กฎหมายฎีกา ปี 2564

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1215

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1215/2564

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 1273/3 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 22 (3), 25, 27, 91

ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ บริษัท อ. เป็นบริษัทร้างซึ่งนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนตามความในมาตรา 1273/3 แห่ง ป.พ.พ. บริษัท อ. ย่อมสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนโดยผลแห่งกฎหมาย และเป็นกรณีที่ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 22 หมวด 6 ว่าด้วยการถอนทะเบียนบริษัทจำกัดร้าง มิใช่การเลิกบริษัทที่จะต้องมีการชำระบัญชีตามบทบัญญัติในหมวด 4 ส่วนที่ 8 ซึ่งจะต้องดำเนินการชำระบัญชีตามบทบัญญัติในหมวด 5 แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท อ. แต่เมื่อกรณีบริษัทร้างมิใช่การเลิกบริษัทที่จะต้องมีการชำระบัญชี จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท อ. โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีบริษัท อ. อย่างไรก็ตาม ตามคำฟ้อง นอกจากโจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะดังกล่าวแล้ว โจทก์ยังฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะส่วนตัวให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ในผลแห่งการทำละเมิดด้วยการครอบครองและนำที่ดินพิพาทของโจทก์พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกให้บุคคลภายนอกเช่าโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ด้วย ซึ่งหากข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะส่วนตัวต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ในผลแห่งการทำละเมิดดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม

โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันทำละเมิดด้วยการครอบครองที่ดินพิพาทและนำที่ดินพิพาทออกให้บุคคลภายนอกเช่าโดยไม่มีสิทธิและไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ จำเลยทั้งสามมิได้ปฏิเสธว่าไม่ได้ครอบครอง แต่อ้างว่าการครอบครองอาศัยสิทธิของบริษัท อ. ส่วนการนำที่ดินพิพาทออกให้เช่ากระทำในฐานะตัวแทนบริษัท อ. จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันครอบครองที่ดินพิพาท เมื่อศาลวินิจฉัยว่า บริษัท อ. ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยทั้งสามไม่อาจอ้างการครอบครองที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิบริษัท อ. อีกต่อไปได้ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งสามย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นส่วนตัว

ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 และที่ 2 เด็ดขาด เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 อำนาจในการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) และมาตรา 25 ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องขอให้บังคับขับไล่ รื้อถอนและเรียกค่าเสียหาย ซึ่งส่วนที่มีคำขอบังคับขับไล่และรื้อถอนเป็นหนี้กระทำการมิใช่คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ตกอยู่ในอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 22 (3) แต่ส่วนที่มีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ค่าเสียหายในส่วนที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 อันเป็นวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 และที่ 2 เด็ดขาด จึงเป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ในคดีล้มละลาย โจทก์จะต้องนำหนี้ค่าเสียหายส่วนนี้ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตามมาตรา 27 และมาตรา 91 และโจทก์จะได้รับชำระหนี้ค่าเสียหายส่วนนี้เพียงใดย่อมเป็นไปตามกระบวนการในคดีล้มละลาย เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่เข้าว่าคดีในส่วนนี้ การพิจารณาคดีส่วนนี้ไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป ต้องจำหน่ายคดีเฉพาะส่วนนี้ออกจากสารบบความ สำหรับค่าเสียหายนับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้น เป็นหนี้เงินที่เกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว จึงเป็นหนี้ที่โจทก์ไม่อาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดส่วนนี้ได้ แต่โจทก์จะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในหนี้ค่าเสียหายส่วนนี้ได้เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลุดพ้นจากการล้มละลายและต้องบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้มาภายหลังพ้นจากการล้มละลายเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4382

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4382/2564

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1336

แม้ก่อนหน้านี้โจทก์มีหนังสือให้พรรค ป. ส่งคืนเงินสนับสนุนตามโครงการและแผนงานประจำปี 2543 ที่เหลือจากการใช้จ่าย แต่มิได้รวมถึงเงินสนับสนุนประจำปี 2542 ที่โจทก์ฟ้องด้วย ทั้งมิได้ระบุจำนวนเงินที่ต้องคืนแต่อย่างใด และหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค ป. แล้วก็ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบเพื่อสรุปจำนวนเงิน จึงยังไม่มีหนี้เป็นจำนวนแน่นอนที่พรรค ป. ต้องชำระ แต่เมื่อคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและโจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 ในฐานะหัวหน้าพรรค ป. และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 และ นาย ค. ในฐานะกรรมการบริหารพรรค ป. คืนเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมืองประจำปี 2542 และ 2543 โดยกำหนดจำนวนเงินที่ต้องส่งคืนพร้อมดอกเบี้ยและกำหนดเวลาให้ชำระแล้ว จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 และ นาย ค. ไม่คืนภายในกำหนด จึงตกเป็นผู้ผิดนัด และต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยนับแต่วันพ้นกำหนดตามหนังสือบอกกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3787

