กฎหมายฎีกา ปี 2566
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4049/2566
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 33 (1)
จำเลยทั้งหกใช้รถยนต์ของกลาง 4 คัน พาคนต่างด้าว 47 คน ที่ลักลอบเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยไปส่งยังจุดหมายปลายทางที่อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย จึงเป็นการใช้รถยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะให้คนต่างด้าวนั่งโดยสารมาในรถด้วยเท่านั้น มิได้เป็นการใช้รถยนต์ของกลางเพื่อพาคนต่างด้าวหลบหนีให้พ้นจากการจับกุม หรือเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจับกุมของเจ้าพนักงานตำรวจตามฟ้องของโจทก์โดยตรง รถยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยทั้งหกได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4954/2566
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1312 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142
เมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีในประเด็นเรื่องการปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทโดยสุจริต และศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวไว้ ทั้งการปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1312 วรรคหนึ่ง จะต้องได้ความว่าเจ้าของโรงเรือนปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินของตนเองแต่มีบางส่วนของโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น ส่วนที่รุกล้ำต้องเป็นส่วนน้อยและส่วนที่อยู่ในที่ดินของตนนั้นต้องเป็นส่วนใหญ่ มิฉะนั้นจะเรียกว่าสร้างโรงเรือนรุกล้ำมิได้ ซึ่งข้อเท็จจริงคดีนี้เป็นเรื่องที่จำเลยเข้าไปปลูกสร้างโรงเรือนต่าง ๆ ในที่ดินโฉนดเลขที่ 4478 โดยอาศัยสิทธิของ บ. ทั้งหมด และไม่มีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินของจำเลยเลย กรณีจึงไม่อาจปรับด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1312 ได้ ดังนั้นการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่หยิบยกประเด็นเรื่องความสุจริตตามบทมาตราดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น และไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา เพราะมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4655/2566
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 540
การที่โจทก์จำเลยทำสัญญาลักษณะที่รวมการเช่าระยะแรก 30 ปี แต่กำหนดมีคำมั่นที่โจทก์จะให้เช่าอีกสองคราว คราวละ 30 ปี ในวันเดียวกัน ทั้งจำเลยยังชำระเงินการเช่าสองคราว คราวละ 30 ปี เช่นที่กล่าวข้างต้น ไม่มีรายละเอียดกำหนดค่าเช่าใหม่ เงื่อนไขการเช่าใหม่ ทั้ง ๆ ที่กำหนดระยะเวลายาวนานล่วงเลยไปแล้วถึง 30 ปี จะให้ต่อระยะเวลาเช่าไปอีก 2 คราว คราวละ 30 ปี รวมเป็น 90 ปี ซึ่งปกติสภาพความเจริญของที่ดิน สภาวะเศรษฐกิจ ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่การทำคำมั่นของโจทก์จำเลยเท่ากับถือตามอัตราค่าเช่าเดิม เงื่อนไขการเช่าเดิม ทุกประการ แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่าโจทก์จำเลยต่างประสงค์หลีกเลี่ยง ป.พ.พ. มาตรา 540 ที่ห้ามเช่าเกิน 30 ปี ฉะนั้นสัญญาส่วนที่เป็นคำมั่นที่จะต่อสัญญาเช่าอีก 2 คราว ๆ ละ 30 ปี จึงตกเป็นโมฆะ เนื่องจากวัตถุประสงค์ขัดต่อกฎหมายชัดแจ้ง และกรณีไม่อาจจะให้ตีความเป็นสัญญาบุคคลสิทธิระหว่างโจทก์กับจำเลยเพื่อให้มีผลบังคับต่อไปตามที่จำเลยฎีกา เพราะมิฉะนั้นวัตถุประสงค์ของ ป.พ.พ. มาตรา 540 ดังกล่าวย่อมจะไร้ผลบังคับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3886/2566
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 213 วรรคสอง, 1605, 1722, 1750 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 61 วรรคแปด
แม้ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามมิได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 โดยแจ้งชัดเป็นสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ แต่โจทก์ทั้งสามก็กล่าวอ้างสภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องว่าที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายที่โจทก์ทั้งสามมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรม การที่โจทก์ทั้งสามนำสืบถึงข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 เกี่ยวเนื่องกับประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องในการที่โจทก์ทั้งสามขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายแบ่งแยกที่ดินพิพาททั้งสามแปลงให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละหนึ่งส่วนตามกฎหมาย จึงมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการขอให้บังคับแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตาย หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสามนำสืบแตกต่างกับฟ้องหรือนอกฟ้องนอกประเด็น
