คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3499

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3499/2563

พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ม. 100/2

เจ้าพนักงานตำรวจยึดเมทแอมเฟตามีนของกลางได้เนื่องจากจำเลยเป็นผู้นำชี้ให้ยึดโดยเมทแอมเฟตามีน 538 เม็ด จำเลยฝังดินไว้นอกรั้วบ้าน ส่วนเมทแอมเฟตามีนอีก 8,000 เม็ด จำเลยฝังดินไว้ในสวนพริก ห่างจากบ้านของจำเลยประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งเมทแอมเฟตามีนของกลางทั้งสองจำนวนถูกฝังดินซุกซ่อนไว้อย่างมิดชิด หากจำเลยไม่ให้ข้อมูลต่อเจ้าพนักงานตำรวจและนำไปชี้ตำแหน่งที่ซุกซ่อน ย่อมเป็นการยากที่เจ้าพนักงานตำรวจจะสามารถยึดเมทแอมเฟตามีนทั้งสองจำนวนมาเป็นของกลางในคดีนี้ได้ การให้ข้อมูลของจำเลยเป็นผลให้เมทแอมเฟตามีนของกลางไม่แพร่ระบาดไปสู่สังคมในวงกว้าง ถือได้ว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ จึงสมควรลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3480

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3480/2563

พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ม. 57

การที่จำเลยประกอบกิจการสถานพยาบาลและดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาตซึ่งตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ได้บัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดประกอบกิจการสถานพยาบาล เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต ตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง กรณีหนึ่ง และห้ามมิให้บุคคลใดดำเนินการสถานพยาบาล เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต ตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง อีกกรณีหนึ่ง โดยหลักเกณฑ์การขอรับใบอนุญาตทั้งสองกรณีแตกต่างกัน แสดงว่าในแต่ละฐานความผิดต่างมีสภาพและลักษณะของการกระทำประกอบด้วยเจตนาแตกต่างกัน สามารถแยกเป็นคนละส่วนต่างหากจากกันได้ แม้จะมีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 57 ด้วยกัน หากมีการกระทำฝ่าฝืนก็จะต้องถูกลงโทษเป็นแต่ละกรณีไป การกระทำของจำเลยในความผิดฐานประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน และเป็นการกระทำที่ต่างจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์โดยมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์หรือประกอบโรคศิลปะโดยมิได้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ การกระทำของจำเลยในความผิดฐานประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาตก็ดี หรือฐานดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาตก็ดี กับความผิดฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ฐานประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์โดยมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์และฐานประกอบโรคศิลปะโดยมิได้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3473

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3473/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 3, 91 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4), 120 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ม. 5, 10, 12 (1) (2)

โจทก์ฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 5, 9, 10, 12 (1) (2) อันเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน มิใช่เป็นความผิดอันยอมความได้ ดังนั้น พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้โดยไม่จำต้องมีคำร้องทุกข์จากผู้เสียหาย เมื่อพนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนจนเสร็จ ถือได้ว่ามีการสอบสวนโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

การที่จำเลยเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลผู้เสียหายที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับจำเลย โดยจำเลยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์จากภายนอกผ่านระบบอินเทอร์เน็ตของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายของโรงพยาบาลผู้เสียหาย แล้วทำการปิดระบบกระจายสัญญาณเพื่อปิดระบบโปรแกรมสำหรับบริการทางการแพทย์ อันเป็นการกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลผู้เสียหายถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ โดยเป็นการกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะในแต่ละคราว เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 12 (2) (เดิม) ประกอบมาตรา 10 ย่อมเป็นความผิดสำเร็จในตัว ต่างกรรมต่างวาระ และอาศัยเจตนาแตกต่างแยกจากกันได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันมิใช่ความผิดกรรมเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3465

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3465/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 195 วรรคสอง, 225 พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551

การที่จำเลยขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีลดราคานั้น เป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะขายสุราในสถานบริการของจำเลยให้ได้จำนวนมากขึ้น แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องแยกความผิดฐานขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีลดราคาเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขายกับความผิดฐานขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์และจำหน่ายสุราแก่เด็กเป็นข้อ ๆ ต่างหากจากกัน แต่ก็เกิดจากเจตนาอันเดียวกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่ความผิดหลายกรรมต่างกันไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้างศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3432

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3432/2563

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 216 วรรคหนึ่ง

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของจำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงไม่รับวินิจฉัย การที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองขัดแย้งกันมีข้อพิรุธสงสัย ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้แสดงเหตุผลโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ว่าไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมอย่างไรหรือที่ถูกต้องเป็นอย่างไร จึงไม่เป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3431

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3431/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 317 วรรคสาม (เดิม)

