กฎหมายฎีกา ปี 2564
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6129/2564
พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 112 จัตวา พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ม. 22
จำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดในส่วนเงินเพิ่มตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น เมื่อคดีนี้จำเลยนำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 2801 - 00351 - 80702 ในเดือนมกราคม 2551 ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้าหรือจำเลยนำของออกไปจากอารักขาของศุลกากร ความรับผิดอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าฉบับดังกล่าว จึงเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ โดยตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว มาตรา 112 จัตวา บัญญัติว่า "เมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกนำเงินมาชำระค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้ส่งมอบหรือส่งของออก จนถึงวันที่นำเงินมาชำระ…" ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าเงินเพิ่มอากรขาเข้าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ดังนี้ เมื่อจำเลยชำระอากรขาเข้าไม่ครบถ้วน โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าได้โดยไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่มตามบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น แม้ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 จะได้มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ใช้บังคับ และให้ยกเลิก พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 โดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 22 บัญญัติว่า "…โดยเงินเพิ่มที่เรียกเก็บนี้ต้องไม่เกินอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม…" เป็นผลให้โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าเฉพาะส่วนที่เกินอากรขาเข้านับแต่วันที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับแล้วได้อีกต่อไปก็ตาม แต่ก็มิได้เป็นการลบล้างเงินเพิ่มที่เกิดขึ้นแล้วตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ดังนั้น โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มส่วนที่เกินอากรขาเข้าได้จนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ส่วนนับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 หากเงินเพิ่มยังไม่เท่าอากรขาเข้าตามการประเมิน โจทก์ที่ 1 คงมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าดังกล่าวต่อไปได้จนกว่าจำนวนเงินเพิ่มจะเท่าจำนวนอากรขาเข้าตามการประเมินดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 ดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6128/2564
พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ม. 8, 18
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 18 มิได้บัญญัติบังคับให้นําค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วเป็นค่ารายปีของปีต่อมาโดยตรง กฎหมายเพียงแต่ให้นํามาเป็นหลักในการคํานวณเท่านั้น เนื่องจากค่ารายปีย่อมอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงแล้วแต่พฤติการณ์และความเป็นจริง และสําหรับค่ารายปีนั้น มาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ให้ความหมายว่า คือ จํานวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ในกรณีทรัพย์สินนั้นให้เช่าให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ทําให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จํานวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ หรือเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดําเนินกิจการเองหรือด้วยเหตุประการอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจประเมินค่ารายปีได้ โดยคํานึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทําเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ จึงแสดงว่าค่ารายปีที่จะใช้ในการคํานวณภาษีนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจที่จะแก้ไขกําหนดใหม่ในแต่ละปีที่จะต้องชําระภาษีได้เมื่อมีเหตุอันสมควร
จําเลยประกาศกําหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรมาตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งเป็นเวลานานสิบกว่าปี ลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทําเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ย่อมเปลี่ยนแปลงไป ทั้งประกาศดังกล่าวไม่ได้มีการจําแนกประเภททรัพย์สินตามประเภทกิจการ โดยในส่วนของพื้นที่ต่อเนื่อง เช่น ถนนคอนกรีต กําหนดค่าเช่า 3 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ลาดยางแอสฟัลต์ กําหนดค่าเช่า 3 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน สนามหญ้า ลานดิน กําหนดค่าเช่า 1 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ซึ่งเป็นการกําหนดเป็นการทั่วไปไม่มีการจําแนกแยกประเภทดังเช่นบัญชีกําหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรประจําปีภาษี 2560 ที่แบ่งแยกตามประเภทของกิจการและลักษณะการใช้ประโยชน์ โดยบัญชีกําหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลาง ประจําปีภาษี 2560 ได้แยกประเภททรัพย์สินสําหรับกิจการลานตู้คอนเทนเนอร์และลานจอดรถขนส่งสินค้าออกมาโดยเฉพาะในรหัส 13 และในรายการที่ 13.9 คือ ลานใช้ประกอบการ ได้แก่ ลานคอนกรีต ค่าเช่า 8 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ลานแอสฟัลต์ ค่าเช่า 10 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ลานหินคลุก ค่าเช่า 25 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน และลานดิน ค่าเช่า 30 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ซึ่งกิจการลานตู้คอนเทนเนอร์และลานจอดรถขนส่งสินค้าย่อมใช้ลานดังกล่าวในการประกอบกิจการโดยตรง แตกต่างจากทรัพย์สินประเภทอื่นที่ลานคอนกรีต ลานแอสฟัลต์ หรือลานดินเป็นเพียงพื้นที่ต่อเนื่องหรือลานใช้ประโยชน์ ประกอบกับตามรายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการประเมินค่ารายปีเทศบาลนครแหลมฉบัง ครั้งที่ 1/2559 และรายงานการประชุมปรึกษาหารือผู้ประกอบกิจการลานใช้ประโยชน์ในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง ครั้งที่ /1 2559 ปรากฏว่า ปัจจุบันมีการประกอบกิจการลานตู้คอนเทนเนอร์จํานวนมากกว่าเดิม ผู้ประกอบการลานตู้คอนเทนเนอร์หรือลานจอดรถขนส่งสินค้าเช่าที่ดินทําลานตู้คอนเทนเนอร์อยู่ข้างบ้านเรือนประชาชนจํานวนมาก ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และยังได้ความจากคําเบิกความของ พ. ว่าการประกอบกิจการลานตู้คอนเทนเนอร์ต้องใช้รถบรรทุกในการขนส่งตู้สินค้าก่อให้เกิดปัญหาด้านสาธารณสุขต่อประชาชน เกิดเสียงดัง ฝุ่นละออง ปัญหาด้านการจราจรที่มีรถบรรทุกขนส่งตู้สินค้าบนผิวจราจรจํานวนมาก ทําให้พื้นผิวจราจรได้รับผลกระทบอย่างหนักจนชํารุด จําเลยต้องจัดสรรงบประมาณในการบํารุงรักษา ซ่อมแซมพื้นผิวการจราจร และจัดเจ้าหน้าที่ทําความสะอาดพื้นผิวจราจร เห็นได้ว่าเป็นกิจการที่ใช้ทรัพย์สินก่อให้เกิดมลภาวะแก่ชุมชน ซึ่งการกําหนดค่ารายปีนั้น จะต้องคํานึงที่บริการสาธารณะที่ทรัพย์สินได้รับประโยชน์ นอกจากนี้ในการกําหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางของลานตู้คอนเทนเนอร์ของจําเลยได้เทียบเคียงกับเทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ ซึ่งมีผู้ประกอบการลานตู้คอนเทนเนอร์จํานวนมากเช่นเดียวกับจําเลยมีการกําหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางของลานหินคลุกประจําปีภาษี 2560 ในอัตรา 30 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ทั้งที่เขตพื้นที่ของเทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ อยู่ห่างจากท่าเรือแหลมฉบังมากกว่าเขตพื้นที่ของจําเลยกลับมีราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางสูงกว่าเขตพื้นที่ของจําเลย พยานหลักฐานจําเลยที่นําสืบมาจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จําเลยกําหนดค่ารายปีและค่าภาษีในส่วนของลานแอสฟัลต์และลานหินคลุกโดยคํานึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทําเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 8 วรรคสามแล้ว
