คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8469

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8469/2563

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1388 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286

เดิมโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินแปลงใหญ่โฉนดเลขที่ 8260 แล้วโจทก์จดทะเบียนแบ่งแยกออกเป็นที่ดินแปลงย่อย 45 แปลง และก่อสร้างอาคารพาณิชย์บนที่ดินเหล่านั้นนำออกขาย คงเหลือที่ดินโฉนดเลขที่ 8260 หรือที่ดินส่วนกลาง โจทก์ยอมให้ผู้ซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์จากโจทก์สามารถใช้ที่ดินส่วนกลางทั้งแปลงเป็นทางเดินเข้าออกสู่ถนนสาธารณะ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ในฐานะผู้ขายที่ดินจัดให้มีสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะ และถือได้ว่าเป็นการจัดสรรที่ดินแล้ว ดังนั้น ที่ดินส่วนกลางที่โจทก์ผู้จัดสรรที่ดินจัดให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรใช้เป็นทางจึงต้องตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินที่จัดสรรทุกแปลงรวมถึงที่ดินทั้งสองแปลงของจำเลยด้วย ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 1 และข้อ 30 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์จัดสรรที่ดิน จำเลยในฐานะเจ้าของสามยทรัพย์ไม่มีสิทธิทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1388 จำเลยและจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้เช่าอาคารบนที่ดินทั้งสองแปลงของจำเลย จึงมีสิทธิเพียงใช้ที่ดินส่วนกลางเป็นทางเข้าออกเท่านั้น ไม่อาจใช้ที่ดินส่วนกลางเป็นของตนเองโดยเฉพาะด้วยการก่อสร้างดัดแปลงและต่อเติมอาคารพาณิชย์รุกล้ำเข้ามาในที่ดินส่วนกลางซึ่งเห็นได้ว่าย่อมทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ โจทก์ในฐานะผู้จัดสรรที่ดินและเจ้าของที่ดินจึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยและจำเลยร่วมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินส่วนกลางได้

แม้จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้เช่าของจำเลยไม่อาจใช้ที่ดินส่วนกลางเกินกว่าการใช้เป็นทางภาระจำยอมก็ตาม แต่โจทก์คงมีแต่กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนกลางซึ่งตกเป็นภาระจำยอม โจทก์จึงต้องรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน และต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์ของจำเลยซึ่งจำเลยร่วมเช่าด้วย โจทก์ไม่อาจนำที่ดินส่วนกลางซึ่งตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินและอาคารพาณิชย์ของผู้ซื้อไปจากโจทก์ซึ่งใช้เป็นทางเข้าออกไปหาประโยชน์ได้อีกเพราะเป็นการกระทำอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก โจทก์จึงเรียกค่าเสียหายเป็นค่าใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินส่วนกลางจากจำเลยร่วมไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8455

