คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4923

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4923/2563

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 379, 383 วรรคหนึ่ง

ตามคำขอใช้สิทธิและเงื่อนไขสำหรับรถยนต์ใหม่คันแรกที่กำหนดว่า กรณีผู้ขอใช้สิทธิมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขสละสิทธิการโอนรถยนต์ใหม่คันแรกภายใน 5 ปี ให้ครบถ้วนจะต้องนำเงินที่ได้รับไปส่งคืน โดยยินยอมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นั้น เป็นกรณีที่โจทก์เรียกดอกเบี้ยจากจำเลยหลังจากผิดนัดชำระหนี้ ดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นค่าเสียหายที่คู่สัญญากำหนดไว้ล่วงหน้าถือเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าเป็นเบี้ยปรับและใช้ดุลพินิจปรับลดเป็นอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนั้น เหมาะสมแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4499

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4499/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 36 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 195 วรรคสอง

ตามที่ ป.อ. มาตรา 36 บัญญัติหลักเกณฑ์ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สินที่ศาลสั่งริบให้แก่ผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงที่มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยนั้น หมายถึง นอกจากจะให้พิจารณาสั่งคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้เป็นเจ้าของแท้จริงแล้ว ต้องพิจารณาว่าผู้ร้องผู้เป็นเจ้าของแท้จริงนั้นจะต้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยประกอบด้วย คดีนี้แม้ศาลชั้นต้นฟังว่า พยานหลักฐานที่ผู้ร้องไต่สวนมายังไม่พอฟังว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงของกลาง แล้วพิพากษายกคำร้อง โดยที่ยังไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ ก็ด้วยเหตุว่าเมื่อผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของแท้จริงแล้ว ก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.อ. มาตรา 36 ที่จะให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สินที่สั่งริบได้ ศาลชั้นต้นจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป และแม้ผู้ร้องจะอุทธรณ์เพียงประเด็นเดียวว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงของกลางก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมต้องวินิจฉัยในประเด็นต่อไปว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ แล้วพิพากษาให้ยกคำร้องหรือสั่งคืนของกลางให้เจ้าของตามสิทธิที่เป็นเจ้าของได้ ซึ่งปัญหาที่ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่นั้น แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นอ้างสู่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยตรงก็ตาม แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4922

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4922/2563

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/14, 193/15, 193/34

จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2558 อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ต้องเริ่มนับอายุความใหม่นับจากวันที่จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้ายถึงวันฟ้องเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ยังไม่เกิน 2 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ จำเลยซึ่งเป็นผู้ใช้บัตรเครดิตซึ่งเป็นบัตรเสริมจึงต้องรับผิดซำระหนี้จากการใช้บัตรเครดิตซึ่งเป็นบัตรเสริมในการซื้อสินค้าและบริการพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4907

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4907/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 3 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 212 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ม. 14, 31 วรรคหนึ่ง (ใหม่)

คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66/2557 เป็นคำสั่งที่สืบเนื่องมาจากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคำสั่งตั้งหน่วยงานและพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้การบริหารราชการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดผลกระทบที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศโดยรวม โดยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66/2557 ข้อ 1 เป็นการเพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ส่วนข้อ 2 กำหนดให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องยึดถือนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน และในข้อ 2.1 ระบุว่า การดำเนินการใด ๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้น ๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่ ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ถึงเนื้อหาแล้วคำสั่งดังกล่าวเป็นเพียงคำสั่งทางบริหารที่กำหนดนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราว กำหนดวิธีการให้หน่วยงานและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตามคำสั่งดังกล่าวถือปฏิบัติเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไม่มีที่ดินทำกินเท่านั้น ที่สำคัญผู้ที่จะได้รับการยกเว้นจะต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ต้องอยู่ในที่ดินมาก่อนคำสั่งมีผลใช้บังคับ ส่วนผู้ที่บุกรุกใหม่ต้องดำเนินการสอบสวนและพิสูจน์ทราบตามขั้นตอนที่กำหนด โดยเฉพาะข้อ 2.4 ระบุว่า กรณีใด ๆ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ให้ดำเนินการต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดกระบวนการที่กำหนด โดยไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุให้ประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกินซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้น ๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลใช้บังคับไม่มีความผิด หรือมีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ หรือให้งดเว้นการดำเนินคดีตามกฎหมาย คำสั่งดังกล่าวจึงมิใช่บทบัญญัติที่ปกป้องหรือให้ความคุ้มครองแก่บุคคลดังกล่าวข้างต้น และต้องถือว่าบุคคลดังกล่าวยังมีความผิดตามกฎหมายไม่ว่าบุคคลนั้นจะบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ก่อนหรือหลังคำสั่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับเพียงแต่หากเป็นการบุกรุกก่อนคำสั่งมีผลใช้บังคับ คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีนโยบายให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติดำเนินการเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อบุคคลบางจำพวกดังกล่าวข้างต้นเป็นการชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้น เมื่อคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66/2557 ไม่มีผลเป็นการยกเลิกความผิด หรือมีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ หรือให้งดเว้นการดำเนินคดีตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่อาจอ้างคำสั่งดังกล่าวมาลบล้างความผิดของจำเลยได้

