คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4014

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4014/2563

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ม. 4, 6 (1), 6 (2) (เดิม), 52 วรรคสอง (เดิม)

"การอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล" ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4 เป็นนิยามที่มุ่งหมายถึงการกระทำอย่างอื่นที่มีลักษณะของการบีบบังคับเพื่อหาผลประโยชน์ในรูปแบบอื่นของการเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม

ผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กและเป็นลูกจ้างต้องทำงานตั้งแต่เวลา 2 หรือ 3 นาฬิกา จนถึง 18 นาฬิกา เฉลี่ยวันละ 15 ชั่วโมง ต่อวันทุกวัน และได้รับค่าจ้างเฉลี่ยแล้วไม่ถึง 200 บาท ต่อวัน ซึ่งเทียบกับเวลาทำงานแล้วถือว่าต่ำมาก ทั้งหากทำงานไม่ครบกำหนดเวลาก็จะไม่ได้ค่าจ้าง โดยไม่มีวันหยุดปกติและไม่ได้ค่าล่วงเวลาและค่าจ้างพิเศษ มีเวลาพักระหว่างทำงานในช่วงรับประทานอาหารเช้าและกลางวันครั้งละไม่เกิน 15 ถึง 30 นาที และต้องทำงานเหมือนผู้ใหญ่ แสดงให้เห็นถึงเจตนาเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมและเป็นการขูดรีดโดยจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์อันเป็นมูลค่าส่วนเกินจากการทำงานปกติของลูกจ้างโดยให้ทำงานเกินเวลาและเกินความคุ้มค่าการทำงานของลูกจ้างอย่างมาก แต่ลูกจ้างกลับได้รับค่าจ้างในอัตราค่าจ้างที่ต่ำกว่าปริมาณงานที่ทำ โดยอาศัยเงื่อนไขว่าหากทำงานไม่ครบเวลาทำงานต่อวันจะไม่ได้รับค่าจ้างในวันนั้นมาเป็นวิธีการบังคับให้ผู้เสียหายไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องยอมทำงานให้ได้ค่าจ้างครบ อันเป็นการบีบบังคับเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมเข้าองค์ประกอบของเจตนาที่แสวงหาประโยชน์โดยวิธีการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานกระทำการค้ามนุษย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3973

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3973/2563

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1590, 1598/18 วรรคสอง, 1726, 1736 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5)

ป.พ.พ. มาตรา 1598/18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1590 บัญญัติให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ปกครองมาใช้บังคับแก่ผู้อนุบาล โดยศาลจะตั้งผู้อนุบาลหลายคนให้กระทำการร่วมกันหรือกำหนดอำนาจเฉพาะสำหรับคนหนึ่ง ๆ ก็ได้ ซึ่งศาลเยาวชนและครอบครัวมีคำสั่งเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 179/2558 ให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาลของ ฤ. และจำเลยร่วมกัน ศาลอุทธรณ์ภาค 6 และศาลฎีกาพิพากษายืนโดยศาลฎีกาให้ ฤ. เป็นผู้มีสิทธิกำหนดที่อยู่ของโจทก์ ตามคำสั่งศาลระบุเพียงว่า ฤ. และจำเลยเป็นผู้อนุบาลโจทก์ผู้ไร้ความสามารถ โดยมิได้กำหนดหน้าที่ของผู้อนุบาลแต่ละคนไว้โดยเฉพาะและมิได้กำหนดให้ผู้อนุบาลกระทำการร่วมกันอย่างไร ยกเว้นแต่ในเรื่องการกำหนดที่อยู่ที่ศาลฎีการะบุให้ ฤ. เพียงผู้เดียวเป็นผู้มีสิทธิกำหนดที่อยู่ของโจทก์ได้ กรณีจึงต้องถือว่าการใดที่ ฤ. และจำเลยกระทำการแทนโจทก์รวมถึงการบอกล้างโมฆียะกรรมต้องกระทำด้วยความยินยอมพร้อมใจกัน ดังนั้น การที่โจทก์โดย ฤ. ในฐานะผู้อนุบาลเพียงคนเดียวโดยไม่มีจำเลยร่วมฟ้องเป็นคดีนั้นจึงขัดต่อคำสั่งศาล ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นปฏิปักษ์ต่อทรัพย์ของโจทก์ แต่ ฤ.ไม่อาจอ้างเหตุความเป็นปฏิปักษ์ดังกล่าวมาเป็นข้ออ้างในการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวได้เพราะ ฤ. อาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีคำสั่งให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถโดยแสดงเหตุขัดข้องดังกล่าว เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ ฤ. เพียงฝ่ายเดียวมีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว หรือขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับการขอถอดถอนจำเลยจากการเป็นผู้อนุบาลร่วมได้ ดังนั้น โจทก์โดย ฤ. ในฐานะผู้อนุบาลเพียงคนเดียวจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ปัญหาอำนาจฟ้องนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3961

