดีโดยเหตุจากพฤติการณ์อันมีลักษณะที่เป็นการกระทำความผิดมูลฐานฉ้อโกงฐานเดียวกับที่กระทำมาหลายครั้งตั้งแต่ปี 2542 ทั้งผู้คัดค้านที่ 3 ก็เป็นผู้ไปดำเนินการขอปล่อยชั่วคราวผู้คัดค้านที่ 1 หลายครั้ง โดยเดินทางมาจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อขอประกันตัวผู้คัดค้านที่ 1 ที่กรุงเทพมหานคร พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าผู้คัดค้านที่ 3 มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คัดค้านที่ 1 เป็นอย่างมาก ซึ่งต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ารับโอนที่ดินมาโดยไม่สุจริตตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8591

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8591/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91, 209 วรรคแรก, 210 วรรคแรก, 269/5, 269/6, 269/7, 341, 342 (1), 343 วรรคสอง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ม. 5 (1), 5 (2), 5 (3), 9 วรรคสอง, 60 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 ม. 5, 25

ป.อ. มาตรา 91 ไม่ได้บัญญัติว่า การกระทำความผิดหลายกรรมนั้นจะเกิดขึ้นในวาระเดียวกันไม่ได้ การกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันก็อาจเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันได้ ซึ่งย่อมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในแต่ละกรณีไป เมื่อสภาพแห่งความผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ ฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร และฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ กับความผิดฐานร่วมกันสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและฐานร่วมกันฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบ มีความมุ่งหมายให้เกิดผลต่อผู้กระทำความผิดที่แตกต่างกัน ซึ่งแต่ละฐานความผิดแยกออกจากกันได้ชัดเจนทั้งในแง่องค์ประกอบความผิด เจตนาในการกระทำ สภาพและลักษณะของการกระทำความผิดสำเร็จ ตลอดจนบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ต่างฉบับกัน แม้การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดในความผิดฐานดังกล่าวเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน แต่การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดมีเจตนาจะทำให้ผลของการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นต่างกัน การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดในความผิดฐานร่วมกันสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและฐานร่วมกันฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบจึงเป็นความผิดต่างกรรมกับการกระทำความผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ ฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร และฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติความผิดฐานร่วมกันใช้และมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน โดยเป็นการกระทำเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด หรือใช้เบิกถอนเงินสด กับความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่นนั้น เมื่อจำเลยทั้งเจ็ดหลอกลวงผู้เสียหายจนหลงเชื่อและโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารที่จำเลยทั้งเจ็ดเตรียมไว้แล้ว จำเลยทั้งเจ็ดเบิกถอนเงินจำนวนดังกล่าวจากตู้เบิกถอนเงินสดอัตโนมัติไป แม้การใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบฯ จะกระทำภายหลังจากจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันฉ้อโกงผู้เสียหายสำเร็จแล้ว แต่ก็เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกัน โดยจำเลยทั้งเจ็ดมีเจตนาที่จะใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน โดยเป็นการกระทำเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการเบิกถอนเงินสดที่ผู้เสียหายโอนให้จำเลยทั้งเจ็ด ความผิดฐานร่วมกันใช้และมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบฯ กับความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาเดียว เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8575

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8575/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 326 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15, 226, 226/1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225 วรรคหนึ่ง, 252

การกระทำของ น. ที่แอบนำเอาเครื่องบันทึกเสียงมาทำการบันทึกการสนทนาระหว่างจำเลยทั้งสองกับคู่สนทนา โดยจำเลยทั้งสองไม่ทราบว่าขณะที่ตนทำการสนทนาอยู่นั้น การสนทนาได้ถูกบันทึกลงไปในเครื่องบันทึกเสียงเรียบร้อยแล้ว ย่อมเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของจำเลยทั้งสองอย่างชัดแจ้ง จึงเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ ซึ่งต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 แม้หลักกฎหมายดังกล่าวจะใช้ตัดพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน มิให้เจ้าพนักงานของรัฐใช้วิธีการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 226 ไม่ได้บัญญัติห้ามไม่ให้นำไปใช้กับการแสวงหาพยานหลักฐานของบุคคลธรรมดาจึงนำไปใช้บังคับแก่กรณีที่เอกชนผู้เสียหายเป็นผู้ได้พยานหลักฐานนั้นมาจากการกระทำโดยมิชอบด้วย ส่วนจะมีเหตุยกเว้นให้สามารถรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบนั้นได้หรือไม่เป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/1 อันเป็นข้อยกเว้นให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาด้วยวิธีการอันเกิดจากการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง และต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดี โดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังที่กฎหมายกำหนดไว้ คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานหมิ่นประมาท อันเป็นการพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกัน และเป็นความผิดอันยอมความได้ พฤติการณ์ของความผิดในคดีจึงมิใช่เรื่องร้ายแรง ที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือผลประโยชน์สาธารณะของประชาชนโดยส่วนรวม ลักษณะแห่งคดียังอยู่ในวิสัยที่โจทก์ทั้งสองสามารถหาพยานหลักฐานด้วยวิธีการอันสุจริตชอบด้วยกฎหมายมาพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งสองได้ การอนุญาตให้รับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาจากการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ เท่ากับอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองนำพยานหลักฐานมาเพิ่มเติมในส่วนที่ตนนำสืบบกพร่องไว้ เพื่อจะลงโทษจำเลยทั้งสองแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งที่เป็นการละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคลและกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันเป็นการขัดต่อหลักการพื้นฐานของการดำเนินคดีอาญาโดยทั่วไป ประกอบกับโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้แสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ มิใช่ผู้ที่จะต้องได้รับการลงโทษในทางอาญา หากศาลปฏิเสธไม่รับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้น ดังนี้ การรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวกลับจะเป็นผลเสียมากกว่า บันทึกเสียงการสนทนาและข้อความจากการถอดเทปจึงไม่อาจรับฟังได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 และ 226/1

การโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลล่างทั้งสองที่วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองไม่พอฟังว่า จำเลยทั้งสองกล่าวถ้อยคำตามฟ้องอันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แม้โจทก์ทั้งสองจะได้รับอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ข้อเท็จจริงนั้นก็ยังต้องว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองด้วย เมื่อศาลล่างทั้งสองมิได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และ 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8572

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8572/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 277, 283 ทวิ, 317 วรรคสาม

จำเลยชักชวนผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาออกจากห้องเช่าของผู้เสียหายที่ 1 ไปเล่นโทรศัพท์ในห้องเช่าของจำเลยซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน ไม่ว่าจะขออนุญาตผู้เสียหายที่ 1 หรือไม่ เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ถูกจำเลยพาไปพยายามกระทำชำเรา ถือได้ว่าเป็นการพาและแยกเด็กไปจากความปกครองดูแล และล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 อันเป็นความหมายของคำว่า "พราก" แล้ว จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม

จำเลยมีเจตนาพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 เพื่อการอนาจาร เป็นเจตนาที่กระทำต่อผู้เสียหายที่ 1 มารดาของผู้เสียหายที่ 2 ส่วนที่จำเลยเจตนากระทำอนาจารและพยายามกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 เป็นเจตนาต่างหากจากเจตนาพรากผู้เสียหายที่ 2 ไป มิใช่กระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน จึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8567

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8567/2563

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5) ประมวลรัษฎากร ม. 4, 16, 30, 79/2, 83/10 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ม. 26 พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ม. 15 วรรคสาม

พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบเกี่ยวกับรายละเอียดของสินค้าและการใช้ประโยชน์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 และฟังได้ว่าสินค้าพิพาทเป็นของผสมหรือของรวมที่มีวัตถุหรือสารนั้นรวมอยู่กับวัตถุหรือสารอื่น ๆ ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ข้อ 2 (ข) ซึ่งระบุให้จำแนกประเภทของของที่ประกอบด้วยวัตถุหรือสารมากกว่าหนึ่งชนิดขึ้นไปให้จำแนกตามหลักเกณฑ์ ข้อ 3 โดยข้อ 3 (ก) ระบุว่า ถ้าประเภทหนึ่งระบุลักษณะของของไว้โดยเฉพาะและประเภทอื่น ระบุไว้อย่างกว้าง ๆ ให้จัดของนั้นเข้าประเภทที่ระบุไว้โดยเฉพาะ สินค้าพิพาทเป็นท่อพลาสติกที่มีเส้นลวดเหล็กพันรอบ และมีพลาสติกอยู่ชั้นนอกสุดจึงถือเป็นหลอดหรือท่อที่อ่อนงอได้ ทำด้วยโลหะสามัญ ตามประเภทพิกัด 83.07 โดยเข้าประเภทพิกัดย่อย 8307.10 ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และเป็นกรณีที่ประเภทพิกัดอัตราศุลกากรได้ระบุลักษณะของของไว้โดยเฉพาะแล้วตามข้อ 3 (ก) สินค้าพิพาทจึงต้องจัดเข้าพิกัด 8307.10 ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างในฎีกาว่ามีความเห็นแย้งของผู้พิพากษาในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษว่า สินค้าพิพาทจัดเข้าประเภทพิกัด 7326.209 นั้น เห็นว่า ความเห็นแย้งดังกล่าวไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น