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8455/2563

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1169

การที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 เป็นการที่ผู้ถือหุ้นฟ้องคดีเพื่อประโยชน์ของบริษัท ส่วนการทำบันทึกข้อตกลงที่ พ. และโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายผู้ขายกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นฝ่ายผู้ซื้อตกลงกันว่า ตามที่ฝ่ายผู้ซื้อและผู้ขายทั้งสองมีข้อพิพาทเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของบริษัทเป็นคดีอาญาของศาลแขวงสงขลา ทั้งสองฝ่ายสามารถระงับข้อพิพาทกันได้ โดยจำเลยที่ 1 ผู้ซื้อตกลงซื้อหุ้นของ พ. และโจทก์ผู้ขายทั้งสองซึ่งมีอยู่ในบริษัทรวม 5,333 หุ้น มูลค่าหุ้นเป็นเงิน 15,000,000 บาท จำเลยที่ 1 จะชำระค่าหุ้นภายในวันที่ 3 กรกฎาคม 2558 เมื่อมีการโอนหุ้นให้จำเลยที่ 1 แล้ว พ. และโจทก์จะไม่เข้ายุ่งเกี่ยวกับกิจการของบริษัท และทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจเรียกร้องใด ๆ ต่อกันอีกไม่ว่าทางแพ่งหรือทางอาญา กรณีเช่นนี้เป็นข้อตกลงของผู้ถือหุ้น โดย พ. และโจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 ซื้อหุ้นจากฝ่ายตน เมื่อ พ. และโจทก์ขายหุ้นในบริษัทแล้ว จำเลยที่ 1 จะได้ใช้สิทธิบริหารบริษัทแต่ผู้เดียว เป็นทำนองให้ผู้ถือหุ้นที่ไม่ประสงค์จะลงทุนในบริษัทซึ่งมีความขัดแย้งด้านการบริหารขายหุ้นและออกไปจากบริษัท ซึ่งหากมีการซื้อขายหุ้นตามที่ตกลงกันแล้ว พ. และโจทก์ก็จะไม่เกี่ยวข้องกับกิจการของบริษัทอีก จึงเป็นข้อตกลงที่ผูกพันกันด้วยฐานะการเป็นผู้ถือหุ้นเป็นส่วนตัว ไม่ได้เป็นการระงับสิทธิเรียกร้องในการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดแก่บริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้ถือหุ้น จึงหาได้มีผลเป็นการตกลงสละการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกรณีกรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าหุ้นตามข้อตกลง โจทก์ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทและโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นกรรมการบริษัท นำสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องของบริษัทไปซื้อหุ้นในส่วนของจำเลยที่ 3 ให้บริษัทถือหุ้นของตนเอง ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย แต่บริษัทไม่ยอมฟ้องคดี โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีแทนบริษัทเพื่อเรียกให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 อันเป็นการใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8450

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8450/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 2, 3 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 (4) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 144, 148 พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ม. 57 วรรคหนึ่ง (1), 97 วรรคหนึ่ง, 118

การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งฝ่าฝืน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 จนเป็นเหตุให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 97 วรรคหนึ่ง และศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 มีกำหนดหนึ่งปี ต่อมาพนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้สมัครรับเลือกตั้งกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 57 ขอให้ลงโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 118 โดยให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปีซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ของโทษทางอาญาและศาลล่างทั้งสองได้พิพากษามานั้น มิใช่กรณีเมื่อศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น และมิใช่กรณีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และมาตรา 148 และถือไม่ได้ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในคดีก่อนได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ยังไม่ระงับตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ศาลชั้นต้นในคดีนี้จึงมีอำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 ได้อีก

อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ใช้บังคับโดยยกเลิก พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด และให้ใช้บทบัญญัติใหม่แทน แต่การกระทำของจำเลยทั้งสามที่เป็นการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใดเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติมาตรา 57 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ฉบับเดิม ยังคงเป็นความผิดตามบทบัญญัติมาตรา 65 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ฉบับใหม่ที่คงใช้ข้อความทำนองเดียวกัน การกระทำของจำเลยทั้งสามยังคงเป็นความผิดอยู่เช่นเดิม ดังนั้น ต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ฉบับเดิม มาตรา 57 วรรคหนึ่ง (1) ในส่วนของบทความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งสาม ตาม ป.อ. มาตรา 2 ส่วนกำหนดโทษนั้นตามกฎหมายเดิมบัญญัติบทลงโทษไว้ในมาตรา 118 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี สำหรับกฎหมายที่แก้ไขใหม่บัญญัติบทลงโทษไว้ในมาตรา 126 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี จะเห็นได้ว่าตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกและโทษปรับเท่ากัน แต่ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นการบัญญัติให้ลงโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากกฎหมายเดิมที่กำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับเท่านั้น จึงต้องถือว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด และกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษจำคุกและโทษปรับซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ ในส่วนของโทษจำคุกและโทษปรับตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 126 วรรคหนึ่ง อันเป็นส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยทั้งสามไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 สำหรับการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ของโทษทางอาญาตามกฎหมายใหม่มีกำหนดเวลานานกว่ากฎหมายเดิม กฎหมายที่แก้ไขใหม่ในส่วนนี้จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสาม ต้องใช้ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ฉบับเดิม มาตรา 118 มาบังคับใช้แก่จำเลยทั้งสาม ตาม ป.อ. มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8429