ส่วนที่จําเลยประกาศลดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางสําหรับลานตู้คอนเทนเนอร์และลานจอดรถขนส่งสินค้านั้น เป็นการลดชั่วคราวสําหรับปีภาษี 2561 ถึง 2563 ตามรายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการประเมินค่ารายปีเทศบาลนครแหลมฉบัง ครั้งที่ 1/2560 ก็เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ มิได้เป็นเพราะการกําหนดค่ารายปีของปีภาษี 2560 ไม่ชอบแต่อย่างใด การประเมินและคําชี้ขาดของจําเลยจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6234/2564
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 427, 432, 1167 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ม. 50, 54 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ม. 17, 45 พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ม. 24, 39 (4), 39 (6)
ตามบทบัญญัติมาตรา 50, 54 วรรคหนึ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 17, 45 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และมาตรา 4 นิยามศัพท์ "การศึกษาภาคบังคับ" "สถานศึกษา" "เด็ก" แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 เป็นบทบังคับให้ประชาชนผู้มีสัญชาติไทยมีหน้าที่เข้ารับการศึกษาภาคบังคับ และเป็นหน้าที่ของรัฐจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนผู้มีสัญชาติไทยตามที่กฎหมายบัญญัติ เริ่มตั้งแต่ก่อนวัยเรียน คือ ชั้นอนุบาล 1 ถึง 3 จนจบการศึกษาภาคบังคับ คือ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำเลยที่ 1 เปิดสอนการศึกษาภาคบังคับจึงเป็นสถานศึกษาตามนิยามศัพท์แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับฯ โดยไม่คำนึงว่าเป็นโรงเรียนเอกชนหรือรัฐ จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่จัดการศึกษาภาคบังคับให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แม้มาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ และมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับฯ ยังไม่ได้แก้ไขกำหนดอายุของเด็กก่อนวัยเรียนให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่จำนวนชั้นปีที่ต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมายทั้งสองฉบับสอดคล้องกับอายุเด็กซึ่งเริ่มตั้งแต่อายุย่างเข้าปีที่เจ็ดจนถึงอายุย่างเข้าปีที่สิบหก แสดงว่าการศึกษาภาคบังคับไม่ว่าเป็นการจัดการศึกษาโดยรัฐหรือเอกชนต้องทำอย่างต่อเนื่อง จะให้ออกกลางคันหรือจำหน่ายนักเรียนออกจากทะเบียนนักเรียนโดยไม่มีเหตุตามกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องไม่ได้ ซึ่งมูลเหตุที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ออกจากโรงเรียนของจำเลยที่ 1 ไม่ได้เกิดจากความผิดของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 โดยคณะกรรมการบริหารของโรงเรียนแสดงเจตนาให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 สิ้นสภาพการเป็นนักเรียนมีผลเป็นการจำหน่ายนักเรียนออกจากทะเบียนนักเรียนโดยปราศจากอำนาจตามตราสารจัดตั้งนิติบุคคลโรงเรียนจำเลยที่ 1 และเป็นการกระทำผิดต่อหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายกระทบสิทธิขั้นพื้นฐานของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ที่จะได้รับการศึกษาภาคบังคับอย่างต่อเนื่อง การกระทำของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจให้บริการทางการศึกษาจึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้บริโภค ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนจึงเป็นผู้แทนนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 24 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 1167 ประกอบมาตรา 427 จำเลยที่ 4 ผู้อำนวยการโรงเรียนมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดทำทะเบียนนักเรียนกับปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามตราสารจัดตั้งของโรงเรียนตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฯ มาตรา 39 (4) (6) แต่กลับทำผิดหน้าที่จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รับผิดในผลแห่งการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ประกอบมาตรา 432