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3961/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 20 พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 ม. 12 (1), 15

พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 12 (1) บัญญัติบทลงโทษในความผิดฐานจัดให้มีการเล่นการพนันสลากกินรวบไว้ว่า "ให้ลงโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ขึ้นไปจนถึง 3 ปี และปรับตั้งแต่ 500 บาท ขึ้นไปจนถึง 5,000 บาท ด้วยอีกโสดหนึ่ง" ซึ่งคำว่า "อีกโสดหนึ่ง" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้คำจำกัดความไว้ว่า หมายถึง กระทงความส่วนหนึ่งโดยมิใช่บทบังคับให้ศาลต้องลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ จึงเท่ากับกฎหมายกำหนดให้ลงโทษทั้งจำคุกและปรับด้วย แต่ถ้าศาลเห็นสมควรแก่พฤติการณ์แห่งคดีก็มีอำนาจใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกโดยไม่จำต้องลงโทษปรับด้วยก็ได้ ตาม ป.อ. มาตรา 20 สำหรับเงินสินบนนำจับนั้น ในกรณีที่มีคำขอให้จ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 15 ศาลจะพิพากษาให้จ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับได้ก็ต่อเมื่อมีการลงโทษปรับจำเลยด้วย เพราะจำนวนเงินค่าปรับจะต้องนำมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณว่าจะต้องจ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับเป็นจำนวนเท่าใด เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำคุกแต่อย่างเดียวโดยไม่ลงโทษปรับ จึงไม่อาจจ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ลงโทษจำคุกแต่อย่างเดียวโดยไม่ลงโทษปรับและไม่สั่งให้จำเลยจ่ายเงินสินบนนำจับจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3463

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3463/2563

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5) พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ม. 40, 41, 42, 66 ทวิ

ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 42 มีบทลงโทษตามมาตรา 66 ทวิ ความผิดดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารได้ตามกฎหมาย และแจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ซึ่งอำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่จะสั่งให้รื้อถอนอาคารตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 42 บัญญัติว่า "ถ้าการกระทำตามมาตรา 40 เป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ หรือเจ้าของอาคารมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 41 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวัน …" ดังนั้น ข้อเท็จจริงว่าอาคารดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ จึงเป็นเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นองค์ประกอบความผิดซึ่งต้องบรรยายให้ปรากฏในฟ้อง เพื่อนำมาพิจารณาถึงอำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่น มิใช่เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ เมื่อฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าอาคารที่จำเลยดัดแปลงโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ การบรรยายฟ้องจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายที่โจทก์ขอให้ลงโทษ ฟ้องของโจทก์จึงไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3949

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3949/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 137, 267 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4), 158 (5) พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 ม. 42 (2)

ความผิดฐานแจ้งความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137 และแจ้งให้เจ้าพนักงานจดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 267 โจทก์ได้บรรยายไว้ในตอนท้ายของฟ้องข้อ 2 ว่า ข้อความที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมรายการในทะเบียนบริษัทและคำรับรองการจดทะเบียนล้วนเป็นความเท็จ เพราะแท้ที่จริงแล้วโจทก์ไม่เคยทราบถึงการบอกกล่าวนัดประชุมเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 และไม่ได้เข้าประชุมเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2561 จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีผู้ถือหุ้นเข้าประชุมครบจำนวน 3 คน และนับจำนวนหุ้นได้ 40,000 หุ้น ตามที่จำเลยทำคำรับรอง อันเป็นการบรรยายชี้ชัดลงไปแล้วว่าข้อความใดเป็นจริงและข้อความใดเป็นเท็จ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้วเมื่อจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อนายทะเบียนว่าได้มีการบอกกล่าวนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นและจัดให้มีการประชุม เป็นเหตุให้นายทะเบียนหลงเชื่อว่ามีการประชุมจริงจึงรับจดทะเบียนแก้ไขให้จำเลยแต่เพียงผู้เดียวเป็นกรรมการลงชื่อผูกพันบริษัทได้ ย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อโจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นและกรรมการของบริษัทเป็นว่าไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัทอีกต่อไปแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายตามป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 ได้โจทก์และจำเลยร่วมกันก่อตั้งบริษัท อ. มีโจทก์ จำเลยและ ด. ญาติของจำเลยเป็นผู้ถือหุ้น อันมีลักษณะเป็นบริษัทของครอบครัว การกระทำของจำเลยที่อ้างส่งเอกสารเท็จและแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อนายทะเบียนเพื่อให้รับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทไว้ในสารบบรายการจดทะเบียนของบริษัท จึงเป็นเพียงการแย่งเอาอำนาจการบริหารจัดการบริษัทมาเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว ส่วนทรัพย์สินอื่น ๆ ของบริษัท รวมตลอดถึงหุ้นก็ยังคงเป็นของบริษัท และผู้ถือหุ้นรายเดิมในสัดส่วนจำนวนหุ้นเท่าเดิม ข้อเท็จจริงไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่า เป็นการกระทำเพื่อลวงให้โจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3918