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8429/2563

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 171, 173, 291, 368, 681/1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 198 ทวิ วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ม. 12

ก่อนที่โจทก์กับจำเลยทั้งสามจะทำสัญญากัน ได้มีการตรา พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ขึ้นโดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติใน ป.พ.พ.ว่าด้วยค้ำประกันหลายมาตรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ยกเลิกมาตรา 691 (เดิม) และเพิ่มเติม มาตรา 681/1 ซึ่งบัญญัติไว้ในวรรคหนึ่งว่า ข้อตกลงใดที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วม ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ค้ำประกันมีสถานะเป็นลูกหนี้ชั้นที่สองอย่างแท้จริง จึงห้ามเจ้าหนี้ทำสัญญาให้ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วมในหนี้ที่ตนเป็นผู้ค้ำประกัน แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการทำสัญญาอื่นที่ไม่ใช่สัญญาค้ำประกัน ในการตีความนอกจากตีความจากข้อความที่เขียนไว้ในสัญญาแล้วยังต้องตีความตามเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรและต้องเป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปรกติประเพณีด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 และมาตรา 368 จำเลยที่ 1 ทำคำเสนอขอเช่าซื้อรถโดยระบุว่า จำเลยที่ 1 ตกลงซื้อรถยนต์จากเจ้าของหรือผู้จำหน่าย จึงประสงค์ขออนุมัติสินเชื่อจากโจทก์เพื่อนำไปชำระราคาแก่เจ้าของหรือผู้จำหน่ายโดยตกลงโอนกรรมสิทธิ์ในรถให้แก่โจทก์ เพื่อให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อจากโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำคำเสนอขอทำหนังสือยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม โดยระบุในคำเสนอว่าเพื่อให้โจทก์พิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าตามคำขอเพื่อให้ผู้เช่าได้รับรถคันที่ขอเช่าซื้อไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการเช่าซื้อ แสดงให้เห็นเจตนาที่แท้จริงของการทำสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสามว่า จำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวประสงค์จะซื้อรถโดยขอสินเชื่อจากโจทก์ แต่เพื่อให้แน่ใจว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน จึงให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญายินยอมผูกพันร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย อันเป็นประโยชน์แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 เท่านั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 หาได้รับผลประโยชน์หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับรถคันที่เช่าซื้อแต่อย่างใดไม่ การเข้าทำสัญญาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีลักษณะเข้าผูกพันรับผิดเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 แต่เนื่องจากกฎหมายค้ำประกันใหม่ห้ามมิให้มีข้อตกลงให้ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม โจทก์จึงอาศัยข้อกฎหมายเกี่ยวกับลูกหนี้ร่วมมาบังคับใช้กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 แทนโดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงชื่อในแบบสัญญาที่โจทก์พิมพ์ข้อความไว้ล่วงหน้ามีสาระสำคัญว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม นอกจากนี้ยังมีข้อความที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตกลงล่วงหน้ายอมให้มีการผ่อนชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ตกลงยอมรับผิดเต็มจำนวนแม้โจทก์ปลดหนี้หรือลดหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 และยอมรับผิดแม้จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเข้าทำสัญญาเช่าซื้อด้วยความสำคัญผิดอย่างใด ๆ ไม่ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะได้รู้ถึงเหตุไร้ความสามารถหรือสำคัญผิดในขณะทำสัญญาหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ล้วนแต่บัญญัติไว้เฉพาะใน ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะค้ำประกัน แต่โจทก์จัดทำสัญญาโดยกำหนดให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายดังกล่าวบัญญัติ หากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ใช่ผู้ค้ำประกันก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกระทำเช่นนั้น ประกอบกับตามประเพณีทางการค้าของธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์ที่ผ่านมาผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อจัดให้ผู้เช่าซื้อโดยให้มีบุคคลต้องร่วมรับผิดในหนี้ของผู้เช่าซื้อจะจัดให้ทำสัญญาค้ำประกัน สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำขึ้นนั้น คู่สัญญามีเจตนาผูกพันกันอย่างสัญญาค้ำประกัน ข้อตกลงที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงขัดต่อกฎหมายและตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 681/1 การที่โจทก์หลีกเลี่ยงกฎหมายโดยอาศัยอำนาจต่อรองที่เหนือกว่าและมีความสันทัดในข้อกฎหมายมากกว่าจัดให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญายอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมแทนการทำสัญญาค้ำประกันอย่างตรงไปตรงมา ถือว่าโจทก์ผู้ประกอบธุรกิจไม่ใช้สิทธิแห่งตนด้วยความสุจริตโดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 12 จึงไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ จากสัญญาดังกล่าวได้ พฤติการณ์ของโจทก์ไม่อาจสันนิษฐานได้ว่าคู่กรณีมีเจตนาจะให้สัญญาส่วนที่ไม่เป็นโมฆะแยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะเพราะไม่มีส่วนใดที่สมบูรณ์แยกส่วนออกมาได้ สัญญายินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตาม ป.พ.พ. มาตรา 173 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3คดีนี้จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การ และตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลจะพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ในการนี้ศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลำพังซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้ การที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์จัดพิมพ์สัญญายินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับใช้สัญญาค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 681/1 ตกเป็นโมฆะ เป็นการวินิจฉัยในประเด็นว่าคำฟ้องของโจทก์ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ถือเป็นประเด็นการวินิจฉัยที่อยู่ในประเด็นตามคำฟ้อง ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจหยิบยกปัญหาว่าสัญญายินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเป็นโมฆะมาวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8368

