คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4423

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4423/2563

พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ม. 19 วรรคหนึ่ง

พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ใดต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง ถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอื่นที่เกิดจากตัวผู้ต้องหานั้นเอง หรือจากพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งทำให้ไม่อาจนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้" พ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดเวลาให้พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องก็เพื่อต้องการให้พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องโดยเร็วเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหา คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 โดยอ้างว่ากัญชาของกลางมีน้ำหนัก 5.51 กรัม ต่อมาผู้ร้องได้รับรายงานการตรวจพิสูจน์เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562 เวลา 16 นาฬิกา ปรากฏว่าน้ำหนักเฉพาะกัญชาของกลาง 4.44 กรัม ไม่เกิน 5,000 มิลลิกรัม จึงเข้าเงื่อนไขของมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณของยาเสพติด พ.ศ.2546 ข้อ 3 (2) อันเป็นพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งทำให้ไม่อาจนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย แต่ผู้ร้องมีหน้าที่ต้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอให้มีคำสั่งให้ส่งตัวผู้ต้องหาไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดโดยเร็วเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหา แต่ผู้ร้องไม่ดำเนินการ กลับยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาต่อเป็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 และครั้งที่ 4 วันที่ 19 กรกฎาคม 2562 และเพิ่งมายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งส่งตัวผู้ต้องหาไปควบคุมเพื่อตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดในวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 หลังจากทราบผลรายการตรวจพิสูจน์แล้วถึง 33 วัน อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง จึงชอบจะยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งส่งตัวผู้ต้องหาไปควบคุมเพื่อตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดของผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4139

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4139/2563

พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ม. 40 (2), 42, 77, 77 วรรคหนึ่ง (4), 77 วรรคสี่, 80

แม้อาคารที่เกิดเหตุจะปลูกสร้างภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2479 ซึ่งต่อมามี พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 บังคับใช้ โดยที่มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ก็ได้บัญญัติบทเฉพาะกาลไว้ในมาตรา 75 ถึงมาตรา 80 โดยมาตรา 80 บัญญัติว่า ท้องที่ใดได้มี พ.ร.ฎ.ให้ใช้บังคับพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2479… อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าได้มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ในท้องที่นั้นแล้ว อันเป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่มีผลบังคับต่อเนื่องกับ พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2479 จึงหาได้มีผลทำให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารที่มีการก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตก่อนที่ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มีผลบังคับใช้ ไม่จำต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นแต่อย่างใด ซึ่งในส่วนของความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 คดีก่อน เมื่อพิจารณาจากสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 และศาลฎีกา เห็นได้ว่า เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยกับ พ. โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 77 ของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล โดยเหตุว่าบริเวณชายหาดหัวหินที่เกิดเหตุมีอาคารก่อสร้างขึ้นเป็นจำนวนมากในที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก่อนที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับใช้ และเป็นท้องที่ที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปรับปรุงอาคารแล้ว ซึ่งเทศบาลเมืองหัวหินได้มีคำสั่งให้เจ้าของอาคารมาทำสัญญาเช่าที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินกับทางเทศบาล ตามความในมาตรา 77 (4) วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นเพียงมาตรการผ่อนปรนชั่วคราว โดยเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่า เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารต้องรื้อถอนและขนย้ายสิ่งปลูกสร้างของตนออกจากบริเวณที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา คดีดังกล่าวศาลจึงต้องพิจารณาจากหลักฐานสัญญาเช่าที่ดินเป็นหลักและรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับเจ้าพนักงานท้องถิ่น ไม่ใช่คู่สัญญา จึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องรื้อถอนอาคารตามมาตรา 77 วรรคสี่ แต่คดีนี้เห็นได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามที่บัญญัติในหมวด 4 ของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 (2) และมาตรา 42 ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการแจ้งคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารห้ามใช้อาคารและให้รื้อถอน หากไม่ปฏิบัติตาม ผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกันและเป็นความผิดคนละข้อหากับคดีก่อน คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นในคดีนี้จึงเป็นการกระทำตามกรอบอำนาจของกฎหมาย มิได้ซ้ำซ้อนกับคดีก่อนและข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาในคดีก่อนก็ไม่ผูกพันศาลในคดีนี้ให้ต้องถือตาม แต่ต้องรับฟังพยานหลักฐานจากข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏจากทางนำสืบในสำนวนนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4041