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6233/2564
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 222 วรรคหนึ่ง, 223, 224, 659
จำเลยประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ และให้บริการอื่นที่เกี่ยวกับการเงิน รับฝากเงิน และให้บริการการใช้หรือโอนเงินทาง xxx application online ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์ จึงเป็นผู้รับฝากซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะ จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 659 วรรคสาม ปรากฏว่า ระหว่างเวลา 23.41 นาฬิกา ของวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 ถึงเวลา 2.01 นาฬิกา ของวันที่ 8 กรกฎาคม 2560 เงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ถูกโอนไปยังบัญชีเงินฝากของผู้อื่นจำนวน 3 บัญชี รวม 12 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,099,999 บาท การโอนเงินที่เป็นการโอนจำนวนย่อยหลายครั้งติดต่อกันในช่วงเวลาเดียวกันในเวลากลางคืน จากบัญชีเงินฝากของโจทก์ไปยังบัญชีเงินฝากของบุคคลอื่นโดยเป็นบัญชีเดียวกันหรือชื่อบัญชีเดียวกัน ย่อมเป็นพฤติกรรมในการทำธุรกรรมทางการเงินที่ผิดปกติ จำเลยซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะต้องทราบถึงวิธีการดังกล่าวและย่อมสังเกตได้ว่าเป็นเรื่องผิดปกติและอาจเป็นการกระทำของมิจฉาชีพผู้ประกอบอาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ จำเลยจึงควรมีมาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันการกระทำธุรกรรมทางการเงินโดยไม่ชอบดังกล่าวด้วย การที่จำเลยแจ้งเตือนให้แก่ลูกค้าผู้ใช้บริการต่าง ๆ ระมัดระวังอีเมลหลอกลวงจากมิจฉาชีพหรือที่เรียกว่า Phishing Email มาตลอด โดยมีข้อความแจ้งเตือนว่า "แจ้งเตือน กรุณาอย่าหลงเชื่ออีเมลปลอมจากมิจฉาชีพ xxx ไม่มีนโยบายในการส่งอีเมลใด ๆ เพื่อให้ลูกค้ากรอกข้อมูล ชื่อผู้ใช้งาน Password หรือข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ โดยเด็ดขาด" และ "แจ้งเตือนโปรดระวังอีเมลแอบอ้าง (Phishing Email) ว่าเป็นอีเมลจากธนาคารหลอกลวงให้คลิกเพื่อไปยังเว็บไซต์ปลอมเพื่อความปลอดภัยกรุณาพิมพ์ www.xxx.com" ตามเว็บไซต์ของจำเลยในการเข้าระบบ ลูกค้าต้องใช้ชื่อผู้ใช้ (Username) และรหัสผ่าน (Password) ที่ลูกค้าสมัครไว้กับธนาคารเข้าสู่ระบบและต้องใส่รหัสโอทีพี (OTP หรือ One Time Password) ที่ระบบธนาคารส่งให้ที่หมายเลขโทรศัพท์ของลูกค้าเพื่อยืนยันการทำธุรกรรมอีกขั้นตอนหนึ่งจึงจะสามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับบัญชีของตนได้ มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการป้องกันความเสียหายแก่การทำธุรกรรมทางการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อไม่ให้ลูกค้าที่ใช้บริการถูกมิจฉาชีพหลอกลวงเพื่อให้ส่งมอบชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านให้เพื่อนำไปใช้กระทำธุรกรรมทางการเงินโดยไม่ชอบซึ่งเป็นข้อควรระวังในด้านของลูกค้า แต่มาตรฐานของจำเลยในการป้องกันการโอนเงินที่เป็นการทำธุรกรรมทางการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ชอบดังกล่าวควรจะมีอยู่อย่างไร จำเลยควรจะป้องกันหรือระงับยับยั้งการโอนเงินที่มีความผิดปกติดังกล่าวเมื่อมีการโอนเงินผ่านไปแล้วกี่ครั้ง และเหตุใดพนักงานของจำเลยเพิ่งจะโทรศัพท์แจ้งเตือนไปยังโจทก์หลังจากที่มีการโอนเงินดังกล่าวครั้งที่ 12 และโอนเงินไปรวมเป็นเงิน 1,099,999 บาท แล้ว ซึ่งมาตรการในการป้องกันความเสียหายที่เหมาะสมหรือสมควรดังกล่าวอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยฝ่ายเดียว จำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ในส่วนนี้ แต่จำเลยกลับแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้มีมาตรการในการป้องกันหากเกิดการโอนเงินหรือการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ชอบในส่วนนี้เลยและไม่ปรากฏว่าจำเลยมีมาตรการในการป้องกันความเสียหายในส่วนนี้อย่างเพียงพอ แม้ในการโอนเงินจำเลยได้มีข้อความแจ้งเตือนไปยังโจทก์ทุกครั้งที่ทำการโอนเงินรวม 12 ครั้ง