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8368/2563

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 73 ทวิ, 74, 76, 77, 170 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ม. 49 วรรคห้า, 59 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ.2477 ม. 22 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ม. 3 พระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด พ.ศ.2546 ม. 6 ประกาศคณะกรรมการกิจการไปรษณีย์ เรื่อง ให้ใช้ไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2557

พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้นำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งรวมถึงการยื่นและการส่งคำคู่ความและเอกสารตามมาตรา 67 ถึงมาตรา 83 อัฏฐ ด้วย การที่ภายหลังจากศาลรับคำร้องที่พนักงานอัยการผู้ร้องยื่นต่อศาล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้คัดค้านทั้งสามรวมทั้ง ฐ. ซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินทราบเพื่อใช้สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านนั้น คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแล้ว การส่งหนังสือของเลขาธิการจึงเป็นการส่งคำคู่ความหรือเอกสารในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นประการหนึ่ง เพียงแต่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 บัญญัติกำหนดไว้โดยเฉพาะให้เลขาธิการส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ทั้งยังบัญญัติไว้เป็นพิเศษว่าให้ส่งไปยังที่อยู่ครั้งสุดท้ายของผู้นั้นเท่าที่ปรากฏในหลักฐาน การส่งหนังสือของเลขาธิการทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับย่อมมีผลเป็นการส่งตามหลักเกณฑ์การนำจ่ายสิ่งของทางไปรษณีย์ที่กำหนดในไปรษณียนิเทศ พ.ศ.2557 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะมีการส่งหนังสือทางไปรษณีย์ในคดีนี้ ซึ่งกำหนดให้ต้องนำจ่ายด้วยการส่งมอบหนังสือให้แก่ผู้รับที่มีชื่อระบุอยู่บนจ่าหน้า หรือผู้ได้รับมอบฉันทะจากผู้รับหรือผู้แทนของผู้รับ โดยต้องนำจ่าย ณ ที่ทำการหรือ ณ ที่อยู่ของผู้รับตามไปรษณียนิเทศ พ.ศ.2557 ข้อ 59 ถึงข้อ 63 ดังนั้น การส่งหนังสือของเลขาธิการไปยังผู้คัดค้านทั้งสามและ ฐ. ที่ส่งไม่ได้เพราะบ้านปิดและไม่มีผู้มารับที่ที่ทำการไปรษณีย์ในกำหนดเวลา อันเป็นการนำจ่ายให้แก่ผู้รับไม่ได้และพนักงานไปรษณีย์ต้องส่งหนังสือคืนผู้ฝากตามข้อ 64 นั้น จึงถือไม่ได้ว่ามีการส่งหนังสือให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสามและ ฐ. ตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคห้า โดยเมื่อมีข้อขัดข้องในการส่งหนังสือแก่ผู้มีส่วนได้เสีย อันเป็นข้อขัดข้องในการส่งคำคู่ความและเอกสารตาม ป.วิ.พ. จึงชอบที่เลขาธิการจะแจ้งให้ผู้ร้องแถลงต่อศาลชั้นต้นเพื่อมีคำสั่งให้ดำเนินการส่งโดยวิธีอื่นตามที่กำหนดใน ป.วิ.พ. ต่อไป ส่วนที่ศาลชั้นต้นลงประกาศคำร้องในหนังสือพิมพ์ เป็นการประกาศให้บุคคลภายนอกอื่นที่อาจอ้างว่าเป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่ขอให้ตกเป็นของแผ่นดินได้ทราบ เพื่อยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดี มิได้หมายถึงผู้คัดค้านทั้งสามกับพวก จะถือว่าผู้คัดค้านทั้งสามและ ฐ. ทราบคำร้องของผู้ร้องหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3100