แม้ก่อนเกิดเหตุโจทก์ร่วมที่ 1 นั่งเล่นโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ในโรงเรียนหน้าห้องทำงานของจำเลย โดยจำเลยมิได้นัดแนะหรือพาโจทก์ร่วมที่ 1 มา ก็ถือว่าขณะนั้นโจทก์ร่วมที่ 1 อยู่ในความปกครองดูแลของโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นมารดา จำเลยไม่มีสิทธิพาโจทก์ร่วมที่ 1 ไปยังที่ใดโดยโจทก์ร่วมที่ 2 ไม่รู้เห็นยินยอม การที่จำเลยเข้ามากอดแล้วลากโจทก์ร่วมที่ 1 เข้าไปข่มขืนกระทำชำเราในห้องทำงานของจำเลย ถือได้ว่าจำเลยพาไปหรือแยกโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากความปกครองดูแลของโจทก์ร่วมที่ 2 โดยปราศจากเหตุอันสมควรแล้ว มิใช่เป็นเพียงการกระทำเพื่อมิให้บุคคลอื่นพบเห็นจึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา เพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3429

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3429/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 84 วรรคสอง, 289 (4)

ผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดจะมีความผิดและถูกลงโทษฐานใช้ให้กระทำความผิดแม้ความผิดนั้นยังมิได้กระทำลงตาม ป.อ. มาตรา 84 วรรคสอง นั้น ข้อเท็จจริงต้องฟังได้ว่าผู้นั้นได้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดข้อหาใด ต่อบุคคลใดอย่างชัดเจน ผู้ถูกใช้จึงจะสามารถลงมือกระทำความผิดนั้นได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3 บอกจำเลยที่ 2 ให้หาคนมายิงผู้เสียหายทั้งห้า คงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 2 ชักชวนให้จำเลยที่ 1 รับงานยิงคนที่ทะเลน้อย โดยไม่ปรากฏว่ายิงผู้ใด จำเลยที่ 1 ไม่อาจจะไปใช้อาวุธปืนยิงผู้ใดได้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงมือก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3427

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3427/2563

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4), 22, 185 วรรคหนึ่ง, 215, 225 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ม. 4

ความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 เกิดขึ้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการใช้เงินตามเช็ค สถานที่ตั้งของธนาคารที่ปฏิเสธการจ่ายเงินจึงเป็นสถานที่ที่ความผิดเกิดขึ้น การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันออกเช็คธนาคาร ก. สาขาหาดกมลา ภูเก็ต ตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์นำเช็คพิพาททั้งสองฉบับเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคาร ก. สาขาบางรัก ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคาร ก. สาขาหาดกมลา ภูเก็ต ปฏิเสธการจ่ายเงินนั้น ย่อมแสดงว่า ธนาคาร ก. สาขาบางรัก มิได้เป็นผู้จ่ายเงินตามเช็คให้แก่โจทก์คงเป็นแต่เพียงตัวแทนของโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้เท่านั้น เมื่อธนาคาร ก. สาขาหาดกมลา ภูเก็ต ปฏิเสธการจ่ายเงิน ท้องที่จังหวัดภูเก็ตอันเป็นสถานที่ตั้งของธนาคาร ก. สาขาหาดกมลา ภูเก็ต ซึ่งเป็นธนาคารตามเช็คที่ปฏิเสธการจ่ายเงินจึงเป็นสถานที่ที่ความผิดเกิดขึ้น ความผิดคดีนี้จึงเกิดขึ้นในเขตศาลชั้นต้น ซึ่งมีอำนาจรับฟ้องไว้พิจารณาพิพากษา

ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินระบุว่า ผู้กู้ตกลงกู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ 5,000,000 บาท และตกลงชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้กู้ 150,000 บาท แม้การกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสามจะมีการตกลงดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี อันเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดก็ตาม แต่เมื่อได้ความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า ในวันทำสัญญากู้ยืมเงินจำเลยที่ 2 ออกเช็คสั่งจ่ายให้แก่โจทก์ 5,450,000 บาท เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดชำระเงิน ปรากฎว่าโจทก์ไม่สามารถนำเช็คไปขึ้นเงินได้ โจทก์จึงนำเช็คไปพบจำเลยที่ 2 จนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ให้แก่โจทก์ การที่โจทก์นำเช็คพิพาททั้งสองฉบับตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ไปเรียกเก็บเงิน แสดงว่าโจทก์เจตนาเข้าถือสิทธิตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับ เมื่อเช็คพิพาททั้งสองฉบับตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 สั่งจ่ายเงิน 5,000,000 บาท และ 450,000 บาท ตามลำดับ อันเป็นการแยกให้เห็นชัดว่าเช็คฉบับใดชำระเงินต้นและเช็คฉบับใดชำระดอกเบี้ยประกอบกับโจทก์ยังบรรยายฟ้องอีกด้วยว่า เป็นการสั่งจ่ายเช็คให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมและดอกเบี้ยพร้อมทั้งแนบสัญญากู้ยืมเงินมาท้ายคำฟ้องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง กรณีจึงไม่อาจฟังว่าเช็คพิพาททั้งสองฉบับตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 เป็นเช็คที่ออกเพื่อชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยโดยไม่อาจแยกเงินต้นและดอกเบี้ยออกจากกันได้ เมื่อปรากฏว่าเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4 สั่งจ่ายเงิน 5,000,000 บาท จึงเป็นเช็คที่ออกเพื่อชำระเงินต้น ส่วนเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.5 สั่งจ่ายเงิน 450,000 บาท จึงเป็นเช็คที่ออกเพื่อชำระดอกเบี้ยที่เรียกเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนด ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้กระทำผิดในส่วนของดอกเบี้ยที่โจทก์คิดเกินอัตราตามกฎหมาย ดังนั้น แม้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.5 ก็จะถือว่าโจทก์เป็นผู้ทรงโดยชอบและเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 สำหรับความผิดในส่วนของเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.5 แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจฟังลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ ทั้งนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 แต่ในส่วนของเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4 นั้นเป็นเช็คที่ออกเพื่อชำระเงินต้นมิได้รวมดอกเบี้ยที่มิชอบเข้าไว้ด้วย จึงเป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย การที่จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4 เพื่อชำระเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4 ในนามหรือแทนจำเลยที่ 1 อันเป็นการแสดงออกถึงความประสงค์ของนิติบุคคล เมื่อเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4 ถึงกำหนดชำระแล้วปรากฎว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินด้วยเหตุผลว่า "เงินในบัญชีไม่พอจ่าย" จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3395