การที่จะนำกฎหมายฉบับใดมาใช้เพื่อพิจารณาพิพากษาให้บุคคลได้รับโทษทางอาญานั้น กฎหมายฉบับดังกล่าวต้องเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด คดีนี้จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2558 และได้กระทำต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงวันที่ 11 กันยายน 2559 การกระทำความผิดของจำเลยจึงมีขึ้นตั้งแต่วันที่จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุและยังคงเป็นความผิดอยู่ต่อเนื่องตลอดเวลาที่จำเลยยังยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยช่วงระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม 2558 ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 การยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง (เดิม) และเมื่อพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มีผลใช้บังคับในวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 จำเลยก็ยังคงยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุในเขตป่าสงวนแห่งชาติต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงวันที่ 11 กันยายน 2559 อันเป็นวันที่เจ้าพนักงานจับกุมจำเลย จึงเป็นกรณีที่จำเลยกระทำความผิดขณะที่กฎหมายฉบับเดิมยังมีผลใช้บังคับและขณะที่กฎหมายฉบับใหม่ใช้บังคับแล้ว ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานจับกุมจำเลยภายหลังวันที่พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มีผลใช้บังคับแล้ว และตามคำฟ้องโจทก์มีคำขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 ด้วย คดีนี้จึงชอบที่ต้องนำพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มาปรับใช้บังคับลงโทษแก่จำเลย กรณีมิใช่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 3 ที่บัญญัติให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด และหาใช่เป็นกรณีที่กฎหมายที่บัญญัติขึ้นใช้ภายหลังการกระทำความผิดซึ่งไม่อาจมีผลย้อนหลังไปเอาผิดหรือลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นดังที่จำเลยฎีกาไม่ ทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้พิพากษาแก้ไขเพิ่มเติมโทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษแก่จำเลยแต่อย่างใด จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4905

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4905/2563

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5) ประมวลรัษฎากร ม. 4, 16, 30, 77/1 (19), 79/2, 83/10 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ม. 26 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2496 ม. 10 วรรคหนึ่ง, 10 ทวิ วรรคหนึ่ง พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ม. 15 วรรคสาม

พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บรรดาค่าภาษีนั้น ให้เก็บตามบทพระราชบัญญัตินี้และตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร การเสียค่าภาษีให้เสียแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในเวลาที่ออกใบขนสินค้าให้" มาตรา 10 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีสําหรับของที่นําเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นําของเข้าสําเร็จ" วรรคสอง บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 87 และมาตรา 88 การคํานวณค่าภาษีให้ถือตามสภาพของ ราคาของและพิกัดอัตราศุลกากรที่เป็นอยู่ในเวลาที่ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีเกิดขึ้น…" และ พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 มาตรา 15 วรรคสาม บัญญัติเรื่องการตีความพิกัดศุลกากรว่า "การตีความให้ถือตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้ายพระราชกำหนดนี้ ประกอบกับคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากรที่จัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญาว่าด้วยการจัดตั้งคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร ซึ่งทำเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2493 และประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2515" เห็นว่า สินค้าพิพาทประกอบด้วยเส้นลวดกลมพันเป็นเกลียว มีชั้นพลาสติกคลุมด้านนอก และมีท่อพลาสติกด้านในตรงตามคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ตอนที่ 83.07 ดังกล่าว ทั้งจำเลยที่ 1 เคยพิจารณาว่าท่อชิ้นนอก (ลวดเหล็กม้วนวนเป็นเกลียว) หรือ Outer Spring นำมาผลิตเป็นสายคลัตซ์รถยนต์ จัดเข้าประเภทพิกัด 8307.10.00 ซึ่งโจทก์นำสืบโดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ถามค้านหรือนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า Outer Spring มีโครงสร้างคล้ายกับ Outer Shield หรือสินค้าพิพาท แต่ชั้นที่ 2 ชั้นกลางจะเป็นลวดเหล็กทับแบนม้วนวนเป็นเกลียวและ Outer Spring จะทำแรงดึงและดันได้น้อยกว่า Outer Shield หรือสินค้าพิพาทที่มีเส้นลวดเหล็กทรงกลมหลายเส้นพันรอบหลอดที่เป็นพลาสติก ดังนั้น ลักษณะของสินค้าที่พิพาทกันเรื่องอากรขาเข้าคดีนี้ จึงตรงกับลักษณะลวดที่ขดเป็นเกลียวแน่น และมีลักษณะการใช้งานไม่ต่างกับสินค้าที่จำเลยที่ 1 เคยวินิจฉัยว่าจัดเข้าประเภทพิกัด 8307.10.00 นอกจากนี้ศุลกากรของประเทศอื่นซึ่งใช้กฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์เช่นเดียวกับประเทศไทย ได้แก่ สาธารณรัฐอินโดนีเซียและสหราชอาณาจักรเคยวินิจฉัยสินค้าชนิดเดียวกับสินค้าพิพาทว่าเป็นประเภทพิกัด 8307.10.00 ประกอบกับเมื่อสินค้าพิพาทเป็นของผสมหรือของรวมที่มีวัตถุหรือสารนั้นรวมอยู่กับวัตถุหรือสารอื่นๆ ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ข้อ 2 (ข) ซึ่งระบุให้จำแนกประเภทของของที่ประกอบด้วยวัตถุหรือสารมากกว่าหนึ่งชนิดขึ้นไปให้จำแนกตามหลักเกณฑ์ ข้อ 3 โดยข้อ 3 (ก) ระบุว่า "ถ้าประเภทหนึ่งระบุลักษณะของของไว้โดยเฉพาะและประเภทอื่นระบุไว้อย่างกว้างๆ ให้จัดของนั้นเข้าประเภทที่ระบุไว้โดยเฉพาะ…" เห็นว่า สินค้าพิพาทเป็นท่อพลาสติกที่มีเส้นลวดเหล็กพันรอบ และมีพลาสติกอยู่ชั้นนอกสุดจึงถือเป็นหลอดหรือท่อที่อ่อนงอได้ ทำด้วยโลหะสามัญ ตามประเภทพิกัด 83.07 โดยเข้าประเภทพิกัดย่อย 8307.10 ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และเป็นกรณีที่ประเภทพิกัดศุลกากรได้ระบุลักษณะของของไว้โดยเฉพาะแล้วตามข้อ 3 (ก) อนึ่ง เนื่องจากคดีนี้เป็นกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรได้วินิจฉัยให้โจทก์เสียอากรขาเข้าลดลง ย่อมส่งผลให้ฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มลดลง แม้ ป.รัษฎากร มาตรา 30 จะบัญญัติถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ตาม แต่ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 79/2 บัญญัติว่า "ฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (1) ฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าทุกประเภท ได้แก่ มูลค่าสินค้าของสินค้านำเข้าโดยให้ใช้ราคา ซี.ไอ.เอฟ. ของสินค้าบวกด้วยอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต ตามที่กำหนดในมาตรา 77/1 (19) ค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นตามที่จะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา …" เมื่อการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มต้องอาศัยมูลค่าของฐานภาษีคือราคาสินค้าบวกด้วยอากรขาเข้าที่โต้แย้งกันในคดีนี้ว่าเป็นอากรเท่าใดเพื่อใช้เป็นฐานภาษี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาศัยอำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 4 ประกาศแต่งตั้งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป สังกัดจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานประเมินตาม ป. รัษฎากร มาตรา 16 และจำเลยที่ 1 ใช้อำนาจตาม ป.รัษฎากร เป็นผลกระทบต่อสถานภาพ สิทธิ และหน้าที่ของโจทก์ โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินดังกล่าว และ ป.รัษฎากร มาตรา 83/10 บัญญัติว่า "ในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (1) สำหรับสินค้าที่นำเข้า ให้กรมศุลกากรเรียกเก็บเพื่อกรมสรรพากร …" ดังนั้น เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีคำพิพากษาวินิจฉัยในเรื่องพิกัดอัตราศุลกากรอันมีผลให้อากรขาเข้าลดลง ภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์มีความรับผิดตามการประเมินของจำเลยที่ 1 ก็ต้องลดลงไปโดยผลของกฎหมายด้วย เมื่อโจทก์ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 โต้แย้งเกี่ยวกับพิกัดอัตราอากรศุลกากรซึ่งเป็นผลให้กระทบจำนวนเงินที่ต้องนำมารวมกับมูลค่าของเพื่อเป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว กรณีนี้จึงไม่จำต้องอุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากรอีก ฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าตามการประเมินได้รวมอากรขาเข้าที่ไม่ถูกต้องและโจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินอากรขาเข้าแล้วศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาไปถึงฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าที่โจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาแต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 26