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3100/2563

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 5 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 54 วรรคหนึ่ง, 56 วรรคสอง, 57/1 วรรคหนึ่ง, 57/1 วรรคสอง

ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจะต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยมาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสอง คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางฟังและที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันเป็นยุติว่า โจทก์กับจำเลยทำข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะ โดยมีข้อความระบุว่าโรงพยาบาลตกลงให้แพทย์เข้ามาใช้สถานที่และบริการด้านอื่น ๆ ของโรงพยาบาลในการเปิดคลินิกรักษาผู้ป่วย แพทย์เป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ ไม่มีฐานะเป็นลูกจ้างของโรงพยาบาล แพทย์เป็นผู้คิดค่ารักษาพยาบาลแต่ต้องไม่เกินที่ได้แจ้งไว้แก่โรงพยาบาล และแพทย์มอบหมายให้โรงพยาบาลเป็นผู้เรียกเก็บค่ารักษาแทนและรวบรวมจ่ายคืนแก่แพทย์เดือนละครั้ง โดยแพทย์จ่ายค่าใช้สถานที่และเครื่องมือในอัตราร้อยละ 20 ของค่าตรวจรักษาผู้ป่วยแก่โรงพยาบาล ในการทำงานโจทก์มีตำแหน่งเป็นแพทย์ประจำตามคู่มือปฏิบัติงาน (สำหรับแพทย์) ประเภทแพทย์ที่มาใช้สถานที่ของโรงพยาบาลประกอบวิชาชีพไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โจทก์มิได้อยู่ภายใต้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งใช้บังคับกันระหว่างโรงพยาบาลของจำเลยกับพนักงานเท่านั้น การตรวจสอบการทำงานของโจทก์ที่เรียกว่า PEER REVIEW เป็นการตรวจสอบว่ามีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นกับผู้ป่วยหรือไม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบพัฒนาคุณภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานของสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ ไม่มีผลต่อการทำงานของแพทย์ในลักษณะที่เป็นการลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิจารณาจากข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นแพทย์ประจำต้องเข้าเวรวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 8 นาฬิกา ถึง 18 นาฬิกา วันเสาร์และวันอาทิตย์จำเลยเรียกโจทก์ให้ทำงานได้ตั้งแต่เวลา 6 นาฬิกา ถึง 18 นาฬิกา การตรวจสอบการทำงานของแพทย์ที่เรียกว่า PEER REVIEW หากปรากฎว่า แพทย์ผู้ใดประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ป่วยและโรงพยาบาลอันเป็นการกระทำผิดต่อกฎระเบียบข้อบังคับของโรงพยาบาล แพทย์จะต้องถูกลงโทษทางวินัยตามอำนาจและดุลพินิจของผู้บังคับบัญชา แล้วนำมาวินิจฉัยว่าจำเลยมีอำนาจควบคุมการทำงานของโจทก์นั้น เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมิได้ถือตามข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังเป็นยุติมาใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดี จึงเป็นการวินิจฉัยที่ขัดต่อ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสอง

นิติสัมพันธ์ที่จะเป็นสัญญาจ้างแรงงานต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. ลักษณะ 6 ว่าด้วยจ้างแรงงาน ตั้งแต่มาตรา 575 ถึงมาตรา 586 และเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งสรุปได้ว่า ต้องเป็นกรณีที่ลูกจ้างตกลงทำงานให้นายจ้างและนายจ้างตกลงให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงาน และต้องปรากฏว่าลูกจ้างอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาโดยต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างด้วย ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตามสัญญาว่าจ้างทำงานฉบับลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2535 ต่อมาโจทก์กับจำเลยทำข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะมาอย่างต่อเนื่องตามข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2541 ฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2548 ฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2549 ฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2550 และฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2552 ซึ่งมีข้อความระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า แพทย์เป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ แพทย์ไม่มีฐานะเป็นลูกจ้างของโรงพยาบาล ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับโรงพยาบาลเป็นไปตามข้อตกลงดังกล่าว ดังนี้ การเปลี่ยนแปลงสัญญาว่าจ้างทำงานระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะดังกล่าวถือได้ว่าสัญญาว่าจ้างทำงานระหว่างโจทก์กับจำเลยยุติไปตั้งแต่โจทก์กับจำเลยทำข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะในวันที่ 1 มกราคม 2541

ข้อเท็จจริงได้ความตามข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะ ข้อ 2 และข้อ 3 ว่า โจทก์มีรายได้จากค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วย คิดตามความยากง่ายในการรักษาโรคของผู้ป่วยเป็นราย ๆ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินค่ารักษาพยาบาลตามอัตราที่โจทก์แจ้งจำเลยไว้ และจำเลยเป็นผู้เก็บเงินดังกล่าวจากผู้ป่วยแล้วจ่ายคืนแก่โจทก์เดือนละครั้ง โดยจำเลยหักค่าใช้สถานที่และเครื่องมือในอัตราร้อยละ 20 ของค่ารักษาพยาบาลดังกล่าว การที่โจทก์เป็นผู้กำหนดจำนวนค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวด้วยตนเอง เงินดังกล่าวจึงเป็นเงินที่ผู้ป่วยจ่ายเพื่อตอบแทนการรักษาพยาบาลของโจทก์โดยตรง มิใช่เงินที่จำเลยจ่ายแก่โจทก์เพื่อตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน เงินค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวจึงไม่ใช่ค่าจ้าง ข้อตกลงดังกล่าวถือไม่ได้ว่า โจทก์ตกลงทำงานแก่จำเลยและจำเลยตกลงให้สินจ้างหรือค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงาน

โจทก์ไม่ต้องบันทึกเวลาเข้า-ออกจากที่ทำงาน ไม่มีกำหนดวันหยุด วันพักผ่อนประจำปี ไม่มีการลาป่วยหรือลาหยุดในกรณีอื่นเช่นเดียวกับกรณีของลูกจ้างทั่วไปของจำเลย ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่กำหนดให้ลูกจ้างของจำเลยต้องเข้าทำงานตามวันเวลาที่จำเลยกำหนด แม้ตามคู่มือปฏิบัติงาน (สำหรับแพทย์) เรื่องแนวทางการดูแลผู้ป่วยตามมาตรฐานวิชาชีพสำหรับแพทย์เอกสารเลขที่ QP 5301 ข้อ 2.3.2 กำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการลาว่า แพทย์ประจำที่จะลาพักผ่อนประจำปี ลากิจ หรือลาประชุมวิชาการต้องแจ้งหรือส่งใบลาให้หัวหน้าแผนกที่ตนสังกัด เพื่อขออนุมัติล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน และควรจัดหาแพทย์สาขาเดียวกันมาปฏิบัติหน้าที่แทน กับระเบียบปฏิบัติ เรื่องธรรมนูญแพทย์ เอกสารเลขที่ QP 05 บทที่ 12 ข้อ 11.2 เรื่องการลา กำหนดว่า แพทย์ต้องยื่นใบลาต่อหัวหน้าแผนกก่อนก็ตาม แต่ก็เพื่อให้การปฏิบัติงานของแพทย์เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยและเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพเวชกรรมอันเป็นวัตถุประสงค์ในการกำหนดเรื่องการลาตามคู่มือปฏิบัติงานดังกล่าวและเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียแก่ผู้ป่วยเท่านั้น ไม่มีลักษณะเช่นเดียวกับการลาของลูกจ้างทั่วไปที่ต้องขออนุมัติจากนายจ้าง ทั้งเป็นการควบคุมดูแลให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการปฏิบัติงานของแพทย์และการให้บริการของโรงพยาบาล