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4041/2563

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 170

ป.วิ.อ. มาตรา 170 บัญญัติว่า คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด ซึ่งหมายถึงคู่ความไม่อาจอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้คดีมีมูลได้ แต่เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 และศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามทางไต่สวนมูลฟ้องไม่เป็นความผิดตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้คดีมีมูล ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามทางไต่สวนไม่เป็นความผิด และพิพากษาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ประทับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาตลอดไปจนถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย ซึ่งมีผลเท่ากับยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 192 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 213 และมาตรา 215 จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4107

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4107/2563

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 245 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 247 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 ม. 117 วรรคหนึ่ง, 118

คดีนี้เป็นคดีอาญาที่ถึงที่สุดแล้ว ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษปรับกับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและอาคารที่ก่อสร้างล่วงล้ำลำน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตภายใน 60 วัน นับแต่มีคำพิพากษา โทษที่ลงแก่จำเลยเป็นโทษทางอาญาและเมื่อคดีถึงที่สุด ต้องมีการบังคับตามคำพิพากษาดังที่บัญญัติไว้ในภาค 6 แห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้า การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้งดการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและอาคารที่ก่อสร้างล่วงล้ำลำน้ำโดยอ้างถึงคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 32/2560 มีผลเท่ากับเป็นการของดการบังคับโทษทางอาญาอันเป็นการขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้น จำเลยไม่มีอำนาจยื่นคำร้องดังกล่าว ทั้งกรณีมิใช่เป็นเรื่องของการบังคับคดีส่วนแพ่ง จึงไม่อยู่ในบังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 247 ที่ต้องขออนุญาตฎีกา ประกอบกับไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้สิทธิจำเลยยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีในกรณีเช่นนี้ได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องขออนุญาตฎีกาและคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีของจำเลยมานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4081

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4081/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 32, 33 (1) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 195 วรรคสอง, 225 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ม. 7, 24, 72, 73

เครื่องกระสุนปืนของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนสามารถออกใบอนุญาตให้ได้ เพียงแต่จำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้มีเครื่องกระสุนปืนจากนายทะเบียน จึงถือไม่ได้ว่าเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ทำหรือมีไว้เป็นความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 32 ส่วน ป.อ. มาตรา 33 (1) เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจแก่ศาลในการลงโทษริบทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด โดยมุ่งหมายให้ริบทรัพย์สินที่ผู้กระทำความผิดได้ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง ทั้งเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดด้วย เมื่อจำเลยประกาศขายเครื่องกระสุนปืนให้ผู้สนใจทราบ แล้วจำเลยจัดส่งเครื่องกระสุนปืนให้แก่ลูกค้าที่สั่งซื้อและได้รับเงินค่าเครื่องกระสุนปืนนั้น ซึ่งเป็นการกระทำความผิดฐานจำหน่ายเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้า เครื่องกระสุนปืนของกลางจึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง สมควรให้ริบ ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แต่บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองสำหรับการค้า ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 24, 73 ซึ่งเป็นบทบัญญัติความผิดสำหรับผู้ที่มีหรือจำหน่ายอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้าโดยเฉพาะ อันมีอัตราโทษหนักกว่าผู้ที่กระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนทั่ว ๆ ไปซึ่งมิใช่เพื่อการค้า เมื่อจำเลยมีเครื่องกระสุนปืนของกลางไว้ในครอบครองสำหรับการค้า โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเครื่องกระสุนปืนอื่นนอกจากที่มีไว้สำหรับการค้า จึงต้องลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 24, 73 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคสอง นั้น ไม่ถูกต้อง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3888

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3888/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 92, 93 (13), 343 วรรคแรก (เดิม) พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 ม. 91 ตรี

คดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ส่วนคดีนี้ศาลล่างพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก (เดิม) ถึงแม้ศาลจะพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนอันเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก (เดิม) ด้วย แต่ศาลลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองคนหางานโดยเฉพาะ มิได้ลงโทษและกำหนดโทษจำเลยในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์แต่อย่างใด ฉะนั้น ในกรณีเช่นนี้จะเพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งเพราะได้กระทำความผิดซ้ำในอนุมาตราเดียวกัน ตาม ป.อ. มาตรา 93 (13) ไม่ได้ ต้องเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 และถึงแม้คดีนี้ โจทก์จะขอเพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 93 ซึ่งเป็นบทหนักมาก็ตาม ศาลก็มีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 92 ซึ่งเป็นบทเบากว่าได้ ไม่เกินคำขอของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3885