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4883

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4883/2563

พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ม. 3, 6 วรรคสอง (1)

ปัญหามีว่า สิทธิบัตรการประดิษฐ์ อุปกรณ์ติดตั้งถังบรรจุก๊าซซีเอ็นจีสำหรับรถยนต์แบบสามถังของโจทก์เป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์ มีเหตุเพิกถอนตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้วันที่โจทก์ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์จะเป็นวันที่ 25 สิงหาคม 2552 และหนังสือ "4WHEELS" เป็นนิตยสารฉบับเดือนสิงหาคม 2552 ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาข้อความในหนังสือดังกล่าวทั้งสี่แผ่นที่มีลักษณะเน้นไปในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และกล่าวอ้างถึงการติดตั้งถังบรรจุก๊าซซีเอ็นจีสำหรับรถยนต์แบบสามถังของโจทก์ในทำนองว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่โจทก์คิดค้นพัฒนาขึ้น มีความปลอดภัยตามมาตรฐานต่าง ๆ และคุ้มค่า โดยแจ้งชื่อบริษัท พร้อมที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์และโทรสารของโจทก์ไว้ตอนท้ายสุดของบทความกรณีหากผู้อ่านหนังสือนิตยสารดังกล่าวสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมหรือต้องการติดต่อสอบถาม ทั้งยังได้ความว่าโจทก์เป็นผู้ยินยอมให้มีการเผยแพร่ภาพบทความดังกล่าว ดังนี้ ย่อมเห็นว่าในขณะเผยแพร่หนังสือนิตยสารดังกล่าว อุปกรณ์ติดตั้งถังบรรจุก๊าซซีเอ็นจีสำหรับรถยนต์แบบสามถังในหนังสือดังกล่าว หรือการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรดังกล่าวของโจทก์ ยังมิได้มีแพร่หลายในราชอาณาจักร เพราะมิเช่นนั้นแล้วโจทก์ก็ไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนโฆษณาประชาสัมพันธ์การติดตั้งถังบรรจุก๊าซซีเอ็นจีสำหรับรถยนต์แบบสามถังของตนในหนังสือนิตยสารดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งตามข้อความที่เผยแพร่ก็ใช้คำว่า "เป็นนวัตกรรมใหม่" อันมีความหมายว่า เป็นสิ่งที่ทำขึ้นใหม่หรือแปลกไปจากเดิม ย่อมเข้าใจได้ว่าในขณะที่หนังสือนิตยสารดังกล่าวออกเผยแพร่นั้น ไม่มีการประดิษฐ์เช่นนี้มาก่อน อันเป็นเหตุให้โจทก์ต้องลงทุนโฆษณาประชาสัมพันธ์ ประกอบกับภาพและข้อความที่เผยแพร่ตามหนังสือก็ไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญของสิทธิบัตรดังที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น หนังสือดังกล่าวจึงไม่อาจถือเป็นหลักฐานที่จะทำให้รับฟังได้ว่าสิ่งประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของโจทก์ มีแพร่หลายในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง (1)