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3787/2564

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 274 วรรคหนึ่ง

โจทก์ยื่นคำขอออกหมายบังคับคดีภายหลังจากที่ ป.วิ.พ. มาตรา 274 ที่แก้ไขเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่30) พ.ศ. 2560 ใช้บังคับ การบังคับคดีของโจทก์จึงตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 274 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่

ส. เป็นบุคคลภายนอกมิใช่คู่ความในคดีที่ถูกฟ้องแต่แรก แต่ ส. ยินยอมเข้ามาในคดีโดยตกลงยอมรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความอย่างลูกหนี้ร่วมและได้ลงลายมือชื่อผูกพันตนว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์ในสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมแล้วด้วย สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวจึงมีผลผูกพัน ส. ในฐานะเป็นบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้ต้องปฏิบัติตาม เมื่อ ส. ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์มีสิทธิขอให้บังคับคดี ส. ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 274 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3785

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3785/2564

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 56 พระราชบัญญัติคุมประพฤติ พ.ศ.2559 ม. 34

กรณีที่จำเลยไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายตามบันทึกข้อตกลงซึ่งศาลชั้นต้นกำหนดเป็นเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยไว้ เป็นกรณีที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติที่ศาลกำหนดตาม ป.อ. มาตรา 56 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเลิกการคุมความประพฤติและให้ลงโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้แก่จำเลย ดังนี้ จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษาแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ย่อมเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.คุมประพฤติ พ.ศ.2559 มาตรา 34 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3781

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3781/2564

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 163 วรรคสอง, 185 วรรคหนึ่ง, 215, 227 วรรคสอง

ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่าทำความตกลงกับผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ร้องคดีนี้ได้ และจำเลยทั้งสองยื่นคำให้การใหม่ขอแก้ไขคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธเป็นรับสารภาพตามฟ้องทุกข้อกล่าวหา ซึ่งไม่อาจกระทำได้เพราะการแก้ไขคำให้การต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง แต่การยื่นคำร้องและคำให้การใหม่ดังกล่าวถือเป็นการรับข้อเท็จจริงว่ากระทำความผิดโดยไม่โต้แย้งคำพิพากษาลงโทษของศาลชั้นต้น แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า พยานโจทก์ที่นำสืบมามีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง แม้จำเลยที่ 1 จะแถลงขอถอนคำให้การเดิมเป็นให้การรับสารภาพ แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิด ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 ดังนั้น โจทก์ย่อมสามารถฎีกาได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1990

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1989 - 1990/2564

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 1 (7), 264 วรรคหนึ่ง, 265

การส่งข้อมูลในรูปแบบทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตถือเป็นการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์หรือเครื่องอิเล็กทรอนิกส์อื่น ซึ่งเป็นวัตถุอื่นใดทำให้ปรากฏและสามารถอ่านและเข้าใจความหมายได้ อันเป็นหลักฐานแห่งความหมาย จึงเป็นเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 1 (7)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6248

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6248/2564

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 288 (เดิม), 323

ผู้ร้องยื่นคำร้องให้ปล่อยทรัพย์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2560 และประกาศขายทอดตลาดครั้งแรกในวันที่ 31 มกราคม 2561 โดยผู้ร้องยื่นคำร้องขอเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2561 ซึ่งตามมาตรา 288 (เดิม) ให้ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอก่อนการขายทอดตลาด แต่มาตรา 323 ที่แก้ไขใหม่ มีผลให้ใช้บังคับเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560 ให้ยื่นคำร้องขอภายใน 60 วัน นับแต่ที่มีการยึดทรัพย์สินนั้น แม้มาตรา 21 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2560 จะบัญญัติว่า "พระราชบัญญัตินี้ไม่มีผลกระทบถึงกระบวนพิจารณาของศาลและกระบวนวิธีการบังคับของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ได้กระทำไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ" ก็ตาม แต่ก็มิได้มีข้อความบัญญัติต่อไปว่า และให้ใช้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่เริ่มดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวจนถึงที่สุดแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2560 การยื่นคำร้องขัดทรัพย์นับแต่นั้นจึงต้องดำเนินการตามความในมาตรา 323 ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งมาตรา 323 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ยื่นคำร้องภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีการยึดทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าไม่สามารถยื่นคำร้องขอภายในระยะเวลาดังกล่าว บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นระยะเวลาเช่นว่านั้นได้ก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ และได้ยื่นคำร้องขอไม่ช้ากว่า 7 วัน ก่อนวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดไว้เพื่อการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้นเป็นครั้งแรก คดีนี้เมื่อมีการยึดที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างก่อนวันที่มาตรา 323 ที่แก้ไขใหม่ ใช้บังคับเช่นนี้ การที่จะให้ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ในระยะเวลา 60 วัน นับแต่วันที่กฎหมายใช้บังคับ ก็ไม่มีกฎหมายระบุให้เป็นเช่นนั้น กรณีถือว่ามีพฤติการณ์พิเศษแล้ว และการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ไม่ช้ากว่า 7 วัน ก่อนวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดไว้เพื่อการขายทอดตลาดครั้งแรกจึงเป็นการยื่นคำร้องขัดทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6187

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6187/2564

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/12, 193/34 (16), 602 วรรคหนึ่ง