และพนักงานของจำเลยได้โทรศัพท์ไปหาโจทก์หลังจากที่มีการโอนเงินครั้งที่ 12 แล้ว มาตรการดังกล่าวถือว่าไม่เพียงพอต่อการป้องกันการโอนเงินหรือการทำรายการหรือธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ชอบ นอกจากนี้ได้ความว่าโจทก์มิใช่รายแรกที่ถูกหลอกลวงในลักษณะนี้และมีอีกหลายรายที่ถูกหลอกลวงในลักษณะนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยทราบถึงพฤติกรรมการหลอกลวงและวิธีการโอนเงินโดยไม่ชอบดังกล่าวเช่นเดียวกับคดีนี้มาก่อนทั้งเหตุเกิดซ้ำ ๆ กับลูกค้าจำนวนมาก จำเลยซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะและในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมระบบมีความสามารถในการตรวจสอบหรือทราบถึงความผิดปกติในการทำรายการต่าง ๆ ได้แต่เพียงฝ่ายเดียวยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังและหามาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายดังเช่นที่เกิดในคดีนี้อีก หาใช่ว่าหากมีการกรอกชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านที่สามารถยืนยันตัวตนได้แล้วบุคคลดังกล่าวจะสามารถดำเนินการธุรกรรมอย่างใดก็ได้โดยจำเลยไม่มีหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้มีการโอนเงินที่ไม่ถูกต้องแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการ ค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้นแล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์ได้รับอีเมลที่ไม่ได้มาจากจำเลยและมีข้อความเชื่อมโยงหรือลิงก์ไปยังเว็บไซต์ที่เลียนแบบเว็บไซต์ธนาคารจำเลย และโจทก์กรอกชื่อผู้ใช้ (username) และรหัสผ่าน (Password) ในเว็บไซต์ดังกล่าว ทำให้มีคนร้ายทราบถึงชื่อผู้ใช้ (username) และรหัสผ่าน (Password) ของโจทก์ และนำไปใช้สมัคร xxx App ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ และโจทก์ยังได้กรอกหมายเลขโอทีพี (OTP หรือ One Time password) ในเว็บไซต์ดังกล่าวเป็นเหตุให้คนร้ายสามารถสมัครใช้บริการ xxx App ได้สำเร็จและเกิดการโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ไปยังบัญชีอื่น โจทก์เป็นผู้ใช้บริการธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางอินเทอร์เน็ตก่อนเกิดเหตุเป็นเวลากว่า 10 ปี ทั้งตามใบแจ้งรายการบัญชีออมทรัพย์โจทก์ก็ได้ทำธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางอินเทอร์เน็ตหลายครั้ง โจทก์ย่อมมีความเข้าใจในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดังกล่าวและย่อมทราบถึงคำเตือนของจำเลยตามที่ปรากฏในเว็บไซต์ของจำเลย โจทก์จึงควรมีความระมัดระวังในการตรวจสอบก่อนทำธุรกรรมดังกล่าวมากกว่าที่ปรากฏในคดีนี้ จึงถือว่าโจทก์มีส่วนทำให้เกิดความเสียหายด้วย พฤติกรรมของโจทก์และจำเลยจึงถือว่ามีส่วนทำให้เกิดความเสียหายในคดีนี้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันและเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์เป็นเงิน 550,000 บาท เมื่อค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดเป็นหนี้เงินหากชำระล่าช้าย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งค่าเสียหายของหนี้เงินตามปกติย่อมคิดกันในรูปของดอกเบี้ย จึงเห็นควรกำหนดให้จำเลยรับผิดดอกเบี้ยดังกล่าวนับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นต้นไป ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคหนึ่ง โดยควรให้ในอัตราเดียวกับอัตราดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่อัตราร้อยละ 5 ต่อปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6232/2564
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 11
สัญญาค้ำประกันตอนแรกกำหนดวงเงินค้ำประกันแน่นอนเป็นเงิน 45,000,000 บาท แต่ตอนต่อมากลับระบุให้รวมดอกเบี้ยที่ค้างชำระโดยไม่จำกัดความรับผิด อันเป็นการขัดแย้งกันไม่แน่ชัดว่าเป็นการค้ำประกันโดยจำกัดความรับผิดหรือไม่ กรณีมีข้อสงสัย ต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 7 ในฐานะผู้บริโภคคู่กรณีฝ่ายที่จะต้องเสียในมูลหนี้นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 แปลความได้ว่าสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นสัญญาค้ำประกันจำกัดความรับผิดทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยค้างชำระเป็นเงินไม่เกิน 45,000,000 บาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6009/2564