ปัญหาต่อไปมีว่า ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษตีความคำว่า "แบบผลิตภัณฑ์" ขัดกับบทนิยามตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 หรือไม่ เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 3 บัญญัติให้นิยามศัพท์คำว่า "แบบผลิตภัณฑ์" หมายความว่า "รูปร่างของผลิตภัณฑ์ หรือองค์ประกอบของลวดลาย หรือสีของผลิตภัณฑ์ อันมีลักษณะพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรมได้" แม้บทกฎหมายดังกล่าวไม่ระบุถึงความสวยงามไว้โดยตรง แต่จากนิยามดังกล่าวเห็นได้ว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นเรื่องเกี่ยวกับรูปร่างหรือองค์ประกอบของลวดลายหรือสีของผลิตภัณฑ์อันมีลักษณะพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ หาได้เน้นที่คุณสมบัติการใช้งานของสิ่งประดิษฐ์หรือกรรมวิธีการประดิษฐ์ หากแบบผลิตภัณฑ์ใดมีความมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ในการใช้งานเท่านั้นย่อมไม่ได้รับความคุ้มครอง แต่หากรูปลักษณะที่ปรากฏภายนอกมีความสวยงามหรือดึงดูดใจแล้วย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษในส่วนนี้จึงไม่ขัดกับบทนิยามตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 แต่ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งห้าฉบับของโจทก์ไม่แตกต่างไปจากสิ่งประดิษฐ์ที่มีอยู่เดิมแต่กลับมุ่งเน้นถึงประโยชน์ในการใช้งานเพียงอย่างเดียว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเพิกถอนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนั้น เห็นว่า ในข้อนี้ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า ในการประกอบธุรกิจให้บริการติดตั้งถังบรรจุก๊าซเอ็นจีวี โจทก์ออกแบบและคิดค้นนวัตกรรมเกี่ยวกับการติดตั้งถังบรรจุก๊าซเอ็นจีวีขึ้น โดยการออกแบบได้กำหนดจุดติดตั้งถังบรรจุก๊าซไว้ที่ด้านล่างกระบะหรือใต้ท้องรถกระบะ แทนการติดตั้งแบบเดิมทั่วไปที่ติดตั้งบนลูกกระบะ และสามารถทำให้ติดตั้งถังบรรจุก๊าซได้ถึง 3 ถัง ด้วยการใช้โครงสร้างอุปกรณ์รองรับถังก๊าซที่เป็นเหล็กแผ่นเรียบปั๊มขึ้นรูปซึ่งมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา และสวยงาม และยึดติดอุปกรณ์ดังกล่าวเข้ากับโครงรถยนต์โดยไม่ต้องเชื่อมหรือเจาะรู แล้วโจทก์จึงนำงานนวัตกรรมดังกล่าวไปขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์และสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยในส่วนแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแสดงถึงความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับรูปร่างลักษณะภายนอกของผลิตภัณฑ์อุปกรณ์จับยึดถังบรรจุก๊าซ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความยืนยันว่า ในขณะที่โจทก์คิดได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรของโจทก์นั้น ไม่เคยมีผู้ประกอบการรายใดทั้งในและต่างประเทศใช้แบบผลิตภัณฑ์ในลักษณะเดียวกับแบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรของโจทก์ โดยในชั้นตรวจคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ได้มีการตรวจสอบเปรียบเทียบกับทั้งงานในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียแล้วก็ไม่พบงานที่ปรากฏอยู่แล้ว ส่วนฝ่ายจำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ไม่สมบูรณ์เนื่องจากขาดความใหม่ แต่ในชั้นพิจารณาทางนำสืบของฝ่ายจำเลยก็ไม่ปรากฏว่ามีแบบผลิตภัณฑ์อันเป็นงานที่ปรากฏอยู่ก่อนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์มาแสดง คงมีเพียงเอกสารทางวิชาการด้านวิศวกรรมศาสตร์ ประกาศและกฎกระทรวงเกี่ยวกับการติดตั้งอุปกรณ์และส่วนควบที่ออกตามความใน พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรฐานความปลอดภัยของหน่วยงานต่าง ๆ และภาพถ่ายรถประเภทต่าง ๆ ติดถังก๊าซ แต่เอกสารและภาพเหล่านี้ก็ไม่ปรากฏหรือแสดงให้เห็นภาพหรือรูปลักษณะของอุปกรณ์จับยึดถังบรรจุก๊าซได้อย่างชัดเจน ทั้งภาพถ่ายบางภาพยังเป็นการติดตั้งถังบรรจุก๊าซกับรถประเภทอื่น เช่น รถบรรทุกและรถตู้ ซึ่งมีโครงสร้างแตกต่างจากแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่ใช้ติดตั้งกับรถกระบะ จึงไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีแบบผลิตภัณฑ์อันเป็นงานที่ปรากฏอยู่ก่อนอันจะทำให้เห็นได้ว่าสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งห้าฉบับของโจทก์แตกต่างไปจากสิ่งประดิษฐ์ที่มีอยู่เดิมหรือไม่ อย่างไร คงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์เพียงว่าการติดตั้งถังบรรจุก๊าซที่ใช้กันทั่วไปแบบเดิมนั้นจะเป็นการติดตั้งไว้บนตัวกระบะรถซึ่งแตกต่างจากแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่ติดตั้งอยู่ใต้กระบะรถ นอกจากนี้ยังได้ความจากผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ด้วยว่าในการออกแบบอุปกรณ์ยึดจับหรือจับยึดถังบรรจุก๊าซตามสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งห้าฉบับ โจทก์ออกแบบให้มีความสวยงามด้วย ซึ่งในข้อนี้ฝ่ายจำเลยก็มิได้ถามค้านพยานโจทก์ปากดังกล่าวหรือนำสืบโต้แย้งข้อเท็จจริงในส่วนดังกล่าวให้เห็นเป็นอย่างอื่น ประกอบกับหนังสือ "4WHEELS" ในแผ่นที่ 3 มีบทความภายใต้หัวข้อ "นวัตกรรมความปลอดภัย OEM" ระบุว่า การติดตั้งระบบก๊าซซีเอ็นจีของโจทก์ใช้มาตรฐาน OEM ของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ มาตรฐานเดียวกับการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ จึงมั่นใจได้ในความสวยงาม การออกแบบดังกล่าวจึงไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ประโยชน์ในการใช้งานเพียงอย่างเดียว ดังนี้จึงไม่ปรากฏเหตุอันจะทำให้การออกสิทธิบัตรทั้งห้าฉบับของโจทก์ไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4135