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3918/2563

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 155 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ม. 11 วรรคสอง, 24 วรรคหนึ่ง, 41 วรรคหนึ่ง, 43, 44

สัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์งานโครงสร้างและสถาปัตยกรรมโครงการ ม. ซึ่งคู่สัญญาทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย แม้ว่าอนุญาโตตุลาการจะวินิจฉัยว่าสัญญาดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพรางตกเป็นโมฆะ ต้องบังคับตามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ ม. ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางและให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะสัญญาจ้างทำของมาใช้บังคับ ซึ่งสัญญาที่ทำเป็นหนังสือในรูปแบบของสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์งานโครงสร้างและสถาปัตยกรรมโครงการ ม. นี้เป็นโมฆะ เพราะเกิดจากเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง แต่ก็มีลักษณะสมบูรณ์ในลักษณะของสัญญาจ้างทำของได้ หากมีลักษณะเข้าทุกองค์ประกอบของสัญญา และไม่มีข้อบกพร่องขององค์ประกอบทุกข้อในทางกฎหมาย ทั้งไม่มีข้อบกพร่องในการแสดงเจตนา ซึ่งสัญญาจ้างทำของนี้ไม่ต้องทำตามแบบแต่อย่างใด สัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ ม. เป็นสัญญาจ้างทำของจึงสมบูรณ์ใช้บังคับได้ เมื่อมีการทำสัญญาดังกล่าวไว้เป็นหนังสือ แม้จะเป็นโมฆะในลักษณะของสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์งานโครงสร้างและสถาปัตยกรรมโครงการ ม. แต่เนื้อหาของสัญญานั้นยังอยู่และสมบูรณ์ในลักษณะของสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ ม. ข้อสัญญาหรือข้อตกลงในการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการจึงยังคงมีอยู่ในรูปของหนังสือ สัญญาอนุญาโตตุลาการจึงมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ต้องตามหลักเกณฑ์ใน พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 11 วรรคสอง นอกจากนี้ตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "…และเพื่อวัตถุประสงค์นี้ (ซึ่งหมายถึงอำนาจของอนุญาโตตุลาการในการวินิจฉัยถึงความมีอยู่หรือความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการ) ให้ถือว่าข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาหลัก เป็นข้อสัญญาแยกต่างหากจากสัญญาหลัก คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการที่ว่าสัญญาหลักเป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์จะไม่กระทบกระเทือนถึงข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ" ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการในสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ ม. ที่เป็นหนังสือนั้นยังมีอยู่ อนุญาโตตุลาการจึงมีอำนาจวินิจฉัยและทำคำชี้ขาดได้ และคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงชอบด้วยกฎหมาย สามารถบังคับได้ตามคำชี้ขาดนั้น ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง, 43, 44

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3917

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3917/2563

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1364 วรรคสอง, 1382, 1646 พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ม. 12 วรรคหนึ่ง

ผู้ตายครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมสร้างตนเอง เมื่อยังไม่มีการออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นที่ดินของรัฐ การที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่ บ. มิใช่การตกทอดโดยมรดก เป็นการขัดต่อ พ.ร.บ. ดังกล่าว ผู้ตายมีเพียงสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทถือเป็นทรัพย์มรดกอย่างหนึ่ง ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย เมื่อทายาททุกคนของผู้ตายตกลงให้ บ. เป็นผู้รับโอนสิทธิในที่ดินของผู้ตายตามที่พระราชกฤษฎีกานิคมสร้างตนเองกำหนดให้ทายาทเข้ารับสิทธิได้เพียงผู้เดียว บ. จึงเป็นแต่เพียงผู้มีชื่อในหนังสือแสดงการทำประโยชน์แทนบุตรทุกคนของผู้ตายเท่านั้น ต่อมา บ. ไปขอออกโฉนดที่ดินจนได้รับโฉนดที่ดินพิพาท ก็ยังต้องถือว่าเป็นการดำเนินการแทนทายาทอื่น ทายาททุกคนมีส่วนเท่า ๆ กันและเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท บ. ไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาททั้งแปลงให้แก่จำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 ขอรับโอนมรดกที่ดินใส่ชื่อของตนเองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ก็ยังคงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนของผู้ตาย สิทธิของจำเลยที่ 1 ผู้รับโอนคงมีสิทธิในทำนองเดียวกันกับสิทธิของ บ. ผู้โอน จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาททั้งแปลงไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 นิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองไม่ชอบ จำเลยที่ 1 ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แบ่งแยกที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทของผู้ตาย แต่หากการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินแก่โจทก์ทั้งสองไม่อาจดำเนินการได้ ก็ต้องดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1364 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3916