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3885/2563

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 226/2 วรรคหนึ่ง (2)

จำเลยทั้งสองถูกฟ้องว่า เปิดบัญชีเงินฝากเพื่อโอนหรือรับโอนเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในเครือข่ายค้ายาเสพติดให้โทษของ ฐ. กับพวก เพื่อซุกซ่อนหรือปกปิด แหล่งที่มาของเงิน หรือเพื่ออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาซึ่งเงินนั้น อันเป็นการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันจริง คดีนี้มีความเกี่ยวพันกับขบวนการค้ายาเสพติดให้โทษรายใหญ่ ซึ่งมีลักษณะกระทำความผิดเป็นเครือข่าย มีบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก และมีการมอบหมายหน้าที่ออกเป็นหลายส่วน รวมทั้งพยายามปิดบังเส้นทางการเงินเพื่อมิให้เจ้าพนักงานเข้าถึงตัวผู้กระทำความผิด ตามรูปคดีจึงเป็นการยากที่โจทก์จะนำสืบด้วยประจักษ์พยานดังเช่นคดีอาญาทั่วไป ดังนั้น จำต้องอาศัยพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีและพิรุธแห่งการกระทำของจำเลยทั้งสองมารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ เมื่อคดีนี้โจทก์มีพยานเบิกความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสอดคล้องเชื่อมโยงกันเป็นลำดับ และมีสาระสำคัญตรงกับเอกสารที่เกี่ยวข้องทุกขั้นตอนโดยไม่ปรากฏข้อพิรุธ ทั้งเมื่อพิจารณาพยานเอกสารประกอบแล้ว ปรากฏว่ามีเงินหมุนเวียนผ่านเข้าบัญชีของจำเลยทั้งสองเป็นจำนวนมากผิดปกติเกือบ 30 ล้านบาท โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองประกอบอาชีพสุจริตใดจึงมีเงินหมุนเวียนในบัญชีจำนวนมากเช่นนี้ อีกทั้งมีลักษณะเป็นการนำเงินเข้าและถอนออกจากบัญชีอย่างรวดเร็วส่อให้เห็นพิรุธ นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังโอนและรับโอนเงินจากบัญชีของบุคคลอื่นอีกหลายบัญชีโดยไม่ปรากฏที่มาที่ไปของเงินอย่างชัดเจน และจากการตรวจสอบบัญชีเงินฝากของ ซ. พบว่าเปิดบัญชีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2553 หลังจากถูกอายัดบัญชีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2522 พบว่าในการทำธุรกรรมทางบัญชีมีเงินหมุนเวียนมากถึง 400 ล้านบาทเศษ โดย ซ. ทำธุรกรรมทางบัญชีด้วยตนเองทุกครั้ง แต่ไม่ได้เข้าชี้แจงถึงที่มาของเงินในบัญชีตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานตำรวจ ผิดวิสัยของสุจริตชนเช่นเดียวกัน จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าบัญชีเงินฝากดังกล่าวของ ซ. มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินค่ายาเสพติดให้โทษของเครือข่าย ฐ. กับพวก เช่นกัน ประกอบกับจำเลยทั้งสองให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่ารับจ้างเปิดบัญชีให้กับ ธ. เครือข่ายค้ายาเสพติดให้โทษของ ฐ. กรณียังปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยังถูกฟ้องข้อหาสมคบกันฟอกเงินในลักษณะเดียวกันอีกหลายสำนวน ตามคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อมาท้ายฟ้องด้วย ซึ่งบางคดีศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกไปแล้ว อันเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะ วิธี หรือรูปแบบเฉพาะในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับการสมคบกันฟอกเงิน สามารถนำมาเป็นพยานหลักฐานประกอบในการกระทำความผิดคดีนี้ของจำเลยทั้งสองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/2 วรรคหนึ่ง (2) เพราะการกระทำความผิดในเครือข่ายค้ายาเสพติดให้โทษของ ฐ. กับพวก เป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากและแบ่งความรับผิดชอบออกเป็นหลายขั้นตอน จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ร่วมกระทำความผิดบางคนอาจไม่รู้จักกัน ไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติแต่อย่างใด เมื่อประมวลพยานหลักฐานทั้งหมดของโจทก์และพฤติการณ์แห่งคดีเข้าด้วยกันแล้วทำให้มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเปิดบัญชีเงินฝากเพื่อโอนหรือรับโอนเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในเครือข่ายค้ายาเสพติดให้โทษของ ฐ. กับพวก เพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของเงิน หรือเพื่ออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาซึ่งเงินนั้น อันเป็นการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันจริงตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3872