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4135/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 350, 83 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ม. 22

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 350 ประกอบมาตรา 83 ศาลชั้นต้นยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโดยวินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองฐานผิดสัญญาจะซื้อจะขายนั้นมีคำพิพากษายกฟ้อง มิได้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองต้องโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินให้โจทก์ ขณะจำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินตามฟ้องให้แก่บุคคลภายนอก จำเลยทั้งสองจึงมิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีจึงไม่มีมูล ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้กันนับแต่ขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง และเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2550 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์จึงมีหนี้อันสมบูรณ์ที่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้อยู่แล้วในขณะที่จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิด การกระทำของจำเลยทั้งสองครบองค์ประกอบความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้นั้น เป็นอุทธรณ์ที่โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยปรับข้อเท็จจริงที่รับฟังได้แล้วว่าครบองค์ประกอบความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้ตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงใหม่ให้ผิดไปจากที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาแต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย มิใช่อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่าเป็นอุทธรณ์ต้องห้ามในปัญหาข้อเท็จจริงแล้วพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์นั้น เป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4126

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4126/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 350, 352 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 35 วรรคสอง, 39 (2)

การยอมความในความผิดอันยอมความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 35 วรรคสอง และมาตรา 39 (2) นั้น ต้องเป็นการยอมความที่กระทำภายหลังจากความผิดได้เกิดขึ้นแล้ว มิใช่กระทำกันไว้ล่วงหน้าก่อนการกระทำความผิดเกิด เมื่อโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งของศาลจังหวัดนครสวรรค์ โดยจำเลยตกลงผ่อนชำระหนี้ค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ หากจำเลยผิดนัด จำเลยตกลงส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ และศาลจังหวัดนครสวรรค์พิพากษาตามยอม ภายหลังจำเลยผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลจังหวัดนครสวรรค์ออกหมายบังคับคดี ต่อมาโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดรถยนต์ที่จำเลยเช่าซื้อจากโจทก์ แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปจำนำไว้แก่บุคคลอื่น และไม่สามารถติดตามกลับคืนมาได้ เช่นนี้ การยอมความดังกล่าวข้างต้นจึงทำขึ้นก่อนที่จำเลยจะนำรถยนต์ที่เช่าซื้อจากโจทก์ไปจำนำไว้แก่บุคคลอื่นซึ่งเป็นการกระทำความผิดตามฟ้องคดีนี้ ทั้งสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวก็ไม่ปรากฏข้อความว่าโจทก์จำเลยตกลงยอมความในคดีส่วนอาญา สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งจึงไม่มีผลทำให้คดีอาญาระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4125

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4125/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 341 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 345