การตรวจสอบการทำงานของโจทก์ที่เรียกว่า PEER REVIEW เป็นระบบการตรวจสอบการทำงานโดยใช้การทบทวนร่วมกันในที่ประชุมองค์กรแพทย์โดยเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมให้ความคิดเห็น เป็นส่วนหนึ่งของระบบพัฒนาคุณภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานของสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ ขั้นตอนการทบทวนมาตรฐานและการทำเวชปฏิบัติเอกสารเลขที่ QP 53 มีลักษณะเป็นการควบคุมการปฏิบัติงานของแพทย์ให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ มิใช่การสอบสวนหรือลงโทษในลักษณะทางวินัยการทำงานของนายจ้าง จึงแสดงให้เห็นว่า จำเลยมิได้มีอำนาจบังคับบัญชาและลงโทษโจทก์ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลย ตามข้อตกลงการใช้สถานที่เพื่อประกอบโรคศิลปะจึงไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน โจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8387

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8387/2563

พระราชบัญญัติคุมประพฤติ พ.ศ.2559 ม. 30

ในคดีอาญาเมื่อศาลเห็นสมควรจะสั่งให้พนักงานคุมประพฤติทำการสืบเสาะและพินิจจำเลยหรือไม่ก็ได้ เป็นดุลพินิจของศาล เมื่อศาลเห็นว่ามีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยได้ จึงไม่จำต้องสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8351

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8351/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ม. 5 (1), 5 (2)

จำเลยทั้งสองและ ศ. ร่วมกันโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 จำนวน 3 ครั้ง ต่างวันต่างเวลากัน แม้ลักษณะการกระทำความผิดอย่างเดียวกัน และมีเจตนาประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกันโดยเป็นการกระทำต่อเนื่องจากการจำหน่ายยาเสพติดในครั้งเดียวกันก็ตาม แต่เมื่อร่วมกระทำความผิดแต่ละครั้งต่างวันต่างเวลา มิได้กระทำต่อเนื่องกัน จึงแยกต่างหากจากกันเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน ตาม ป.อ. มาตรา 91