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 42
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน ข้อ 4.7 ที่กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีหนังสือแจ้งเตือนผู้บริโภคที่ผิดนัดชำระหนี้ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 20 วัน ก่อนดำเนินการบังคับชำระหนี้ตามกฎหมายกำหนดขึ้นเพื่อบังคับให้โจทก์ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติตามก่อนที่จะบังคับชำระหนี้กับจำเลยอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค จำเลยระบุในใบสมัคร/สัญญาสินเชื่อหมุนเวียนให้ส่งหนังสือไปยังที่ทำงานตามที่ระบุไว้ในใบสมัคร ถือว่าเป็นภูมิลำเนาที่จำเลยเลือกไว้เป็นการเฉพาะการ แต่โจทก์ส่งหนังสือไปยังที่อยู่ตามสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่ใช้ประกอบการยื่นใบสมัครแม้มีผู้รับแทน แต่โจทก์มิได้มีหนังสือเตือนให้ชำระหนี้ไปยังภูมิลำเนาเฉพาะการของจำเลยหรือที่อยู่จำเลยขณะทำสัญญาสินเชื่อหมุนเวียนหรือที่อยู่ของจำเลยขณะโจทก์มีหนังสือดังกล่าวและขณะฟ้อง ถือไม่ได้ว่าจำเลยทราบการเตือนให้ชำระหนี้จากโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6008/2564
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 144, 148 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ม. 7
พิเคราะห์ตามคำฟ้องโจทก์ คำให้การจำเลย คำให้การจำเลยร่วม และคำร้องขอให้ชี้ขาดข้อกฎหมายแล้วข้อเท็จจริงได้ความว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเพื่อให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 47371 เพื่อชำระหนี้ที่บริษัท ท. ได้กู้ยืมเงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จำนวน 30,000,000 บาท และได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวเพื่อเป็นประกันหนี้ และโจทก์เป็นผู้ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เจ้าหนี้ ส่วนจำเลยเป็นผู้รับโอนที่ดินแปลงดังกล่าวมาจากบริษัท ท. แม้ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องได้ความว่า ก่อนฟ้องคดีนี้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ได้เคยฟ้องบังคับคดีตามสัญญาจำนองต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีหมายเลขดำที่ 338/2539 และคดีหมายเลขแดงที่ 861/2540 ระหว่าง บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์โจทก์กับบริษัท ท. ที่ 1 พ. ที่ 2 จำเลย ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองในคดีนั้นร่วมกันชำระเงินจำนวน 30,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี หากไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 47371 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน และโจทก์ได้เข้าเป็นคู่ความแทนที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์โจทก์ในคดีดังกล่าวแล้ว แต่คดีดังกล่าวเป็นการฟ้องบังคับให้ชำระหนี้กู้ยืมและบังคับจำนองเอาจากบริษัท ท. และ พ. จำเลยทั้งสองของคดีดังกล่าว โดยไม่ได้ฟ้องจำเลยในคดีนี้ให้เป็นจำเลยในคดีดังกล่าวด้วย แม้ต่อมาวันที่ 2 เมษายน 2551 ได้มีการจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยกับบริษัท ท. ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 311/2541 ของศาลชั้นต้นและที่ดินโฉนดเลขที่ 47371 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินได้โอนคืนกลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย แต่จำเลยไม่ใช่คู่ความในคดีดังกล่าว และไม่ใช่ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนที่บริษัท ท. ลูกหนี้ตามคำพิพากษา คำฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นการฟ้องบังคับเอาจากจำเลยในฐานะผู้ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ติดจำนองไปภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 338/2539 และคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 861/2540 