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3916/2563

พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ม. 12 วรรคหนึ่ง

แม้จะได้ความว่าก่อนตาย พ. ทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 20218 ซึ่งเดิมเป็นที่ดิน น.ค. 3 เล่มที่ 17 เลขที่ 805 ที่ 18/2524 ให้แก่ บ. ก็ตาม แต่ขณะนั้นที่ดินพิพาทยังไม่มีการออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 จึงยังเป็นที่ดินของรัฐ การทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่ บ. มิใช่การตกทอดโดยทางมรดก จึงขัดกับ พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตามการที่ พ. ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดิน พ. จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ซึ่งสิทธิดังกล่าวถือเป็นทรัพย์มรดกอย่างหนึ่ง ย่อมตกแก่ทายาทโดยธรรมของ พ. ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าหลังจาก พ. ถึงแก่ความตาย ทายาทของ พ. ได้ตกลงให้ใส่ชื่อ บ. ในหนังสือแสดงการทำประโยชน์ และการที่ได้มีการออกโฉนดที่ดินเป็นชื่อของ บ. เป็นกรณีที่ทายาทของ พ. ให้ บ. ดำเนินการตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่เป็นส่วนของจำเลยและบุตรของ พ. คนอื่นรวมอยู่ด้วย บ. เป็นแต่เพียงมีชื่อในโฉนดแทนบุตรคนอื่นเท่านั้น บ. ไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาททั้งแปลงให้แก่ อ. อ. จึงไม่มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในที่ดินพิพาท สิทธิของโจทก์ผู้รับโอนต่อมาก็คงมีสิทธิในทำนองเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3859

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3859/2563

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 4, 75 พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 ม. 35, 36 (3)

ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 35 และมาตรา 36 (3) บัญญัติให้นิติบุคคลอาคารชุดมีผู้จัดการคนหนึ่งและให้ผู้จัดการเป็นผู้แทนนิติบุคคลอาคารชุด และตามข้อบังคับของโจทก์กำหนดให้ผู้จัดการนิติบุคคลเป็นตัวแทนของโจทก์ปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ โดยให้มีอำนาจใช้สิทธิเรียกร้องหรือดำเนินคดีตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญากับผู้ที่ทำละเมิดต่ออาคารชุดหรือทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด ดังนั้น การฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้ที่กระทำละเมิดต่อโจทก์จึงเป็นหน้าที่ของผู้จัดการโจทก์ หาใช่เป็นหน้าที่ของเจ้าของร่วมหรือกรรมการโจทก์ไม่ ส. เป็นเพียงเจ้าของร่วมและกรรมการโจทก์มิได้เป็นผู้จัดการโจทก์ ทั้งไม่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ฟ้องร้องดำเนินคดีนี้ ส. จึงไม่อาจใช้สิทธิในฐานะเจ้าของร่วมหรือกรรมการโจทก์ฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ หาก ส. เห็นว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ ก็ต้องแจ้งให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการ การที่ ส. มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการโจทก์ฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ถือได้ว่าเป็นการแจ้งเรื่องให้โจทก์ดำเนินการแล้ว แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย อันเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของโจทก์ ถือได้ว่าประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทนของนิติบุคคลในเรื่องดังกล่าว ในกรณีเช่นนี้ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ยกมาปรับใช้แก่คดีและไม่ปรากฏว่ามีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 โดย ส. ในฐานะเจ้าของร่วมและกรรมการโจทก์ต้องร้องขอให้ศาลแต่งตั้งตัวเองหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้แทนเฉพาะการเพื่อดำเนินการฟ้องร้องตลอดจนการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องตามข้อบังคับของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 75 แต่ ส. มิได้ร้องขอให้ศาลตั้งตัวเองเป็นผู้แทนโจทก์เฉพาะการ และฟ้องคดีแทนโจทก์เสียเอง จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3503