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3872/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 188 (เดิม), 264 (เดิม), 268, 269/5, 269/6, 269/7, 334 (เดิม), 335 (เดิม), 341 (เดิม), 342 (เดิม) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 43

จำเลยปลอมใบสมัครบัตรเครดิตและบัตรวงเงินสดหมุนเวียนของโจทก์ร่วม ใช้แสดงเป็นพยานหลักฐานในการขอออกบัตร โดยจำเลยใช้เอกสารของผู้เสียหายที่ 2 ที่จำเลยปลอมขึ้นไปแสดงต่อพนักงานของโจทก์ร่วมพร้อมกับแสดงตนว่าเป็นผู้เสียหายที่ 2 โจทก์ร่วมได้ออกบัตรเครดิตและบัตรวงเงินสดหมุนเวียนให้แก่จำเลย ถือได้ว่าจำเลยใช้โจทก์ร่วมเป็นเครื่องมือในการออกบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่แท้จริงของโจทก์ร่วมในนามของผู้เสียหายที่ 2 ให้แก่จำเลย เพื่อจำเลยจะนำไปใช้ชำระค่าสินค้าค่าบริการและเบิกถอนเงินสดในนามของผู้เสียหายที่ 2 แทนตัวจำเลยเอง ซึ่งมีผลทำให้ผู้เสียหายที่ 2 อาจต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ร่วมแทนจำเลย เมื่อจำเลยได้นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ทั้งสองใบดังกล่าวไปใช้ จึงเป็นความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ

จำเลยใช้บัตรเครดิตและบัตรวงเงินสดหมุนเวียนของผู้อื่นไปเบิกถอนเงินสดเป็นความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์และความผิดฐานลักทรัพย์ ส่วนการใช้บัตรเครดิตดังกล่าวไปชำระค่าสินค้าและค่าบริการเท่ากับจำเลยแสดงตนเป็นผู้เสียหายที่ 2 หลอกลวงร้านค้าและโจทก์ร่วม เมื่อจำเลยได้ไปซึ่งตัวสินค้าและบริการจากผู้ถูกหลอกลวงจึงเป็นความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์และความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งพนักงานอัยการมีอำนาจเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3869

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3868 - 3869/2563

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 132 (1), 174 (2)

ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้ผู้ร้องภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดจึงถือว่าผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ซึ่งศาลอุทธรณ์มีอำนาจจำหน่ายคดีออกจากสารบบความได้ตามมาตรา 132 (1) ประกอบมาตรา 246 แต่มาตรา 132 ไม่ใช่บทบัญญัติเด็ดขาดว่าศาลจะต้องจำหน่ายคดีเสมอไป เพียงแต่ให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าจะสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่ก็ได้ โดยคำนึงถึงเหตุผลอันสมควรและความยุติธรรม

เมื่อปรากฏว่าขณะที่ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ยื่นอุทธรณ์ ได้เสียค่าขึ้นศาลเป็นเงิน 200,000 บาท 37,482 บาท 95,162 บาท และ 35,162 บาท ชี้ให้เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ประสงค์ที่จะต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป เมื่อเปรียบเทียบจำนวนเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ดังกล่าวกับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการจัดส่งคำคู่ความให้ผู้ร้องซึ่งเป็นเงินเพียง 500 บาท แล้ว ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการจัดส่งคำคู่ความจึงเป็นเงินจำนวนเพียงเล็กน้อย ตามพฤติการณ์ดังกล่าว แม้ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 จะทิ้งอุทธรณ์ แต่ศาลฎีกาเห็นว่ากรณียังไม่สมควรจำหน่ายคดีของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ทั้งนี้เพื่อให้คู่ความได้ว่ากล่าวกันในเนื้อหาแห่งคดีกันต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4038

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4038/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 33 (1), 276, 284

จำเลยขับรถจักรยานยนต์ของกลางพาผู้เสียหายไปยังที่เกิดเหตุ จากนั้นใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้เสียหายตกอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แล้วข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย เป็นความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารและฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นเพียงพาหนะที่ใช้พาไปยังที่เกิดเหตุเท่านั้น ไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง จึงไม่อาจริบได้

« »
ติดต่อเราทาง LINE