ของศาลชั้นต้นดังกล่าวแล้ว คดีนี้จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยในฐานะผู้ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ติดจำนอง สิทธิและหน้าที่ของจำเลยเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยไม่เกี่ยวกับบริษัท ท. จำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าว ดังนั้น คดีนี้กับคดีหมายเลขดำที่ 338/2539 หมายเลขแดงที่ 861/2540 ของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงมีประเด็นแห่งคดีที่แตกต่างกัน คดีนี้จึงไม่เป็นการฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ 338/2539 หมายเลขแดงที่ 861/2540 ของศาลชั้นต้นดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และมาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7
ส่วนที่ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์จำนองดังกล่าวเพื่อบังคับคดีในคดีหมายเลขดำที่ ส.48/2549 ระหว่าง อ. โจทก์ กับบริษัท ภ. ที่ 1 บริษัท ท. ที่ 2 จำเลย โจทก์ในฐานะผู้รับจำนองได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต นอกจากนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้บังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองรายนี้ติดภาระจำนองไปด้วยในคดีหมายเลขดำที่ 1342/2549 หมายเลขแดงที่ 412/2540 (คดีหมายเลขแดงที่ ขบ.1/2550) โดยโจทก์ยื่นคำร้องเข้าไปในคดีนี้เพื่อใช้สิทธิหักส่วนได้ใช้แทนในการซื้อทรัพย์จำนอง ศาลอนุญาต ซึ่งเป็นการขอใช้สิทธิรับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้สามัญอื่น หากมีการขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองและขอใช้สิทธิหักส่วนได้ใช้แทนในวันขายทอดตลาดและหากโจทก์ในคดีดังกล่าวสละสิทธิในการบังคับคดีแทนหรือไม่ดำเนินการในการบังคับคดีภายในระยะเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด โจทก์ขอดำเนินการบังคับคดีแทนเท่านั้น แต่ปรากฏว่าต่อมามีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 47371 มาเป็นชื่อของจำเลย ต่อมาโจทก์ในคดีนี้ได้ขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนองในคดีของศาลชั้นต้นหมายเลขดำที่ จ.20/2558 หมายเลขแดงที่ จ.25/2559 ระหว่าง ต. โจทก์ พ. ที่ 1 ณ. ที่ 2 บริษัท ภ. ที่ 3 จำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ในฐานะผู้ร้องในคดีดังกล่าวนี้ได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น และต่อมามีการถอนการบังคับคดีและจำเลยในฐานะผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 47371 ยังไม่ได้ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนอง ยังคงมีภาระหนี้คงค้างต้น 30,000,000 บาท และดอกเบี้ยค้างชำระทั้งสิ้น 119,732,739.34 บาท รวมเป็นเงินต้นและดอกเบี้ย 149,732,739.34 บาท ดังนั้นในคดีดังกล่าวจึงไม่มีการบังคับคดีอีกต่อไป และคำฟ้องในคดีนี้โจทก์ฟ้องให้บังคับจำนองจากจำเลยในฐานะผู้รับโอนไปซึ่งทรัพย์จำนองในส่วนที่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ คดีนี้จึงไม่เป็นการฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ ส.48/2549 ของศาลชั้นต้น และคดีหมายเลขดำที่ จ.20/2558 หมายเลขแดงที่ จ.25/2559 ของศาลชั้นต้นดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และมาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 ด้วยเช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5999/2564
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/30, 193/34 (1)
โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตาม พ.ร.บ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มีการดำเนินการด้านวิจัยสาขาต่าง ๆ ซึ่งมุ่งเน้นในการให้การศึกษาส่งเสริมวิชาการ การวิจัยมิใช่เป็นการประกอบการค้าซึ่งมุ่งแสวงหากำไรเป็นปกติธุระ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้า ทั้งโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา มิใช่ฟ้องเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น หรือเงินที่ได้ออกทดรองไป จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ที่กำหนดอายุความ 2 ปี และกรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5997/2564