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8340

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8340/2563

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1161, 1162

โดยปกติการจัดการบริษัทเป็นอำนาจหน้าที่ของกรรมการทั้งหมดที่จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน ในส่วนของการประชุมกรรมการ มติของคณะกรรมการต้องเป็นไปตามเสียงข้างมาก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1161 แต่ปรากฏว่า กรรมการของจำเลยพิพาทกันในเรื่องการเงินของบริษัท และผู้ถือหุ้นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งมีโจทก์กับ ภ. อีกฝ่ายมี ช. และ ป. ซึ่งแต่ละฝ่ายถือหุ้นของจำเลยครึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นทั้งหมดเท่ากัน การที่ ช. ในฐานะกรรมการเรียกประชุมคณะกรรมการของจำเลย เป็นการใช้สิทธิของกรรมการ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1162 ที่บัญญัติว่า กรรมการคนหนึ่งคนใดจะนัดเรียกประชุมกรรมการเมื่อใดก็ได้ ส่วนการกำหนดสถานที่ประชุมนั้น จำเลยไม่ได้มีข้อบังคับของบริษัทโดยเฉพาะ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดที่กำหนดว่าต้องจัดประชุม ณ สำนักงานของบริษัท การกำหนดสถานที่ประชุมจึงเป็นไปตามที่กรรมการพิจารณาเห็นสมควร โดยข้อสำคัญจะต้องเป็นสถานที่ซึ่งตามสภาพและตำแหน่งที่อยู่แห่งสถานที่นั้นผู้ได้รับเชิญสามารถที่จะไปเข้าร่วมประชุมได้ เมื่อสภาพของสถานที่ประชุมน่าจะเป็นสำนักทำการงานปกติ ทั้งไม่ปรากฏพฤติการณ์แต่อย่างใดว่า การไปประชุมยังสถานที่ดังกล่าวจะเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับภยันตรายหรือจะมีบุคคลใดมาประทุษร้ายโจทก์ คงเป็นเพียงการคาดคิดของโจทก์แต่ฝ่ายเดียวว่า อาจจะเกิดความไม่ปลอดภัยในการไปประชุม การประชุมคณะกรรมการและการลงมติเพื่อกำหนดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2559 ดำเนินการโดยชอบแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในครั้งนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5134

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5134/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91, 252, 263, 268, 251 (เดิม), 265 (เดิม)

ป.อ. มาตรา 91 มิได้บัญญัติว่าการกระทำความผิดหลายกรรมนั้นจะเกิดขึ้นในวาระเดียวกันไม่ได้ การกระทำในวันเดียวกันหรือต่อเนื่องในคราวเดียวกันก็อาจเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยปลอมใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม 2 ฉบับ อันเป็นการปลอมใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมต่างฉบับกัน ซึ่งโดยสภาพของการกระทำดังกล่าวจำเลยต้องปลอมใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมดังกล่าวทีละฉบับ ในทันทีที่จำเลยปลอมใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมฉบับหนึ่งเสร็จ ก็เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการสำเร็จแล้วกระทงหนึ่ง ชี้ให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาให้เกิดผลเป็นเอกสารปลอมแต่ละฉบับแยกต่างหากจากกัน แม้จำเลยกระทำต่อเนื่องกันและนำใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมปลอม 2 ฉบับ ไปใช้ร่วมกันเพื่อเปลี่ยนชื่อให้แก่โรงแรมแห่งเดียว ก็ไม่ทำให้เจตนาของจำเลยที่มีมาตั้งแต่ต้นเปลี่ยนแปลงไปเป็นเจตนาเดียวได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด 2 กรรมต่างกัน

จำเลยเป็นผู้ปลอมดวงตราของเจ้าพนักงาน อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 251 (เดิม) และใช้ดวงตราของเจ้าพนักงานปลอมประทับลงในใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมปลอม อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 252 รวม 2 ครั้ง ซึ่งในการใช้ดวงตราปลอมของเจ้าพนักงานประทับลงในใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมปลอม ทะเบียนเลขที่ 23 ใบอนุญาตเลขที่ 6/2558 จำเลยทำดวงตราของเจ้าพนักงานปลอมและใช้ดวงตราของเจ้าพนักงานปลอมด้วย จำเลยจึงมีความผิดตามมาตรา 251 (เดิม) ประกอบมาตรา 263 กระทงหนึ่ง แต่การใช้ดวงตราของเจ้าพนักงานปลอมประทับลงในใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมปลอม ทะเบียนเลขที่ 24 ใบอนุญาตเลขที่ 7/2558 นั้น จำเลยมิได้ปลอมดวงตราของเจ้าพนักงานขึ้นอีก คงใช้ดวงตราของเจ้าพนักงานปลอมอันเดิม จำเลยจึงมีความผิดฐานใช้ดวงตราของเจ้าพนักงานปลอมอย่างเดียวตามมาตรา 252 อีกกระทงหนึ่ง

« »
ติดต่อเราทาง LINE