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3503/2563

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 198 ทวิ วรรคสาม (2) พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ม. 4 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ม. 7

คดีนี้จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ และศาลชั้นต้นให้สืบพยานไปฝ่ายเดียวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคสาม (2) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 เมื่อในการสืบพยานหลักฐานของโจทก์ โจทก์มีหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่ระบุว่า ก. เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ และ ก. มอบอำนาจให้ ญ. มีอำนาจลงนามในสัญญาเช่าซื้อกับมีอำนาจตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้รับมอบอำนาจ ญ. จึงมีอำนาจลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้บุคคลใดลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ได้ การที่ ญ. มอบอำนาจช่วงอีกทอดหนึ่งให้ ร. ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อ แล้วปรากฏลายมือชื่อ ร. ลงไว้ในช่องผู้ให้เช่าซื้อในสัญญาเช่าซื้อเป็นลำดับ ซึ่งศาลล่างทั้งสองมิได้ติดใจสงสัยเกี่ยวกับลายมือชื่อ ร. ที่ลงไว้ในสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ พยานบุคคลและพยานเอกสารที่โจทก์นำสืบมาเพียงฝ่ายเดียวในคดีโดยจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ จึงมีรายละเอียดข้อสำคัญพอให้เห็นได้ว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งรับฟังได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ร. ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์แล้ว

โจทก์ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อทรัพย์สิน การดำเนินการอันเกี่ยวกับธุรกิจของโจทก์ย่อมมีการลงทุนและเสียค่าใช้จ่าย ทั้งโจทก์ย่อมมุ่งหวังผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการลงทุนประกอบธุรกิจของตนบ้างเป็นธรรมดา ดังนั้น การที่โจทก์คิดค่าเช่าซื้อตามสัญญาโดยนำเงินลงทุนที่โจทก์ใช้จ่ายไปเกี่ยวกับรถยนต์ที่เช่าซื้อมาคำนวณรวมกับดอกเบี้ยในแต่ละงวด เพื่อให้ตนได้รับประโยชน์หรือกำไรในเชิงธุรกิจของตน และการคิดคำนวณผลประโยชน์ของโจทก์เช่นนั้นมิได้สูงเกินสมควรหากยังคงอยู่ภายใต้มาตรฐานแห่งเศรษฐกิจกับความเป็นจริงของค่าครองชีพของประชาชนในสังคม ทั้งมิได้เป็นการคิดคำนวณผลประโยชน์ที่ต้องห้ามต่อกฎหมายด้วยแล้ว จึงยังมิอาจกล่าวว่าการคิดค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อของโจทก์เป็นไปโดยไม่เป็นธรรม ส่วนข้อตกลงเกี่ยวกับค่าขาดราคาหรือเบี้ยปรับอันพึงชดใช้แก่กันนั้น เป็นเพียงข้อกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับค่าเสียหายภายหลังจากเลิกสัญญาที่คู่สัญญาสามารถตกลงกันไว้ได้ โจทก์ก็หาได้นำหนี้ดังกล่าวไปรวมไว้เป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่าซื้อดังที่จำเลยทั้งสองเข้าใจและอ้างมาในฎีกา ข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อจึงมิใช่ข้อตกลงสำเร็จรูปที่ทำให้โจทก์ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปได้เปรียบจำเลยที่ 1 คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร หรือมีลักษณะหรือมีผลให้จำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ อันต้องด้วยลักษณะของข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2550

เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เพิ่งผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์เพียง 2 งวดติดต่อกัน และโจทก์ยังมิได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามเพื่อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาต่อจำเลยที่ 1 โดยชอบ ข้อเท็จจริงกลับได้ความต่อไปตามคำฟ้องและคำเบิกความของ น. ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ว่า โจทก์เป็นฝ่ายติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ 1 สอดคล้องกับรายละเอียดในใบแจ้งให้จำเลยที่ 1 ซื้อทรัพย์ ที่ระบุถึงเรื่องที่โจทก์เป็นฝ่ายติดตามรถยนต์คืน โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 โต้แย้งคัดค้านในการนั้น พฤติการณ์ของโจทก์ที่ติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 คู่สัญญาฝ่ายที่ผิดนัดยินยอมส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์โดยไม่อิดเอื้อนเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกันโดยปริยาย อันเป็นผลให้คู่สัญญาไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาต่อกันอีก โจทก์ไม่อาจอาศัยข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อเรียกร้องค่าขาดราคาจากจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันย่อมไม่ต้องรับผิดในส่วนนี้ด้วย

« »
ติดต่อเราทาง LINE