อนึ่ง เนื่องจากคดีนี้เป็นกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรได้วินิจฉัยให้โจทก์เสียอากรขาเข้าลดลง ย่อมส่งผลให้ฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มลดลง แม้ ป.รัษฎากร มาตรา 30 จะบัญญัติถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ตาม แต่ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 79/2 เมื่อการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มต้องอาศัยมูลค่าของฐานภาษีตามราคาสินค้าบวกด้วยอากรขาเข้าที่โต้แย้งกันในคดีนี้ว่าเป็นจำนวนเงินค่าอากรเท่าใด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาศัยอำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 4 ประกาศแต่งตั้งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป สังกัดจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 16 และจำเลยที่ 1 ใช้อำนาจตาม ป.รัษฎากรเป็นผลกระทบต่อสถานภาพ สิทธิ และหน้าที่ของโจทก์ และใน ป.รัษฎากร มาตรา 83/10 ดังนั้น เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีคำพิพากษาวินิจฉัยในเรื่องพิกัดอัตราศุลกากรอันมีผลให้อากรขาเข้าลดลง ภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์มีความรับผิดตามการประเมินของจำเลยที่ 1 ก็ต้องลดลงไปโดยผลของกฎหมายด้วย เมื่อโจทก์ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 โต้แย้งเกี่ยวกับพิกัดอัตราอากรศุลกากรซึ่งเป็นผลให้กระทบจำนวนเงินที่ต้องนำมารวมกับมูลค่าของเพื่อเป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว แม้โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตาม ป.รัษฎากร ก็ต้องปรับจำนวนฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าตามราคาสินค้าบวกค่าอากรขาเข้าที่ถูกต้องตามผลคดีที่โจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินอากรขาเข้าเพื่อให้จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นไปตามกฎหมาย ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจึงมีอำนาจพิพากษาไปถึงจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตามฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าที่โจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย ปัญหานี้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาแต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้การเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 26

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8482

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8482/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 264, 265, 266, 268 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 ม. 42

จำเลยที่ 1 กรรมการคนหนึ่งของบริษัท ช. ลงลายมือชื่อในรายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมและ/หรือมติพิเศษ (แบบ บอจ.4) โดยระบุชื่อโจทก์เป็นกรรมการที่ออกจากตำแหน่ง เป็นการลงลายมือชื่อในนามของจำเลยที่ 1 เอง มิได้เป็นการปลอมลายมือชื่อผู้อื่นในเอกสารและไม่ใช่การเพิ่มเติมข้อความในเอกสารที่แท้จริง เอกสารดังกล่าวจึงมิใช่เอกสารปลอม แม้ไม่มีตราประทับของบริษัท ช. ก็ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำในนามของบุคคลอื่น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8481

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8481/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 22

ก่อนที่คดีนี้ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษา ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.3275/2560 แม้ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ก็เป็นอำนาจของศาลฎีกาที่จะสั่งให้นับโทษจำเลยต่อได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8477

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8477/2563

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 5, 806 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5) พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ม. 7

การที่ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยที่ 2 มีชื่อร่วมในโฉนดที่ดินและสัญญาจำนองเป็นการถือกรรมสิทธิ์แทนผู้ร้องนั้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของผู้ร้องซึ่งเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อในการถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทในส่วนที่จำเลยที่ 2 ยึดถือไว้แทนผู้ร้อง การที่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจะได้รับความคุ้มครองไม่ให้ต้องเสื่อมเสียถึงสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้สามัญตามคำพิพากษา เมื่อจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อไว้ต่อโจทก์ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเป็นตัวแทนของผู้ร้องในการถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาท โจทก์จึงไม่ได้อยู่ในฐานะบุคคลภายนอกที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 806 แต่เมื่อคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดของผู้ร้องระบุว่าการมีชื่อจำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในโฉนดที่ดิน หนังสือสัญญาขายที่ดิน และสัญญาจำนอง เป็นการทำนิติกรรมอำพรางเพื่อให้ธนาคารปล่อยเงินกู้ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ร้อง ย่อมแสดงว่าผู้ร้องตระหนักดีว่าเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้ร้องฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอกพฤติการณ์ของผู้ร้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาท ซึ่งปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8475

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8475/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 264, 265, 268

การที่ ศ. ยินยอมให้ ร. ลงลายมือชื่อของ ศ. ในใบเสร็จรับเงินโดยไม่ได้กรอกข้อความอื่นแล้วมอบให้จำเลย แม้ว่าจำเลยจะเป็นผู้กรอกข้อความในใบเสร็จรับเงินหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อข้อความที่กรอกนั้นตรงกับความเป็นจริง ทั้งข้อความนั้นเป็นประโยชน์แก่ ศ. ผู้มีอำนาจทำเอกสาร จึงไม่เกิดความเสียหายแก่เจ้าของเอกสารหรือผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ถือไม่ได้ว่าเป็นการปลอมเอกสาร และเมื่อใบเสร็จรับเงินไม่ใช่เอกสารปลอม จำเลยนำใบเสร็จรับเงินไปใช้แสดงต่อที่ประชุมสมาคมโจทก์ก็ไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารปลอม

« »