การที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นหนังสือและต่างได้ลงลายมือชื่อไว้ในหนังสือตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 กรณีต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่งและวรรคสอง โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองจึงต้องผูกพันต่อกันและได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในบันทึกที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองตกลงกันนั้น การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 37 ให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจและก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามตามสิทธิอันพึงมีพึงได้แก่โจทก์ทั้งสามตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตาย ดังนั้น โจทก์ทั้งสามย่อมมีสิทธิฟ้องร้องให้บังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามย่อมมีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย แต่การฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์แก่ผู้ใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ป.ที่ดิน มาตรา 61 วรรคแปด บัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขอย่างใดแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด" ดังนั้น โจทก์ทั้งสามจึงสามารถนำคำพิพากษาของศาลไปให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาได้ และการเพิกถอนดังกล่าวมิใช่หนี้ที่เป็นการทำนิติกรรมที่ศาลจะสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง
จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 62649 ให้แก่ตนเองแล้วจำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 แต่เพียงผู้เดียว จากนั้นวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองไว้แก่สหกรณ์การเกษตร ป. เป็นการกระทำภายหลังวันที่ 6 สิงหาคม 2560 ที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายกัน โดยที่บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 ในส่วนของที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 62649 นั้น เฉพาะแต่จำเลยทั้งสองเท่านั้นเป็นผู้มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินดังกล่าว จำเลยทั้งสองย่อมสามารถกระทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 62649 ได้ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกทำนิติกรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของผู้ตายที่ผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมนั้นหาได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 และมิใช่กรณีที่จำเลยที่ 2 ยักย้ายทรัพย์มรดกของผู้ตายส่วนที่ตนจะได้โดยรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทอื่นที่ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605 โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 62649 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 กลับสู่กองมรดกของผู้ตายและบังคับให้จำเลยที่ 2 ไถ่ถอนจำนองได้
ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 49023 บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ. 17 แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ให้แก่โจทก์ที่ 3 และที่ 2 และยังไม่มีการแบ่งปันให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายและจำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกถึงแก่ความตาย ดังนั้น สิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกย่อมสิ้นสุดลงเพราะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้จัดการมรดก แม้จำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ได้ในฐานะทายาทของจำเลยที่ 1 แต่ไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 2 ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนแบ่งปันที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 49023 แทนจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 2 ได้ เพราะกรณีเช่นนี้เป็นสิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 คงพิพากษาได้แต่เพียงแสดงกรรมสิทธิ์ว่าโจทก์ที่ 3 เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 49023 จำนวน 1 ใน 2 ส่วน เมื่อที่ดินพิพาทดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 2 ตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันมรดกของผู้ตาย โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีสิทธิแบ่งส่วนเอาจากที่ดินพิพาทดังกล่าวได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5208/2566
พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ม. 4 (1) ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91
เมื่อพิจารณาหนังสือรับสภาพหนี้ทั้งสามฉบับระบุรายละเอียดของเช็คพิพาทว่าจำเลยออกเพื่อชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้แต่ละฉบับ จำเลยมีเจตนาออกเช็คพิพาทแต่ละฉบับเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย จำเลยจึงกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ตาม ป.อ. มาตรา 91 รวม 3 กระทง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4568/2566
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 223 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ม. 42 พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ม. 4