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 531 (2)
โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องว่า จำเลยหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงและบอกปัดไม่ให้ความช่วยเหลือโจทก์ในขณะที่จำเลยสามารถที่จะให้ความช่วยเหลือได้ โดยจำเลยกล่าวว่า "แล้วแต่พวกมึงจะไปอยู่ที่ไหนอีแก่มึงเป็นคนไม่ยุติธรรม" และอีกข้อความหนึ่งว่า "แล้วแต่พวกมึงจะพากันไปตายที่ไหน กูไม่สนใจ มึงตายกูก็จะไม่ไปเผามึง" แต่ตามทางนำสืบของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยด่าโจทก์ว่า อีแก่ หรือมึงตายกูก็ไม่ไปเผามึง แม้ ส. จะเบิกความว่า จำเลยด่าโจทก์ว่าไม่มีความยุติธรรมซึ่งตรงตามที่โจทก์ระบุในคำฟ้อง แต่ก็เป็นเพียงการกล่าวด้วยความน้อยใจว่าโจทก์รักบุตรแต่ละคนไม่เท่ากัน หาใช่เจตนาทำให้โจทก์ต้องเสียชื่อเสียงหรือเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6176/2564
พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ม. 12 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ม. 12
โจทก์ทั้งหกสิบบรรยายฟ้องว่า โจทก์ทั้งหกสิบเป็นสมาชิกสโมสรกอล์ฟของจําเลย จําเลยดูแลรักษาและบริหารสนามกอล์ฟตลอดจนบริการอื่น ๆ ไม่ดี แต่จําเลยเพิ่มค่าบํารุงสนามรายปีโดยพลการ ทำให้โจทก์ทั้งหกสิบขายสิทธิการเป็นสมาชิกต่อได้ยากและราคาไม่ดี นอกจากนี้ยังตัดสิทธิสมาชิกตลอดชีพ คงเหลือ 30 ปี กับเพิ่มค่าโอนสิทธิให้ทายาทซึ่งเดิมไม่มีและเรียกเก็บค่ารักษาสิทธิปีละ 2,400 บาท มีกำหนด 3 ปีจากสมาชิกที่ขอระงับสิทธิชั่วคราวซึ่งเดิมไม่ได้เรียกเก็บและบังคับหากสมาชิกใดไม่จ่ายค่าบํารุงรายปีตามราคาที่จําเลยต้องการ จําเลยจะไม่ออกตั๋วให้สมาชิกใช้สนามกอล์ฟและเล่นกอล์ฟ เป็นการกล่าวอ้างว่าจําเลยในฐานผู้ให้บริการขึ้นค่าบํารุงรายปี เพิ่มค่าโอนสิทธิ หรือออกกฎระเบียบต่าง ๆ ที่กระทบสิทธิของโจทก์ทั้งหกสิบโดยไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ทั้งหกสิบเดือดร้อนจําต้องยอมจ่ายคําบํารุงโดยไม่สมัครใจ อันเป็นการกล่าวอ้างว่าการกระทำของจําเลยเป็นการกระทำผิดสัญญา นับว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งหกสิบแล้ว โจทก์ทั้งหกสิบจึงมีอำนาจฟ้อง
การที่โจทก์ทั้งหกสิบยอมรับว่าจําเลยสามารถเปลี่ยนแปลงค่าบำรุงรักษาสนามรายปี ค่าธรรมเนียมการโอนสมาชิก หรือกำหนดข้อบังคับได้ตามความเหมาะสมเพียงแต่โจทก์ทั้งหกสิบอ้างว่า จําเลยเรียกเก็บในอัตราที่ไม่เหมาะสมและเป็นการเอาเปรียบโจทก์ทั้งหกสิบซึ่งเป็นผู้บริโภคอันไม่เป็นธรรม และจําเลยไม่บำรุงรักษาสนามกอล์ฟให้มีความเหมาะสมดังที่โฆษณาไว้เท่านั้น โจทก์ทั้งหกสิบได้สิทธิการเป็นสมาชิกจากจําเลยก่อนมี พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 ใช้บังคับ ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 12 บัญญัติว่าไม่ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้บังคับแก่นิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ จึงไม่อาจนําพระราชบัญญัติดังกล่าวมาปรับใช้กับข้อกําหนดตามสัญญาระหว่างโจทก์ทั้งหกสิบกับจําเลยได้
เมื่อพิจารณาจากค่าบํารุงสนามรายปี ค่าโอนสมาชิก ค่ารักษาสิทธิของสมาชิกของสนามกอล์ฟของจําเลย เปรียบเทียบกับสนามกอล์ฟอื่นที่อยู่ในย่านเดียวกันและมีมาตรฐานสนามระดับเดียวกัน เห็นได้ว่ามีอัตราที่ใกล้เคียงกันโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าบำรุงรักษาสนามรายปีของจําเลยมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสุดท้ายปี 2549 ค่าโอนสิทธิสมาชิกเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 2546 และค่ารักษาสิทธิเปลี่ยนแปลงครั้งสุดท้ายในปี 2553 และโจทก์ทั้งหกสิบชําระเงินในอัตราที่จําเลยเรียกเก็บตลอดมา อันแสดงว่าจําเลยได้เปลี่ยนแปลงอัตราเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ สอดคล้องกับการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมของสนามอื่นในระดับมาตรฐานสนามเดียวกัน การที่จําเลยเปลี่ยนแปลงอัตราค่าธรรมเนียมเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จึงเป็นการกระทำโดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 12 แล้ว