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3395/2563

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 406

เงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษ (เงินรางวัลประจำปี) ที่จำเลยรับไปแล้วนั้น เป็นเงินที่จำเลยมีสิทธิได้โดยชอบด้วยกฎหมายและโจทก์มีหน้าที่จะต้องเบิกจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่จำเลย หลังจากจำเลยรับเงินดังกล่าวไปแล้ว แม้ต่อมาสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 11 และสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดพิจิตรจะมีหนังสือทักท้วงไปยังโจทก์ว่าการเบิกจ่ายเงินดังกล่าวไม่ถูกต้อง โดยแจ้งว่าเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษ (เงินรางวัลประจำปี) ต้องเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ไม่สามารถเบิกจ่ายจากเงินสะสมได้ก็ตาม ก็ไม่ทำให้เงินที่จำเลยรับไปแล้วเป็นเงินที่ไม่ชอบ เพราะเงินดังกล่าวเป็นเงินที่จำเลยมีสิทธิได้รับตามกฎหมาย การที่เจ้าหน้าที่การเงินของโจทก์เบิกเงินดังกล่าวจากเงินสะสมซึ่งสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดพิจิตรอ้างว่าไม่ถูกต้องตามระเบียบ ก็เป็นการทำงานที่บกพร่องของเจ้าหน้าที่การเงินของโจทก์เอง หาได้เกี่ยวข้องกับจำเลยแต่อย่างใดไม่ และการยกเลิกคำสั่งของเทศบาลตำบลวังกรดที่อนุมัติให้จำเลยได้รับเงินประโยชน์ดังกล่าว โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์มีอำนาจตามกฎหมายข้อใดที่จะยกเลิกคำสั่งดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นการตัดสิทธิจำเลยที่จะได้รับเงินทั้งที่จำเลยมีสิทธิได้รับเงินนั้นโดยชอบด้วยกฎหมายและโจทก์เองก็ได้อนุมัติให้จำเลยรับเงินดังกล่าวแล้ว ดังนั้น จำเลยยังคงมีสิทธิที่จะยึดถือเงินทั้งสองจำนวนไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกเงินทั้งสองจำนวนคืนจากจำเลย เป็นกรณีที่โจทก์จะต้องดำเนินการทางบัญชีเบิกจ่ายเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษจากกองเงินงบประมาณที่ถูกต้องตามระเบียบการจ่ายเงินชดใช้คืนแก่กองเงินงบประมาณที่เจ้าหน้าที่การเงินของโจทก์เบิกผิดพลาดไป หาใช่มาฟ้องเรียกเงินดังกล่าวคืนจากจำเลยเช่นนี้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3326

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3326/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 276 วรรคหนึ่ง (เดิม), 285 (เดิม)

พฤติการณ์ที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันมา การที่ผู้เสียหายอาศัยอยู่กับจำเลยมาตั้งแต่อายุได้เพียง 2 ปี และเป็นบุตรบุญธรรมจำเลยด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายโดยปกติย่อมไม่มีความสัมพันธ์แบบชู้สาว อีกทั้งผู้เสียหายมีคนรักอยู่ด้วย จึงไม่น่าเชื่อว่าผู้เสียหายจะยินยอมให้จำเลยกระทำชำเรา แม้ผู้เสียหายเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายไม่ได้ต่อสู้ขัดขืนก็ตาม แต่เพราะเคยถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเรามาก่อนและผู้เสียหายขัดขืนถูกจำเลยทำร้ายโดยใช้เท้าถีบ ทั้งยังต่อว่าผู้เสียหายทำนองว่าขอแค่นี้ไม่ได้หรือไง ผู้เสียหายจึงไม่กล้าที่จะต่อสู้ขัดขืนจำเลย จึงรับฟังได้ว่า ผู้เสียหายถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราโดยมิได้เกิดจากความสมัครใจหรือยินยอมของผู้เสียหาย การที่จำเลยถอดกางเกงของผู้เสียหายออกแล้วสอดใส่อวัยวะเพศของจำเลยเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหาย ชักเข้าออกจนสำเร็จความใคร่ ถือได้ว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้

« »
ติดต่อเราทาง LINE