เมื่อพิจารณาที่มาและข้อตกลงการใช้บัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิต คำนึงถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้ถือบัตรและผู้ประกอบธุรกิจบัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิต โดยพิจารณาความสุจริต ความรู้ ความเข้าใจ แนวทางที่เคยปฏิบัติและทางได้เสียของคู่สัญญาตามสภาพที่เป็นจริงแล้ว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ถูกบังคับหรือไม่ยินยอมในการทำข้อตกลงและเงื่อนไขการถือบัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิต ข้อตกลงและเงื่อนไขดังกล่าวมิได้กำหนดให้จำเลยซึ่งเป็นผู้กำหนด เงื่อนไขได้เปรียบโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเกินสมควร ประกอบกับโจทก์ยังมีโอกาสทักท้วงโต้แย้งรายการใช้บัตรที่ไม่ถูกต้องตามข้อตกลงดังกล่าว ข้อตกลงการใช้บริการบัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิตมิได้เป็นผลให้จำเลยซึ่งเป็นผู้กำหนดข้อตกลงได้เปรียบโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรที่เป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเกินสมควร ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จึงมีผลผูกพันโจทก์จำเลยได้
ร้านค้าที่รับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเดบิตไม่ได้ตรวจสอบลายมือชื่อที่ลงบนเซลล์สลิปเปรียบเทียบกับลายมือชื่อด้านหลังบัตร กรณีจึงต้องถือว่าร้านค้าที่รับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเดบิตที่พิพาทปฏิบัติผิดเงื่อนไขข้อตกลงการเป็นร้านค้าต่อธนาคารพาณิชย์เจ้าของเครื่อง EDC จำเลยซึ่งถือว่าเป็นตัวการของธนาคารพาณิชย์เจ้าของเครื่อง EDC จึงไม่อาจยกเอาข้อตกลงการใช้บริการบัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิตขึ้นอ้างเพื่อที่จะไม่คืนเงินที่หักไปจากบัญชีเงินฝากโจทก์ได้ โจทก์ไม่จำต้องไปเรียกร้องเงินคืนจากธนาคารพาณิชย์เจ้าของเครื่อง EDC หรือร้านค้าที่รับชำระค่าสินค้าหรือบริการที่พิพาท จำเลยจึงต้องคืนเงินที่หักไปจากบัญชีเงินฝากให้แก่โจทก์ แต่โจทก์เบิกความเพียงว่าโจทก์เก็บรักษาบัตรและรหัสประจำตัวในการเบิกถอนเงินสดแต่เพียงผู้เดียว แต่ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์เก็บรักษาบัตรเดบิตอย่างไร ที่บัตรเดบิตหายไปนั้นถูกลักไปได้อย่างไร ทั้งโจทก์เพิ่งมาทราบเรื่องหลังจากบัตรหายไปแล้วเป็นเวลามากกว่า 10 วัน โดยในช่วงเวลาดังกล่าวบัตรเดบิตถูกนำไปใช้ชำระค่าสินค้าและบริการเรื่อยมา ถือว่าโจทก์ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการเก็บรักษาตลอดจนตรวจตราบัตรเดบิตซึ่งเป็นเอกสารสำคัญตามที่พึงกระทำ ถือว่าโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่อ เป็นกรณีที่ความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของโจทก์เองด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่ง จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์เป็นจำนวนสามในสี่ของจำนวนเงินที่มีการใช้บัตรเดบิต
เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกร้องเพียงให้จำเลยคืนเงินที่หักไปจากบัญชีเงินฝากของโจทก์พร้อมดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่จำเลยหักเงินครั้งสุดท้าย ซึ่งเงินดังกล่าวมิใช่ค่าเสียหายตามความใน พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42 จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4557/2566
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 165 วรรคหนึ่ง, 166, 193/14 (1), 193/15, 193/30, 653 วรรคหนึ่ง, 1754 วรรคสาม
โจทก์ฟ้องโดยไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือมาแสดง แต่โจทก์มีหนังสือรับสภาพหนี้มีใจความว่าผู้ตายเป็นหนี้โจทก์ โดยนำโฉนดที่ดินมาให้ยึดถือไว้เป็นประกัน และจำเลยในฐานะทายาทของผู้ตายรับจะชดใช้เงินแก่โจทก์ กับมีลายมือชื่อของจำเลยในสัญญา และโจทก์มี ส. บุตรของโจทก์และในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์และเป็นพยานลงชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้มาเบิกความยืนยันว่า ผู้ตายซึ่งเป็นบิดาของจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จริงและมารดาพยานซึ่งเป็นพี่ของผู้ตายต้องการช่วยน้อง จึงให้นำโฉนดที่ดินมาวางเป็นประกัน มีการทำสัญญากู้ยืมเงินกันไว้ ต่อมาเมื่อจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ โจทก์ได้คืนสัญญากู้ยืมเงินให้จำเลย โจทก์และ ส. เป็นญาติของจำเลย เชื่อว่า ส. เบิกความไปตามความจริงที่ได้รู้เห็นมา อันเป็นการนำสืบถึงความเป็นมาของมูลหนี้เดิมและหลักทรัพย์ที่นำมาเป็นประกันประกอบกับโจทก์มีโฉนดที่ดินของผู้ตายอยู่ในครอบครอง จึงฟังได้ว่าผู้ตายกู้ยืมเงินโจทก์โดยมีการทำสัญญากู้ยืมเงินกันไว้จริง และมีการคืนให้จำเลยเมื่อมีการทำหนังสือรับสภาพหนี้
การที่ ง. โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยทราบว่าผู้ตายเป็นหนี้โจทก์ให้จำเลยไปลงชื่อรับชำระหนี้ มิฉะนั้นจะเอาตำรวจมาจับและต้องติดคุก แสดงว่า ง. ได้แจ้งข้อเท็จจริงในหนังสือให้จำเลยทราบแล้วก่อนที่จะมีการทำหนังสือดังกล่าวขึ้น ส่วนถ้อยคำที่ว่า "ให้จำเลยไปลงชื่อรับชำระหนี้มิเช่นนั้นจะเอาตำรวจมาจับจะต้องติดคุก" นั้น จากพฤติการณ์ที่ผู้ตายเสียชีวิตและยังไม่มีผู้ใดชำระหนี้ การที่ ง. พูดขู่จำเลยดังกล่าว และจำเลยยอมลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ยอมรับผิดจะใช้เงินที่กู้คืนแก่โจทก์ เป็นกรณีที่ ง. ทำไปโดยเชื่อว่าตนมีสิทธิทำได้ตามกฎหมาย ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยม หาใช่เป็นการหลอกลวงข่มขู่อันจะทำให้นิติกรรมเป็นโมฆียะไม่ หนังสือรับสภาพหนี้จึงมีผลใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 165 วรรคหนึ่ง และมาตรา 166
ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2556 จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้วันที่ 1 พฤษภาคม 2557 เมื่อการทำหนังสือรับสภาพหนี้ของจำเลยต่อโจทก์ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมทำให้อายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม สะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) โจทก์ไม่ต้องห้ามฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม และต้องเริ่มต้นนับอายุความใหม่ตามอายุความแห่งมูลหนี้เดิมนับแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นสิ้นสุดลง เมื่อกฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความของการกู้ยืมเงินไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ส่วนหนังสือรับสภาพหนี้ไม่มีอายุความในตัวเองเพียงแต่มีผลทำให้อายุความในมูลหนี้เดิมสะดุดหยุดลง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ได้ภายในกำหนด 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2557 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 และมาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ภายในกำหนด 10 ปี ดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
การทำหนังสือรับสภาพหนี้ของจำเลยมีข้อตกลงระบุให้โจทก์มีสิทธิยึดโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันอันเป็นข้อตกลงที่คู่สัญญาสมัครใจทำต่อกัน ซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์จึงมีสิทธิยึดโฉนดที่ดินอันเป็นทรัพย์ที่นำมาประกันไว้จนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ตามสัญญา จำเลยไม่มีสิทธิขอโฉนดที่ดินคืนจนกว่าจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนและไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5200/2566
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 145
ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ที่ดินที่แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3325 เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (3) เมื่อที่ดินพิพาทในคดีนี้ก็เป็นที่ดินที่แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3325 เช่นเดียวกัน จึงเป็นกรณีคำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินใด ๆ เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (2) จำเลยทั้งสี่กล่าวอ้างว่า มีสิทธิในที่ดินพิพาท จึงต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าอย่างไร การนำสืบของจำเลยทั้งสี่เป็นการนำสืบโดยใช้วิธีอธิบายพยานเอกสารให้มีความหมายต่างไปจากที่ปรากฎในพยานเอกสารหรือเป็นการให้ความเห็นเท่านั้น ถือว่าจำเลยทั้งสี่ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า จึงต้องฟังว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ
คำขอท้ายฟ้องที่ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าเสียหาย เดือนละ 44,304 บาท แก่โจทก์นับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดและขับไล่จำเลยทั้งสี่ออกจากที่ดินของโจทก์ จำนวนค่าเสียหายจึงเริ่มต้นนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคตย่อมไม่อาจคำนวณค่าเสียหายเป็นจำนวนทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ได้ ถือว่าทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาท ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5161/2566
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 (4), 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง, 215, 225 พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 ม. 13 (1), 15 (1)
เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่แล้วพิพากษายกคำพิพากษาเดิมและพิพากษาใหม่เป็นยกฟ้องตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 13 (1) แล้ว สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาใหม่ดังกล่าวต้องพิจารณาตามมาตรา 15 ซึ่งบัญญัติว่า "เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 13 แล้ว พนักงานอัยการผู้ร้องหรือโจทก์ในคดีเดิมซึ่งเป็นคู่ความมีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาได้ดังนี้ (1) ถ้าคำพิพากษานั้นเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษานั้นต่อศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในกรณีเช่นนี้ให้เป็นที่สุด…" ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าวแล้วคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุด จำเลยที่ 8 ไม่อาจฎีกาต่อไปได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 8 มาจึงเป็นการไม่ชอบ อย่างไรก็ดี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2651/2560 ของศาลแขวงพระนครเหนือ ที่บริษัท พ. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 8 คดีนี้ (คือจำเลยที่ 9 ในคดีดังกล่าว) กับพวก ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ส่วนคดีนี้พนักงานอัยการโจทก์กล่าวหาว่า จำเลยที่ 8 ร่วมกับพวก กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 8 กับพวก ร่วมกันกระทำความผิด 3 กรรม แม้การกล่าวข้อความหมิ่นประมาทจะกระทำขึ้นหลายคราวต่างวันต่างเวลาแต่การกระทำในแต่ละคราวมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกันคือ เพื่อให้บริษัท พ. หลงเชื่อและตกลงเข้าทำสัญญารับเหมาก่อสร้างกับส่งมอบเงินจำนวน 50 ล้านบาท ให้จำเลยที่ 8 กับพวก อันถือเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียว การกระทำของจำเลยที่ 8 กับพวก จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวมิใช่หลายกรรม เมื่อได้ความว่าคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2651/2560 ของศาลแขวงพระนครเหนือนั้น ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 8 ไปแล้วเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560 ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 จึงเป็นกรณีที่การกระทำของจำเลยที่ 8 ศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ถือเป็นเหตุตามกฎหมายที่จำเลยที่ 8 มิต้องรับโทษ และเป็นเหตุในลักษณะคดีซึ่งย่อมมีผลถึงผู้ร่วมกระทำความผิดทุกคน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จะเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 15 (1) ทำให้คดีต้องห้ามฎีกา แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง, 215 และ 225 ทั้งเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและให้สอดคล้องกับผลในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2105/2561 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2618/2561 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์แยกฟ้องจำเลยอื่นตามคำสั่งศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องเนื่องจากเป็นฟ้องช้ำซึ่งคดีถึงที่สุดไปแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5160/2566
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 443, 445, 1461 วรรคสอง, 1567 (3), 1649 พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ม. 5
จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในผลแห่งละเมิดของ พ. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของตนที่ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 ดังนั้น โจทก์ทั้งสามมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเป็นไปตาม ป.พ.พ. ลักษณะ 5 ละเมิด ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวในหมวด 2 ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดในกรณีทำให้ถึงตายนั้น ไม่ได้กำหนดให้เรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากการถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองตามที่โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้าง โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าสินไหมทดแทนได้
ส่วนค่าขาดไร้อุปการะ นั้น เมื่อผู้ตายถูกทำละเมิดถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 จึงย่อมมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ตายจะมีรายได้หรือได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ที่ 1 หรือไม่
ผู้มีสิทธิเรียกค่าปลงศพได้ คือ ผู้มีอำนาจจัดการศพตามที่บัญญัติไว้ในตาม ป.พ.พ. มาตรา 1649 โจทก์ที่ 1 เป็นมารดาผู้ตาย โจทก์ที่ 3 เป็นบุตรนอกกฎหมายของผู้ตาย แต่ผู้ตายได้รับรองแล้ว โดยให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้ใช้นามสกุล โจทก์ที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิเรียกร้องค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยทั้งสองจะมอบเงินช่วยเหลือค่าทำศพ แต่จำเลยทั้งสองระบุมาในคำให้การว่าเป็นการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมเท่านั้น จึงไม่ตัดสิทธิที่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 จะเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ ตามกฎหมายได้
สำหรับค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดแรงงาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 445 บัญญัติว่า "ในกรณีทำให้เขาถึงตาย… ถ้าผู้ต้องเสียหายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือน หรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกนั้นไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อที่เขาต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย" การจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดแรงงานของบุคคลภายนอกตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้จึงต้องเป็นกรณีที่ก่อนเกิดเหตุผู้ถูกทำละเมิดมีหน้าที่ไม่ว่าโดยสัญญาหรือโดยกฎหมายต้องทำการงานให้แก่บุคคลอื่น หากไม่มีหน้าที่หรือความผูกพันตามกฎหมายหรือตามสัญญาแล้วบุคคลภายนอกย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ ขณะผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้ตายบรรลุนิติภาวะแล้ว โจทก์ที่ 1 ในฐานะมารดาของผู้ตายจึงไม่มีสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1567 (3) ที่จะให้ผู้ตายซึ่งเป็นบุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป โจทก์ที่ 1 จึงไม่อาจเรียกร้องค่าขาดแรงงานได้ และเมื่อผู้ตายกับโจทก์ที่ 2 ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ผู้ตายกับโจทก์ที่ 2 จึงไม่ใช่สามีภริยาที่มีหน้าที่ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง ส่วนโจทก์ที่ 3 ไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายที่ผู้ตายมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูในระหว่างที่โจทก์ที่ 3 ยังเป็นผู้เยาว์ โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าขาดแรงงานในครอบครัวจากจำเลยทั้งสองได้