จำเลยทั้งสองหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสามให้นำเงินไปลงทุนในโครงการจำหน่ายนมผง ซึ่งไม่มีอยู่จริง แล้วจำเลยทั้งสองโอนเงินให้แก่ผู้เสียหายทั้งสาม โดยอ้างว่าเป็นผลตอบแทนจากการลงทุน ก็เพื่อที่จะหลอกลวงให้ผู้เสียหายทั้งสามลงทุนต่อไป เงินที่โอนให้แก่ผู้เสียหายทั้งสามดังกล่าว จึงเป็นเงินที่จำเลยทั้งสองใช้กระทำความผิดโดยเจตนาทุจริตหลอกให้ผู้เสียหายทั้งสามหลงเชื่อและวางใจเพื่อที่จะได้นำเงินมาลงทุนกับจำเลยทั้งสองเพิ่มอีก มิใช่เป็นการคืนเงินลงทุนให้แก่ผู้เสียหายทั้งสาม อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธินำเงินที่ใช้กระทำความผิดดังกล่าวมาขอหักกลบลบหนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4427

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4427/2563

พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ม. 160 วรรคหนึ่ง, 160 วรรคสาม

พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 160 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งให้คู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องไปให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลเห็นสมควรตรวจร่างกาย เก็บตัวอย่างเลือด สารคัดหลั่ง สารพันธุกรรม หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญแห่งคดี แม้ว่าถือเป็นสิทธิของคู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องที่จะยินยอมหรือไม่ก็ได้ แต่การไม่ยินยอมก็มีผลตามกฎหมายโดยมาตรา 160 วรรคสาม บัญญัติผลของการไม่ยินยอมให้ตรวจของคู่ความไว้ว่า หากคู่ความฝ่ายใดไม่ยินยอม โดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงที่ต้องการให้ตรวจพิสูจน์เป็นผลร้ายแก่คู่ความฝ่ายนั้น อย่างไรก็ตาม การไม่ยินยอมของคู่ความจะมีผลให้ใช้ข้อสันนิษฐานของกฎหมายที่เป็นผลร้ายแก่คู่ความที่ไม่ยินยอมให้ตรวจได้ จะต้องเกิดจากคำสั่งของศาลที่สั่งตามบทบัญญัติดังกล่าวโดยชอบ กล่าวคือเป็นการสั่งให้ตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญแห่งคดีตามมาตรา 160 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ด้วย แต่เมื่อประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญแห่งคดีมีว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของ ส. ตามที่สูติบัตรของจำเลยที่ 1 ระบุไว้หรือไม่ ซึ่งการตรวจพิสูจน์ความเป็นบิดากับบุตรตามปกติต้องตรวจสอบจากตัวบิดากับผู้ที่อ้างว่าเป็นบุตรนั้น เมื่อ ส. เสียชีวิตไปแล้วจึงไม่อยู่ในวิสัยจะทำการตรวจพิสูจน์ ดี เอ็น เอ ได้ กรณีต้องใช้กระบวนการทางเลือก โดยให้ตรวจกับบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตกับ ส. เช่น เป็นบิดา มารดา บุตรหรือพี่น้องของ ส. แต่คดีนี้คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างโต้แย้งความเป็นบุตร ส. ของอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์โดยตรวจสารพันธุกรรม (D.N.A) เพื่อแสดงความเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในขณะที่ต่างยังโต้แย้งกันอยู่ แม้มีการตรวจพิสูจน์แล้วและผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ก็ยังไม่สามารถนำผลการตรวจมาวินิจฉัยเป็นยุติว่า บิดาของโจทก์และจำเลยที่ 1 คือ ส. ได้ ส่วนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์โดยตรวจสารพันธุกรรม (D.N.A) เพื่อแสดงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่บุตรของจำเลยที่ 2 ก็ไม่อาจนำมาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทสำคัญในคดีที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหรือไม่เป็นบุตรของ ส. ได้ เพราะจำเลยที่ 1 อาจไม่ใช่บุตรของจำเลยที่ 2 แต่อาจเป็นบุตรของ ส. ก็เป็นได้ ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงไม่ใช่คำสั่งให้ตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ตามบทบัญญัติมาตรา 160 แม้คู่ความไม่ยินยอมไปตรวจก็ไม่มีผลให้นำข้อสันนิษฐานใด ๆ มาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทในคดีได้ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงต้องวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทไปตามพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายนำสืบ โดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนาย ส. ตามที่สูติบัตรระบุไว้ กรณีไม่มีเหตุให้เพิกถอนสูติบัตรของจำเลยที่ 1

« »
ติดต่อเราทาง LINE