ค่าจ้างว่าความซึ่งโจทก์ตั้งเป็นมูลฟ้องจำเลยทั้งสองนั้นจะมีผลบังคับต่อเมื่อจำเลยที่ 1 บังคับคดีลูกหนี้ในคดีของศาลจังหวัดธัญบุรีได้เงินมา โจทก์ในฐานะทนายความของจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวได้ติดตามยึดทรัพย์ของลูกหนี้และอยู่ระหว่างการขายทอดตลาดอันเป็นขั้นตอนหนึ่งของการบังคับคดีในกรณีที่เป็นหนี้เงิน ตราบใดที่โจทก์ในฐานะทนายความของจำเลยที่ 1 ยังบังคับคดีเอาแก่ลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ โจทก์ย่อมยังไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าจ้างว่าความได้ อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องจึงยังไม่เริ่มนับ เช่นนี้แม้จะได้ความว่าลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2557 ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 รับมอบงานที่โจทก์ทำและพึงใช้ค่าจ้างว่าความในวันดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 602 วรรคหนึ่ง เพราะไม่ใช่การกระทำของโจทก์ที่ส่งมอบงาน แต่เป็นเรื่องที่ลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 เอง การที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจากลูกหนี้ของตนโดยไม่ได้แจ้งแก่โจทก์ถึงผลงานดังกล่าว โจทก์ย่อมไม่อาจหยั่งรู้ได้ถึงจำนวนหนี้และกำหนดเวลาที่จำเลยที่ 1 พึงใช้ค่าการงานที่ทำให้ และเมื่อโจทก์รู้ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 ย่อมต้องถือว่าเป็นเวลาแรกที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องนั้นได้ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงเริ่มนับตั้งแต่เมื่อโจทก์รู้ถึงการที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจากลูกหนี้ของตนไปครบถ้วน เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 จึงไม่เกินกว่า 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (16) คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6139 - 6142/2564

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 150 พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ม. 43, 44

ข้อตกลงตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ซึ่งตกลงให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ต้องรับผิดชำระค่าสาธารณูปโภคในช่วงเวลาก่อนมีการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 44 (1) (2) หรือ (3) เป็นข้อตกลงที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 43 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้ซื้อที่ดินจัดสรร อันเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เฉพาะข้อตกลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 สำหรับความรับผิดค่าบริการสาธารณะ เป็นคนละส่วนกับความรับผิดค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภค จึงอาจมีการกำหนดให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรรับผิดชอบในค่าบริการสาธารณะที่เกิดขึ้นก่อนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรได้ แต่เนื่องจากมีข้อตกลงเพิ่มเติมสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ว่าโจทก์จะหักค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและค่าใช้บริการสาธารณะตามส่วนเฉลี่ยของที่ดินแต่ละแปลงนับจากวันที่สาธารณูปโภคในแต่ละเฟสเสร็จสมบูรณ์จนถึงวันที่จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรเสร็จเรียบร้อย เมื่อได้ความว่าโจทก์ไม่ดำเนินการจัดทำสาธารณูปโภคให้แล้วเสร็จสมบูรณ์และถูกต้องตามแผนผังโครงการและวิธีการจัดสรรที่ดินได้ตามกำหนดจนไม่สามารถจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรเพื่อรับโอนสาธารณูปโภคไปจัดการและดูแลรักษาต่อไปได้ โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 รับผิดค่าบริการสาธารณะได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6138

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6138/2564

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 148 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ม. 7

คดีก่อนผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์โดยอ้างเหตุว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์นำยึดเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง แต่ผู้ร้องให้จำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์แทนด้วยการทำสัญญาขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ชำระราคาเพื่อให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้ยืมเงินจากธนาคารแล้วนำเงินมาแบ่งปัน คดีถึงที่สุดโดยศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความตามคำร้องก็ตาม แต่ผู้ร้องจะร้องขอให้ปล่อยที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไม่ได้ ถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแล้วว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์นำยึด ดังนั้น การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์นำยึดไว้เป็นคดีนี้อีก แม้ผู้ร้องจะอ้างเหตุว่าผู้ร้องเป็นโจทก์ ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินพิพาท แต่ศาลชั้นต้นก็ฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ร้องในคดีนี้กล่าวอ้างว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์นำยึดเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง แต่ผู้ร้องให้จำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์แทนด้วยการทำสัญญาขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ชำระราคา เพื่อให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้ยืมเงินจากธนาคารแล้วนำเงินมาแบ่งกัน แล้วพิพากษาให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 คำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์คดีนี้จึงเป็นการอ้างเหตุอย่างเดียวกันว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์นำยึด แต่ผู้ร้องให้จำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์แทนด้วยการทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ชำระราคา เพื่อให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้ยืมเงินจากธนาคารแล้วนำเงินมาแบ่งกันนั่นเอง เหตุที่ผู้ร้องอ้างในคดีนี้จึงยังคงอาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อน การยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์คดีนี้ย่อมเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน คำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์คดีนี้จึงเป็นการฟ้องซ้ำกับคดีก่อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7

»